สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก ปะทะและหลอมรวม (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

วิวัฒนาการค้าปลีกไทย ว่าด้วยการปะทะและหลอมรวม ควรอรรถาธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโมเดลค้าวัสดุก่อสร้าง

แม้ว่าปรากฏการณ์การหลอมรวมรูปแบบการค้าแบบเก่ากับใหม่ เริ่มต้นขึ้นราวปี 2541 เมื่อเครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี เปิดตัว Home Mart เครือข่ายร้านค้ารูปแบบใหม่ แต่เหตุการณ์สำคัญที่ถือว่า "ตกผลึก" อย่างแท้จริงคือ กรณี เอสซีจีเข้าถือหุ้นใหญ่ บริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ในปี 2555

"บริษัทเก่าแก่ของสังคมไทย ลงทุนไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นประมาณหนึ่งในสามในบริษัทโกลบอลเฮ้าส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ภาคอีสาน...มีไม่ถึง 20 สาขา ด้วยเงินมากกว่า 500 ล้านบาทต่อสาขา...เป็นแผนการอันแยบยลอย่างน่าสนใจ...มาจากการวิเคราะห์การ เปลี่ยนแปลงภูมิสถาปัตยกรรมทางธุรกิจ-ธุรกิจจัดจำหน่าย(SCGDistribution)" ผมเคยวิเคราะห์ไว้ในตอนนั้นว่า เป็นการพลิกผันทางยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่"




"การตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้เพื่อเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้างในรูปแบบของร้านค้าคลังสินค้า(WarehouseStore) ซึ่งมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เอสซีจีมุ่งหวังที่จะเป็น Strategic Partner ของสยามโกลบอลเฮ้าส์อย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพการขยายธุรกิจทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป" กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แถลงเกี่ยวกับดีลในครั้งนั้นไว้ โดยตั้งใจเรียกธุรกิจใหม่ว่า ร้านค้าคลังสินค้า (Warehouse Store) ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าเป็นคำอรรถาธิบาย เพื่อให้มีความแตกต่างจากเครือข่ายจัดจำหน่ายเดิม

ยุคก่อนปี 2540 เอสซีจีมีระบบผู้แทนจัดจำหน่ายถึง 700 แห่ง ถือเป็นพลังธุรกิจสำคัญของผู้นำธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้างมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งมีการพัฒนาอย่างน่าทึ่ง สามารถเชื่อมเครือข่ายเข้าด้วยกันด้วยระบบ Computer Online ตั้งแต่ก่อนยุค Internet และ ERP (Enterprise Resource Planning) นักวิเคราะห์เพื่อการลงทุนต่างชาติมักอ้างอิง และยกเอสซีจีเป็นหุ้นบลูชิป ในแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตการณ์ (อ้างจาก The Siam Cement Group, December 1998 ถือเป็น Information Memorandum จัดทำขึ้นเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้าง ตามคำแนะนำของ McKinsey & Company, Chase Manhattan Bank และ Deutsche Bank โดย Goldman Sachs เรียบเรียง) ธุรกิจจัดจำหน่าย (SCG Distribution) ถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก

หลังจากปี 2540 สถานการณ์สำคัญเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก Modern trade ลามจากสินค้าคอนซูเมอร์ สู่สินค้าวัสดุก่อสร้าง

Homepro เป็นผู้จุดกระแสใหม่ กิจการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ ตระกูลสารสิน ดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า "ธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม อาคาร บ้านและที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร" เปิดตัวครั้งแรกในปี 2539 เชื่อว่าขณะนั้นคงไม่มีใครสนใจมากนัก เพราะอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์หลังจาก Homepro เข้าตลาดหุ้นในปี 2544 สาขาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โกลบอลเฮ้าส์ (ปี 2540) เปิดสาขาครั้งแรกที่อีสาน-จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยความพยายามพัฒนารูปแบบให้ใหญ่กว่า Homepro

แผนการปรับตัวครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบ ๆ เอสซีจีพยายามปรับโฉมร้านผู้แทนจัดจำหน่ายเดิมให้เข้าสู่ Modern Trade อย่างเป็นจังหวะก้าว Home Mart ร้านแรก ๆ เกิดขึ้นในปี 2541

ขณะที่แผนการปรับโฉม Home Mart ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กระแส Modern Trade แรงขึ้น ๆ ทั้ง Homepro และโกลบอลเฮ้าส์ขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายหลังเริ่มบุกยึดพื้นที่หัวเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันผู้นำค้าปลีกของเมืองไทยอย่างกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าร่วมวงเปิดตัว HomeWorks ขึ้น (ปี 2544)

"ถึงเวลาหรือยังที่ควรต้องออกแบบ Partner ใหม่ แต่ก่อนปูนซิเมนต์ไทยเข้มแข็งเพราะมีดีลเลอร์ 600-700 ราย ฝรั่งก็ยกย่อง ช่วงนั้นถือเป็นระบบที่สอดคล้อง เพราะปูนซิเมนต์ไทยผลิตสินค้าส่วนใหญ่เป็น Commodity เป็นสินค้าขั้นกลาง (Intermediate) ต้องนำไปให้ดีลเลอร์หรือคนกลางขายต่อ แต่ทุกวันนี้สินค้าเป็น Consumer Product มากขึ้นเรื่อย ๆ...Home Mart เป็นสัญลักษณ์ของความไม่ลงตัวระหว่าง Modern Trade กับ Partner เก่า คุณกำลังดูแล Legacy...เป็นเรื่องยากอีกเรื่องหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง" ผมเคยวิจารณ์ต่อหน้าชุมชนเอสซีจี (ตัดตอนมาจากคำบรรยาย ณ เครือซิเมนต์ไทย 10 มิถุนายน 2548 หาอ่านได้จากหนังสือ ชุมพล ณ ลำเลียง-ผมเป็นเพียงลูกจ้าง โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2549)

สถานการณ์เข้มข้นมากขึ้นอีก เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลเปิดเครือข่ายใหม่อีก-ไทวัสดุ ในปี 2553 เพียง 2 ปีจากนั้น สาขาเพิ่มขึ้นถึง 20 แห่ง

ในปี 2555 ปีที่มี ดีลเอสซีจี-สยามโกลบอลเฮ้าส์ เครือข่ายค้าปลีกวัสดุก่อสร้างรูปแบบใหม่ขยายตัวไปมากพอสมควร แม้ไม่ถึง 100 แห่ง แต่ดูมีพลังและมีอนาคต ขณะที่เครือข่ายจัดจำหน่ายเดิมเอสซีจี เหลืออยู่ถึง 500 แห่ง โดยมีรูปแบบค้าปลีกแบบใหม่ (Home Mart) ประมาณ 100 แห่ง กลับไม่คึกคักเท่าที่ควร

ในปี 2556 เอสซีจีกำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ รวม ธุรกิจซีเมนต์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ ธุรกิจจัดจําหน่าย เข้าด้วยกัน เรียกว่า ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG Cement-Building Materials) นอกจากเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ซึ่งเคยเป็นธุรกิจหลักดั้งเดิม ได้กลายเป็นธุรกิจรองไปแล้ว กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่าย (SCG Distribution) ได้หลอมรวมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจใหม่ด้วย

ถือเป็นช่วงจังหวะเวลา สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง

--เครือข่ายค้าปลีกแบบใหม่ ขยายตัวมากขึ้น (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะ) เข้าถึงและมีอิทธิพลต่อผู้บริโภค มากกว่าระบบการจัดจำหน่ายเดิมของเอสซีจีแล้ว

--เครือข่ายค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่เปิดกว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารของเอสซีจีโดยตรง แต่เป็นเครือข่ายที่จัดจำหน่ายสินค้าเอสซีจีด้วย

เอสซีจีในฐานะผู้นำธุรกิจสินค้าวัสดุก่อสร้างไม่มีความจำเป็นต้องมีเพียงเครือข่ายการค้าเฉพาะเช่นในอดีตอีกต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ปะทะ หลอมรวม

view