สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อยากให้การปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ

อยากให้การปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ
โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปีนี้เป็นปีสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน กระบวนการปฏิรูปขณะนี้กำลังเกิดขึ้นผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ที่เป็นความหวังว่าจะเป็นกลไกนำประเทศไปสู่การปฏิรูปที่จริงจัง เพื่อปลดล็อกประเทศออกจากปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่มาก และนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น แต่ขณะที่การคาดหวังของประชาชนมีสูง ความห่วงใยก็มีมากว่าในที่สุดสิ่งที่ประชาชนหวังอาจไม่เกิดขึ้น เพราะผลที่ออกมาจากกระบวนการปฏิรูปอาจเป็นเพียงข้อเสนอหรือการตั้งประเด็นที่ควร “ปฏิรูป” ในลักษณะบัญชีรายชื่อสิ่งที่อยากได้ หรือ Wish List สามสิบ สี่สิบ ประเด็น และใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเครื่องมือที่จะมอบ “การบ้าน” ปฏิรูปให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็ต้องถือว่าการปฏิรูปล้มเหลว ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง เพราะไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ไม่มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีแต่คำพูดและแนวคิด ที่ไม่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง


การปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นกระบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมที่ต้องอาศัย หนึ่ง ความเข้าใจที่ถ่องแท้ว่ารากเหง้าของปัญหาของประเทศที่แท้จริงคืออะไร และมุ่งการปฏิรูปไปที่ประเด็นที่เป็นรากเหง้าเหล่านี้ เพื่อนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ถ้าความเข้าใจในพื้นฐานของปัญหาแท้จริงไม่มี การปฏิรูปก็จะล้มเหลว เปรียบเหมือนหมอที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าคนไข้ป่วยด้วยโรคอะไร การรักษาจึงมุ่งไปที่อาการมากกว่าต้นตอของปัญหา


สอง เมื่อเข้าใจรากเหง้าของปัญหา ซึ่งก็คือ ประเด็นที่ต้องปฏิรูป กระบวนการปฏิรูปก็ต้องทำให้ประเด็นที่ต้องปฏิรูปเป็นที่เข้าใจและยอมรับของสังคม คือ สามารถเล่าเรื่องและสาธยายได้ว่าทำไมเราต้องปฏิรูปประเด็นที่เป็นรากเหง้าเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศสนับสนุนการปฏิรูป เพราะถ้าประชาชนไม่สนับสนุน ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ การปฏิรูปก็เกิดขึ้นได้ยากและจะไม่ประสบความสำเร็จ


สาม เมื่อประชาชนเข้าใจในประเด็นที่ต้องปฏิรูป กระบวนการปฏิรูปก็ต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สังคมเปลี่ยนพฤติกรรม ใครที่มีความรู้เรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Process ขององค์กรธุรกิจคงเข้าใจดีว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นยากกว่าการค้นหารากเหง้าของปัญหา ในกรณีปฏิรูปประเทศก็เช่นกัน โจทย์ที่ท้าทายก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้คนที่กำลังได้ประโยชน์จากระบบที่ไม่ดีขณะนี้ ยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป เช่น


ทำอย่างไรจะให้นักการเมืองมีพฤติกรรมใหม่ที่มุ่งส่งเสริมการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมตามกลไกประชาธิปไตย ทำอย่างไรที่จะให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศและส่วนรวมอย่างเข้มแข็ง และตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่มองแต่ประโยชน์ที่ตนเองจะได้และเลือกปฏิบัติ ทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจเอกชนทำธุรกิจอย่างสะอาด มีจริยธรรม สนับสนุนการเปิดเสรี สนับสนุนการแข่งขันตามกลไกตลาด ไม่ใช่มุ่งรักษาประโยชน์ของตนที่ได้จากใบอนุญาตสัมปทาน การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการผูกขาดตัดตอน และทำอย่างไรให้ภาคประชาชนร่วมสนับสนุนการปฏิรูป ให้เป็นภาคประชาชนที่รู้จักแยกแยะ “ถูก” “ผิด” และออกมาพูดแสดงความคิดเห็น เพื่อดูแลประโยชน์ของส่วนรวม เหล่านี้คือการเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมที่การปฏิรูปต้องทำให้เกิดขึ้น


ในลักษณะนี้ การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเข้าใจตรงกันในรากเหง้าของปัญหาที่ต้องแก้ไข และพร้อมสนับสนุนการปฏิรูป โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคมยอมรับ และเข้าร่วมการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในลักษณะนี้การปฏิรูปจึงไม่ใช่การตั้งประเด็นอาการป่วยของประเทศสามสิบสี่สิบประเด็น แต่ต้องหาฉันทามติในรากเหง้าของปัญหาที่ต้องแก้ไข และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น


ในข้อเท็จจริงความล้มเหลวของกระบวนการปฏิรูปที่มีให้เห็นในต่างประเทศมักจะเกิดจากสองปัจจัย หนึ่ง ความไม่พร้อมของบุคลากรที่เข้ามาร่วมในกระบวนการปฏิรูป และสอง วิธีการทำงานของกระบวนการปฏิรูปเอง ขณะที่ความสำเร็จที่มีให้เห็นในกระบวนการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสองปัจจัยนี้เช่นกัน


ในกรณีการปฏิรูปที่ล้มเหลว ประเด็นหลักของความไม่พร้อมของบุคลากรที่เข้ามาร่วมในกระบวนการปฏิรูป ก็คือ ผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปไม่เข้าใจว่าการปฏิรูปคืออะไร ทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างน้อยในสามเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย คือ หนึ่ง ผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปยังมองการปฏิรูปว่าเป็นเวทีอภิปรายแสดงความคิดเห็น เป็นเวทีระดมสมองเพื่อรวบรวมปัญหา ไม่ใช่การร่วมวินิจฉัยหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น


สอง ผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปไม่เข้าใจในความแตกต่างระหว่างประเด็นปฏิรูป (Reform Issue) กับสิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ (Policy Issue) ทำให้มีการนำปัญหาเฉพาะหน้า (ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ทำหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ) มาผสมกับประเด็นปฏิรูป ซึ่งเป็นคนละเรื่อง เพราะไม่เข้าใจว่า การปฏิรูปหมายถึงภาพใหญ่ของการรื้อโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม ไม่ใช่การแก้ปัญหาจุลภาคด้านบริหารที่มีอยู่ และ สาม ผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปอาจไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงในประเด็นที่ควรต้องปฏิรูปทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยรากเหง้าของปัญหาที่ควรปฏิรูปได้


สำหรับการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยความสำเร็จส่วนใหญ่จะมาจากความรู้ ความแตกต่าง และวิธีทำงานร่วมกันของผู้ที่เข้ามาร่วมในกระบวนการปฏิรูปที่มีลักษณะเด่นแตกต่างจากกระบวนการปฏิรูปที่ล้มเหลว กล่าวคือ


หนึ่ง จะไม่มีการเมืองในกระบวนการปฏิรูปโดยบุคคลที่เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปจะเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทำให้กระบวนการปฏิรูปสามารถมุ่งเดินหน้าเพื่อหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีวาทกรรมหรือวาระซ่อนเร้นทางการเมือง


สอง กระบวนการทำงานของผู้ที่เข้ามาร่วมในกระบวนการปฏิรูปจะเป็นการทำงานร่วมกันในเชิงแกนราบ (Horizontal) ไม่ใช่การทำงานในเชิงแกนตั้ง (Vertical) (อย่างที่ทำอยู่ในกระบวนการปฏิรูปในประเทศเราขณะนี้) การทำงานเชิงแกนตั้งเป็นการทำงานที่มีระดับชั้น (Hierarchical) มีคณะกรรมาธิการ มีคณะอนุกรรมการ มีคณะทำงาน มีคณะที่ปรึกษา กระบวนการทำงานลักษณะนี้เป็นการทำงานแบบบนสู่ล่าง เป็นลักษณะของการสั่งการมากกว่าการร่วมคิด ร่วมรับฟังความคิดเห็น ทำให้ผลที่ออกมามักสะท้อนสิ่งที่ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง เช่น ประธานคณะกรรมาธิการอยากเห็น หรือพอใจ มากกว่าที่จะเป็นข้อสรุปที่ได้จากการกลั่นกรองความคิดต่างๆ ในวงกว้าง ตรงกันข้ามการทำงานเชิงแกนราบมักเกิดขึ้นในการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จเพราะเน้นการร่วมกันคิดร่วมกันรับฟัง และร่วมกันทำงาน ไม่มีลำดับชั้น ไม่มีหมวกไม่มีหัวหน้า เป็นความพยายามที่จะให้ได้ผลลัพธ์หรือข้อสรุปจากล่างสู่บนที่กลั่นกรองมาจากฐานความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ตรงประเด็นและเป็นที่ยอมรับ


สาม เป็นกระบวนการที่เปิดกว้าง (Inclusive) ให้คนที่มีภูมิหลัง มีสถานะทางสังคม ความรู้ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน (Diversity) สามารถให้ความเห็นได้อย่างเสรีที่สะท้อนความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม เพื่อให้ได้ฉันทามติที่มาจากการกลั่นกรองความคิดของผู้คนในวงกว้าง ซึ่งสำคัญต่อความสำเร็จของการปฏิรูปที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่พร้อมร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง


ขณะที่การปฏิรูปประเทศของเรากำลังเดินไปในทิศทางที่กำลังเดินอยู่ ก็หวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับความล้มเหลวและความสำเร็จของการปฏิรูปเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไปให้ประสบความสำเร็จ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อยากให้ การปฏิรูปประเทศ ประสบความสำเร็จ

view