สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.โกร่ง วิเคราะห์เหตุแห่งกรีซ กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินทั่วโลกกำลังพุ่งความสนใจไปกับการแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของเจ้าหนี้หรือ"ทรอยก้า" หรือ "troika" ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ขณะที่รัฐบาลที่แล้วก่อนการเลือกตั้งทั่วไปได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของทรอยก้าดำเนินการตัดงบประมาณรายจ่ายลงอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่รายรับของรัฐบาลก็หดตัวอยู่แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจของกรีซหดตัวลงตามลำดับ กล่าวคือ รายได้ประชาชาติของกรีซหดตัวลง 22 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2009 หรือปี 2552 การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในอัตรากว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและต้องการทำงาน หนี้ต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอีก 35 เปอร์เซ็นต์ เป็น 175 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ

ประชาชนชาวกรีกอดทนไม่ไหว มีการเดินขบวนต่อต้านเงื่อนไขต่างๆ ที่ไอเอ็มเอฟ รวมทั้งบรรดาประเทศเจ้าหนี้และธนาคารกลางของยุโรปกำหนดเป็นเงื่อนไขให้กรีซปฏิบัติ ซึ่งหลักใหญ่ๆ ก็คือ ให้รัฐบาล "รัดเข็มขัด" ตัดงบประมาณรายจ่ายลง เพิ่มรายได้ เพื่อประเทศจะได้ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะได้มีเงินเหลือชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ เหมือนๆ กับที่ไอเอ็มเอฟบังคับให้ประเทศไทยดำเนินการตัดงบประมาณ ขึ้นภาษี ขึ้นดอกเบี้ย ปิดสถาบันการเงิน เอาทรัพย์สินของสถาบันการเงินออกมาประมูลขายในราคาถูกและห้ามลูกหนี้เข้าประมูล กรีซก็อยู่ในฐานะคล้ายๆ กัน ทรรศนะของเจ้าหนี้ซึ่งนำโดยไอเอ็มเอฟมักจะเป็นเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าจะเคยยอมรับผิดในกรณีของประเทศไทยและประเทศอื่นที่ประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์การเงินก็ตาม

วิกฤตการณ์ในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรีซเมื่อสภาผู้แทนราษฎรครบเทอมและมีการเลือกตั้งใหม่ เกิดมีพรรคการเมืองใหม่ขึ้น ชื่อพรรคซีริซา หรือ Syriza มีนโยบายต่อต้านการต่ออายุเงื่อนไขเงินกู้ ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

นอกจากนั้นก็ยังเสนอมาตรการผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ลดภาษีทรัพย์สินสำหรับรายเล็กให้มีอัตราเดียว แต่เพิ่มภาษีสำหรับรายใหญ่ เพิ่มค่าลดหย่อนและรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จาก 5,000 ยูโร เป็น 12,000 ยูโร จะค่อยๆ เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 586 ยูโร เป็น 751 ยูโร เท่ากับเป็นการยกเลิกโครงการ "รัดเข็มขัด" ของไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป

ที่สำคัญ ขอพักหนี้จำนวน 3.2 แสนล้านยูโรไว้ก่อน และขอตั้งต้นชีวิตใหม่หรือ "fresh start" การบีบคั้นของเจ้าหนี้ที่ให้ลูกหนี้ "รัดเข็มขัด" มีแต่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถฟื้นตัวได้ เศรษฐกิจมีแต่จะทรุดลงไปอีก จะกลายเป็นการนำประเทศกรีซที่มีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเข้าไปสู่ภาวะเงินฝืดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในที่สุด จนอาจจะกลายเป็นปัญหาการล่มสลายของ "เงินยูโร" ก็ได้

ความจริงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เป็นตัวอย่างอันดี เมื่อจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้เสนอทฤษฎีใหม่ที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์

ปรากฏครั้งแรกใน The General Theory of Employment, Interest and Money ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1936 ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหรือ "depression" ในเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น เกิดขึ้นจาก "ความต้องการรวม" หรือ "aggregate demand" มีน้อยกว่าความสามารถในการผลิตรวม หรือ "aggregate supply" เพราะเหตุว่าประชาชน "ออม" มากกว่าลงทุนทุกๆ ปี ครัวเรือนจับจ่ายใช้สอยน้อย จนทำให้มีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน สำหรับระบบเศรษฐกิจเปิดที่ต้องมีการค้ากับต่างประเทศก็จะเห็นได้ว่าการส่งออกขยายตัวลดลง หรือขยายตัวไม่มากพอกับการขยายการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ

สภาวะเช่นนี้ เคนส์เรียกว่าระบบเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะ "กับดักสภาพคล่อง" หรือ "liquidity trap" ในสถานการณ์เช่นนี้ นโยบายการเงิน กล่าวคือ การลดดอกเบี้ยหรือการเพิ่มปริมาณเงินจะไม่มีประสิทธิภาพหรือมีผลในการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มการผลิต แต่นโยบายการเงินจะไปมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าลง ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น การนำเข้าลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น เมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นแล้ว เพื่อไม่ให้ค่าเงินกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็ต้องเพิ่มการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในอนาคต กล่าวคือ ต้องเน้นไปที่นโยบายการขาดดุลการคลังให้มากขึ้น

ขณะนี้ทั่วโลกไม่ได้ทำอย่างนั้น อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง แต่ทั่วโลกที่เป็นประเทศที่เป็นลูกหนี้สุทธิก็มักจะถูกบีบบังคับจากเงื่อนไขการกู้ยืมของเจ้าหนี้ หรือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้ลดการขาดดุลงบประมาณลง พยายามให้มีการเกินดุลงบประมาณ ลดการนำเข้า การทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่สวนทางกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ในสภาพการณ์เช่นนี้ต้องส่งเสริมให้รัฐบาลดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีเงินไปใช้จ่ายในการลงทุน ชดเชยการหดตัวของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็ผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น

สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนนั้น ถ้าแต่ละครัวเรือนประหยัดหรือลดการบริโภคเพิ่มการออม ครอบครัวนั้นอาจจะมีความมั่นคงทางการเงิน มีเงินทุนลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้และฐานะในอนาคต แต่ถ้าทั้งประเทศประหยัด ลดการบริโภคลง ถ้าการลงทุนและการส่งออกขยายตัวไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถชดเชยกับการลดลงของการใช้จ่ายของครัวเรือนได้ เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงไปอีก ถ้าอยู่ในภาวะ "กับดักสภาพคล่อง" อยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจซบเซายืดเวลาออกไปอีก

และที่สุดเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำซบเซาเป็นเวลานาน ปัญหาการเมืองก็จะเกิดขึ้น ความไม่พอใจรัฐบาลก็จะเกิดขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลก เช่น พอล ครุกแมน และโจเซฟ สติกลิตส์ ทั้งสองคนเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคเจ้าของรางวัลโนเบล ต่างก็ออกมาสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของกรีซที่จะบอกเลิกการต่ออายุโครงการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขค่อนข้างโหดร้ายสำหรับเศรษฐกิจของกรีซ

ทั้ง 2 ท่านเห็นว่า หากสหภาพยุโรปลอยแพกรีซ โดยไม่ยอมพักหนี้เก่าและไม่ยอมให้กรีซออกพันธบัตรใหม่มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเริ่มชีวิตใหม่ หรือ "fresh start" โดยที่กรีซถูกไล่ออกจากเขตยูโร โดยการปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์กรีซล้ม กรีซต้องสร้างเงินของตนขึ้นใหม่ และถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งยกเลิกเงินยูโร ระบบเงินยูโรทั้งระบบก็คงจะต้องล่มสลาย

กรีซก็จะเป็นเหมือนเยอรมนีเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศพันธมิตรซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่บังคับให้เยอรมนีต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม และนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

แต่การที่จะให้กรีซเลิกปฏิบัติตาม เงื่อนไขเงินกู้เดิมแล้วมาเจรจากันใหม่อย่างที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ของรัฐบาลใหม่ของกรีซทำอยู่อาจจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องในแง่ทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ ในแง่ศีลธรรม ในแง่การเมืองภายในประเทศของกรีซ และในที่สุดเพื่อประโยชน์และความอยู่รอดของระบบเงินยูโร ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศที่เป็นสมาชิก แต่ในแง่จิตวิทยาของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้คงจะทำใจได้ยากที่จะเห็นลูกหนี้ไม่ยอมรัดเข็มขัดเพื่อมีเงินมาใช้ หนี้ รัฐบาลของประเทศเจ้าหนี้คงจะถูกรัฐสภาของตนเล่นงานอย่างหนัก และอาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งในเวลาต่อไปด้วย

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคบางทีก็ฝืนกับความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน พรรคการเมือง รวมทั้งรัฐบาลด้วย

ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปพูดถึงการลงทุนโครงการพื้นฐานโดยรัฐบาลน้อยมาก เมื่อเทียบกับข่าวการเพิ่มปริมาณเงินหรือโครงการ คิว.อี. เพิ่งจะมาพูดถึงการลงทุนภาครัฐบาลในสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้งๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในสหรัฐเก่าแก่ล้าสมัยไปหมดแล้วเมื่อเทียบกับจีนและยุโรป

บางทีประเทศที่มีนักคิดมากกลับคิดไม่ออกก็มี



ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.โกร่ง วิเคราะห์เหตุแห่งกรีซ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

view