สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุขภาพ และความเป็นอยู่ของพนักงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ M.D.ทาวเวอร์สวัทสัน (ประเทศไทย)

เวลาเราพูดถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Health and Wellness" คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเป็นเรื่องของพนักงานแต่ละคน

จะเกี่ยวกับองค์กรอย่างไร ?

เพราะพนักงานต้องดูแลความเป็นอยู่และสุขภาพของตัวเองซิ จะมาเกี่ยวกับบริษัทได้อย่างไร ?

ถ้าป่วยก็ไปหาหมอลล่ะกัน แล้วมาเบิกค่ารักษาพยาบาลเอาเอง

ทราบไหมค่ะว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนแฝงด้านสุขภาพ (ไม่ดี) ของพนักงานนั้นมากกว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่บริษัทจ่ายเป็นปกติให้พนักงานอยู่ 20% เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วดูภาพด้านล่างนะคะ

จากภาพจะเห็นว่าประมาณ 40% ของต้นทุนด้านสุขภาพมาจากสิ่งที่เรามองเห็น เช่น การขาดงาน ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น



แต่อีก 60% มาจากต้นทุนแฝงที่เกิดจากการที่พนักงานมานั่งทำงานทุกวันที่บริษัทนี่แหละค่ะ แต่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น พนักงานมีความเครียดมากจนทำงานไม่ได้ดี มีความสูญเสียสูง การถูกรบกวนจิตใจในการทำงานจนทำงานไม่ได้ เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้สุขภาพเสื่อมมาจาก "Lifes Style" หรือการดำรงชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละค่ะ ซึ่งเรื่องหลัก ๆ ในการดำรงชีวิตที่ทำให้สุขภาพเสื่อมก็เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า, การกิน, ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น



ลองมาดูการดำรงชีวิตของคนไทยกับปัจจัยความเสี่ยงข้างต้น เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในเอเชีย-แปซิฟิก จะเห็นว่าในเรื่องการดื่มชาวไทยติดอันดับ 5 จาก 13 ประเทศในภูมิภาค

ส่วนเรื่องการสูบบุหรี่ ชาวไทยเกาะกลุ่มมากับชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค คือมีประชากรถึง 24% ที่สูบบุหรี่ เรื่องความอ้วนชาวไทยมาเป็นอันดับ 4-5 ค่ะ ตามหลังจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเรื่องการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หรือการไม่ออกกำลังกาย ชาวไทยติดที่ 3 จากสุดท้าย (ซึ่งหมายความว่าดีนะคะ)

สรุปแล้วคนไทยมีความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดในเรื่องของการดื่ม การสูบบุหรี่ และความอ้วน !



จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่องค์กรควรพิจารณา คือ

หนึ่ง ให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรค ด้วยการมีโปรแกรมดูแลสุขภาพพนักงาน ดีกว่าการที่เราจะปล่อยให้พนักงานเป็นโรคแล้วไปรักษาด้วยการจ่ายค่าประกันสุขภาพ หรือค่ารักษาพยาบาลแพง ๆ

สอง ควรมีการประเมินความเสี่ยงของสุขภาพ และการดำรงชีวิตของพนักงาน (ไม่ใช่หมายความเฉพาะ Annual Health Check นะคะ หมายรวมถึงการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น การนอนไม่หลับ การออกกำลัง เป็นต้น) เป็นประจำเพื่อสร้างโปรแกรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม

นึกถึงเครื่องบินยังต้องมีการเช็กก่อน

บินทุกครั้ง แต่พนักงานของเราทำงานทุกวันไม่เคยเช็กความเสี่ยงเลยเหรอค่ะ ?

สาม การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นปัจจัยช่วยในการสร้างความผูกพันของพนักงาน เนื่องจากพนักงานเห็นว่าองค์กรดูแลและให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความเป็นอยู่ของพนักงาน

หวังว่าเรื่องการดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Health and Wellbeing) ข้างต้น จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหาร หรือ HR ของแต่ละบริษัท เพื่อนำไปดำเนินการต่อนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สุขภาพ ความเป็นอยู่ของพนักงาน

view