สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจชนบท กับดักเศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2557 ขยายตัว 2.3% ส่งผลให้ทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว 0.7%

ด้วยสัญญาณบวกในไตรมาส 4 ทั้งในสาขาอุตสาหกรรมที่พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส


ภาคก่อสร้างขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ภาคโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส

เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส หลังติดลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกทำให้ปี 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 24.8 ล้านคน ลดลง 6.7%

ขณะที่ภาคส่งออกสามารถกลับมาขยายตัว 1.5% หลังจากไตรมาส 3 ติดลบ -1.7% แต่ทั้งปียังคงติดลบ -0.3% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สองที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่ เพราะเศรษฐกิจโลกยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ

ดูเหมือนเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่ผ่านมา หลาย ๆ ตัวจะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น แต่คงต้องรอดูว่าจะมีแรงส่งให้ฟื้นตัวไปได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

และที่ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาและโจทย์ใหญ่คือ "ภาคเกษตรกรรม" ที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ที่ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ทำให้ปี 2557 เป็น "ปีที่เลวร้าย" ของภาคเกษตรกรรม จากดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 6.2% และดัชนีรายได้ของเกษตรกรลดลง 5.3% แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะดำเนินมาตรการช่วยภาคเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิผล

หมายความว่าแรงงานในภาคเกษตร ที่ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าปัจจุบันมีอยู่ราว 13.5 ล้านคน หรือกว่า 35% ของแรงงานประเทศ ต้องเผชิญกับภาวะรายได้ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดหดหายไป และเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปริมาณผลผลิตล้นตลาดยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 2558 จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน

สอดคล้องกับ "ทนง พิทยะ" อดีต รมว.การคลัง ที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ขณะนี้เศรษฐกิจในเมืองใหญ่มีทิศทางการขยายตัวที่ดี เนื่องจากมีสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้สูงช่วยขับเคลื่อนการบริโภค แต่เศรษฐกิจภาคชนบทน่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้วิธีให้เงินอุดหนุน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าทำได้ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

"เศรษฐกิจชนบทกำลังมีปัญหา เพราะราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก เราต้องหาทางแก้ ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักรายได้ ทั้งที่การว่างงานในประเทศมีน้อย แต่เศรษฐกิจกลับไม่โต" นายทนงกล่าว

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลรู้อยู่เต็มอกเพียงแต่ยังแก้ปมปัญหาไม่ได้ ทั้งจากรายงานเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า นโยบายเศรษฐกิจปี 2558 ต้องให้ความสําคัญกับการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเป็นอันดับแรก ๆ

รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ของ คสช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ที่ขณะนี้นอกจากออกมาไล่บี้ทะลวงการเบิกจ่ายงบฯภาครัฐให้ช่วยขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ยังมีภารกิจในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่ประเดิมสั่งการให้แบงก์รัฐ ดำเนินมาตรการอัดฉีดช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนรากหญ้าอย่างเต็มที่

แต่ส่วนใหญ่ยังเหมือนมาตรการ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ที่ยังไม่เห็นทางออก

เกษตรกรเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปมนี้ได้ ก็อาจทำให้ปัญหาบานปลายมากกว่าแค่เรื่องปากท้อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจชนบท กับดักเศรษฐกิจไทย

view