สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเลิกจ้างลูกจ้างที่แชตในเวลางาน

จากประชาชาติธุรกิจ

ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์

Panthip.p@chula.ac.th
ที่มา มติชนออนไลน์

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาคำพิพากษาเกี่ยวกับสิทธินายจ้างเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานที่แชตในเวลางาน(คำพิพากษาฎีกา ที่ 2564/2557) ตีแผ่บนหน้าหนังสือพิมพ์และเวบไซต์ต่าง ๆ และได้มีนักกฎหมายและ นักวิชาการหลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้กันจำนวนมาก โดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งสร้างข้อสรุปจากคำพิพากษาฎีกานี้อย่างไม่ถูกต้องนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคุ้มครองลูกจ้างทดลองงาน และเรื่องของกลไกการเยียวยาความเสียหายให้กับลูกจ้างในกรณีถูกเลิกจ้าง  เนื่องจากข่าวนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมและถูกแชร์อย่างแพร่ หลายในโลกโซเชียลมีเดีย ข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนอาจจะทำให้ลูกจ้างไม่รับรู้ถึงสิทธิที่แท้จริงของตน อีกทั้งยังอาจทำให้นายจ้างเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิของตน ในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายแรงงาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงอยากจะขออธิบายหลักการเลิกจ้าง การจ่ายค่าชดเชย และการจ่ายค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างลูกจ้างที่แชตเรื่องส่วนตัวระหว่างเวลางาน

ประเด็นแรก มีผู้เข้าใจผิดว่านายจ้างในคดีนี้เลิกจ้างลูกจ้างได้เพราะลูกจ้างทำผิดโดย การแชตในเวลางาน มีผู้สร้างข้อสรุปไปว่านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้เมื่อครบกำหนดสัญญาหรือ เมื่อลูกจ้างกระทำผิดเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วการเลิกจ้าง เป็นอิสระของนายจ้างที่จะกระทำเมื่อใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดกลไกการเยียวยาความเสียหายให้กับลูกจ้างในกรณีถูกเลิกจ้างเอา ไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. ค่าชดเชย 2. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและ 3. ค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้น หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้างไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม และไม่ว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่ นายจ้างก็สามารถกระทำได้เสมอ ตราบใดที่ได้เยียวยาความเสียหายให้กับลูกจ้างครบตามที่กฎหมายกำหนด

จากคำพิพากษานี้ ศาลได้ออกมาตัดสินว่าการเล่นอินเตอร์เน็ตพูดคุยเรื่องส่วนตัวในเวลางาน นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย ในกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่านั้น โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าการปฏิบัติดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำประการอื่นอัน ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต แต่อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ออกมาตัดสินว่าการแชตเวลางานจะทำให้ไม่ได้รับค่าชดเชย

ประเด็นที่สอง มีผู้เข้าใจผิดว่า คดีนี้ศาลตัดสินให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องชดใช้ค่าชดเชยเพราะ ลูกจ้างทดลองงานอยู่ โดยเข้าใจผิดว่ากฎหมายแรงงานที่คุ้มครองลูกจ้างในปัจจุบันนั้นให้กฎหมายแรง งานคุ้มครองลูกจ้างทดลองงานในเรื่องการเลิกจ้างต่ำกว่าลูกจ้างที่ผ่านการ ทดลองงานแล้ว ดังนั้นจึงสร้างข้อสรุปที่ผิดว่านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่กำลังอยู่ใน ช่วงทดลองงานเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลย ซึ่งความเข้าใจผิดนี้อาจจะทำให้ลูกจ้างทดลองงานไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานในปัจจุบันให้ความคุ้มครองลูกจ้างทุกคนที่ทำงานมาครบ 120 วันแล้วอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องค่าชดเชย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานแล้วหรือลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างการ ทดลองงาน กฎหมายได้กำหนดเรื่องการจ่ายค่าชดเชยไว้ในมาตรา 118 เพียงว่า ให้ลูกจ้างทุกประเภทที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 120 วัน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง กฎหมายมิได้แบ่งแยกลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานแล้วกับลูกจ้างที่อยู่ใน ระหว่างการทดลองงาน ดังนั้น ไม่ว่าลูกจ้างคนนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม หากลูกจ้างทำงานมาครบ 120 วันแล้ว แม้จะยังเป็นลูกจ้างทดลองงานอยู่ เมื่อถูกเลิกจ้างก็ต้องได้รับค่าชดเชย ในทางกลับกัน หากลูกจ้างคนนั้นยังทำงานมาไม่ครบ 120 วัน ลูกจ้างคนนั้นก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างเลยแม้ว่าจะผ่านการทดลอง งานแล้วก็ตาม ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้สร้างความสับสนในเรื่องนี้ให้กับคนจำนวนมาก เนื่องจากบางสำนักได้ใช้การพาดหัวข่าวในทำนองว่า หากแชตในเวลางาน นายจ้างไล่ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พบว่าหลายคนหลงประเด็นไปว่าศาลได้ออกมาสร้างบรรทัดฐานให้การเล่นอินเตอร์ เน็ตพูดคุยเรื่องส่วนตัวในเวลางานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัทกรณีร้ายแรง อันเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4))  การตีความเช่นนั้นน่าจะไม่ถูกต้องนัก เพราะในคดีนี้ศาลไม่ได้วินิจฉัยไปถึงเรื่องของความร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงของ พฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากลูกจ้างในคดีนี้ทำงานมาไม่ครบ 120 วัน จึงไม่ต้องพิจารณาในเรื่องของค่าชดเชย  ดังนั้น การไล่ลูกจ้างออกเพราะแชตในเวลางาน จะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ คงไม่ใช่ข้อสรุปที่ได้จากฎีกานี้

แน่นอนว่าปัญหาการแชตในเวลางานเป็นปัญหาที่อาจทำให้นายจ้างหลายคน กำลังปวดหัวอยู่  การนำเสนอข่าวไปในลักษณะที่ว่าลูกจ้างที่แชตในเวลางานจะไม่ได้รับการเยียวยา อะไรเลยอาจจะเป็นการสร้างความเกรงกลัวทำให้ลูกจ้างไม่กล้าใช้เวลางานมาแช ตเรื่องส่วนตัว แต่การบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือการสร้างข้อสรุปที่ผิด อาจเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างและฉวยโอกาสเลิกจ้างโดยไม่ จ่ายค่าชดเชย

จากฎีกานี้ศาลก็ได้ออกมาตัดสินแล้วว่าการแชตในระหว่างงาน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรและอาจเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน อย่างไรก็ตาม ฎีกานี้ศาลยังไม่ได้ออกมาชี้ชัดว่าการแชตในเวลางานเป็นการกระทำผิดข้อบังคับ ร้ายแรงถึงขั้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จึงอาจจะต้องรอดูกันว่าหากในอนาคตมีผู้ถูกไล่ออกเพราะการแชตในเวลางานมาฟ้อง เรียกค่าชดเชยแล้วศาลจะตัดสินออกมาว่าอย่างไร แต่ระหว่างนี้หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุนี้นายจ้างก็ยังคงต้องจ่าย ค่าชดเชยต่อไปเนื่องจากการจ่ายค่าชดเชยกับค่าเสียหายอื่น ๆ ไม่ได้ใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณา 

ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์
นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเลิกจ้างลูกจ้าง แชตในเวลางาน

view