สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Deflationary Force ระลอกล่าสุด

Deflationary Force ระลอกล่าสุด
โดย : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงที่ผ่านมามีตัวเลขทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างที่จะน่าสนใจ นั่นก็คือ ตัวเลขของการเกินดุลการค้า (Trade Surplus)

ของประเทศมหามิตรของเราในปัจจุบัน นั่นคือประเทศจีน ที่ประกาศออกมาสำหรับเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีตัวเลขการเกินดุลการค้าที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.98 ล้านล้านบาท

หากวิเคราะห์กันเป็นรายประเทศตามตำราเศรษฐศาสตร์ทั่วไป การที่ประเทศใดมีตัวเลขการเกินดุลมาก ๆ ก็น่าจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากตัวเลขการเกินดุลนี้เป็นตัวเลขที่ใช้คำนวณใน GDPของประเทศนั้น ๆ โดยตรง

แต่ที่มีปัญหาในคราวนี้ ก็คือ ประเทศจีนไม่ใช่ประเทศธรรมดาๆ แล้วซิครับ แต่เป็นประเทศผู้บริโภครายสำคัญของโลก ที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (ที่ 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับ GPD 2013 รายงานโดยธนาคารโลก) รองจากสหรัฐอเมริกาที่มี GDP 2013 ที่ประมาณ 16.8 ล้านดอลลาร์

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือว่า ตัวเลขการเกินดุลการค้าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของจีนในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักก็มาจาก การปรับตัวลดลงของมูลค่าการนำเข้าที่ปรับตัวลดลงถึงเกือบ -20% (-19.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งค่อนข้าง Surprise เพราะนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าน่าจะปรับตัวลดลงเพียงประมาณ -3%เท่านั้น(-3.2% สำหรับ Bloomberg Survey และ -3% สำหรับ Reuter Poll)

การปรับตัวลดลงมากขนาดนี้ของการนำเข้าน่าจะแสดงให้เห็นถึงการบริโภคของคนจีนที่ปกติแล้วเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและของโลกเริ่มน่าจะเริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว

ทั้งนี้สาเหตุบางส่วนอาจจะเป็นเพราะการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก หรือ ถ่านหิน ปรากฏว่าทั้ง ๆ ที่สินค้าดังกล่าวมีราคาที่ปรับตัวลดลงปริมาณการนำเข้าของสินค้าดังกล่าวกลับลดลงสวนทางกับราคาที่ถูกลง (ซึ่งน่าจะทำมีปริมาณนำเข้าที่มากขึ้น) โดยในช่วงเดือนมกราคม 2558 นี้ จีนมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลง 41.8% แร่เหล็กลดลง 50.3% หรือ ถ่านหินลดลง 61.8%(Bloomberg)

ในขณะที่ส่งออกก็ปรับตัวลดลงเช่นกันแต่ไม่แรงเท่า นั่นคือปรับตัวลดลงไป -3.3% ในขณะที่นักเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าน่าจะปรับตัวขึ้นประมาณ +6.3% (Reuter Poll) โดยที่ปรับตัวลดลงไปนั้นได้แก่การส่งออกไปประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปลดลง -4.4% ส่งออกไปฮ่องกงลดลง -10.9% ส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง -20.4% ขณะที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวก่อนใครเพื่อน) เพิ่มขึ้น +4.8%

การที่ตัวเลขการค้าของจีนออกมาแบบนี้ ก็มีการคาดการณ์กันว่า จีนเองน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างออกมา ซึ่งก็คงยังไม่ใช่มาตรการQE เหมือนอย่างของธนาคารกลางยุโรป หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น แต่คงเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนได้ปรับดอกเบี้ยอ้างอิงนโยบายลงเหลือ 5.6% ในช่วงปลายปีที่แล้ว
ร้อนไปถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดที่รีบออกมาทวงสัญญาจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าแบงก์ชาติของประเทศกลุ่ม G20 ที่ประเทศตุรกีว่าจะไม่แข่งกันทำให้ค่าเงินของประเทศตนอ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นการส่งออก หรือ สัญญาว่าจะไม่ทำ สงครามค่าเงิน หรือ Currency War กันนั้นเอง (U.S. warns G20 against using exchange rates to boost exports, Reuter วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558)

ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า การทำนโยบาย QE ที่ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีข้ออ้างกันว่าไม่ได้มีนโยบายในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งค่าเงินยูโร หรือค่าเงินเยน อ่อนค่า (หรือจะทำให้เกิดประเด็นเรื่องของสงครามค่าเงินหรือ Currency Wars แต่อย่างใด) แต่อ้างว่าQE เป็นเพียงนโยบายการเงินที่ ในการกำหนดนโยบายทางการเงินที่แบงก์ชาติทั่วไปพึงกระทำเท่านั้น
ในความเป็นจริง การทำ QE ของทั้งที่ยุโรปและญี่ปุ่น ล้วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลยูโร และเยน ต่างอ่อนค่าลงไปอย่างมีนัยสำคัญแล้วทั้งคู่ แสดงให้เห็นถึง Currency War ที่เกิดขึ้นอย่างอ้อมๆ และไม่เป็นทางการ ทั้งนี้เป็นผลที่มาจากนโยบายทางเงินที่ไว้ใช้ต่อสู้กับ Deflation ทั้งในญี่ปุ่นและยุโรปนั่นเอง

และล่าสุด จากผลของ QE ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากพันธบัตรรัฐบาล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 พันธบัตรอายุ 10 ปี ของประเทศไล่ไปตั้งแต่ สวิสเซอร์แลนด์ที่อยู่ที่อัตรา -0.04% (ลบ 0.04% แปลว่าซื้อพันธบัตรแล้วถือไว้ 10 ปียังต้องแถมเงินให้รัฐบาลสวิสอีก) เยอรมันอยู่ที่อัตรา 0.37% ญี่ปุ่นอยู่ที่อัตรา 0.38% ฮอลแลนด์อยู่ที่อัตรา 0.46% ฝรั่งเศสอยู่ที่อัตรา 0.7% สเปนอยู่ที่อัตรา 1.60% สหราชอาณาจักร อยู่ที่อัตรา 1.66% หรือ อิตาลีอยู่ที่อัตรา 1.67% ซึ่งล้วนแต่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของ US 10 Year Bond Yield ที่ ณ ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 2.0%

จากสถานการณ์การดังกล่าว ดูเหมือนว่าทางเลือกที่ make sense ที่สุดสำหรับนักลงทุนผู้สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรีและยังคงต้องการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ก็คือ การนำเงินเข้าลงทุนตราสารหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ของ (ที่ทำและเลิก QE ไปแล้วก่อนใครเพื่อน) ซึ่งเป็นประเทศที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเทียบกับสกุลหลัก (อย่างยูโรและเยน ) แถมยังได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดอีกคือประมาณ 2% (เมื่อเทียบกับประเทศที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นที่ล้วนมี Yield ของพันธบัตรที่ต่ำกว่า 2% ทั้งสิ้น)

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความเชื่อว่า ธนาคารกลางของสหรัฐ (หรือ FED) คงคิดหนักมาก ๆ ครับที่จะทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ วันนี้ (อย่างที่นักวิเคราะห์หลาย ๆ คนได้ให้ความเห็นไว้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณารวมเอาข้อมูลตัวเลขการค้าของจีนล่าสุดที่ทำ Surprise ต่ำกว่าเป้าไปมาก รวมถึงเรื่องการตกต่ำของราคาน้ำมันเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือว่าเป็น Deflationary Force ระลอกล่าสุด มาร่วมวิเคราะห์ด้วยแล้วนั้น ผมมีความเชื่อว่าสหรัฐ หรือ FED คงยังไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในปีนี้ จะทำอย่างมากก็คงอาจจะให้คำพูดในแถลงการณ์ที่ดูเป็นสายเหยี่ยวมากขึ้นเท่านั้น

เนื่องจากหากสหรัฐมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร ค่าเงินสหรัฐฯ ย่อมแข็งค่าขึ้นอีก และมีแนวโน้มจะทำให้เกิดผลกระทบไปต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นวงกว้าง ซึ่งก็เชื่อว่าผู้บริหาร FED คงไม่อยากเห็นภาพอย่างนั้นอีก เหมือนอย่างครั้งที่เกิด Asian Economic Crisis เมื่อ 18 ปีที่แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Deflationary Force ระลอกล่าสุด

view