สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ.ร.บ.แก้ไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พ.ร.บ.แก้ไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่งที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก เช่น คดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ คดีผิดสัญญา หรือละเมิด


คดีที่จะขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ คือคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ...ผลของคำพิพากษาผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน
สกล หาญสุทธิวารินทร์

แต่เดิมหากผู้เสียหายเหล่านั้นต้องการฟ้องร้องเพื่อการได้รับการเยียวยาเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องฟ้องคดีเอง ซึ่งเป็นความยุ่งยากลำบากโดยเฉพาะผู้เสียหายรายย่อยหรือได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย และก็มีผู้เสียหายจำนวนมาก ยอมรับสภาพความเสียหายไม่ประสงค์ฟ้องร้อง เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการฟ้องร้อง หรือไม่อยากยุ่งยากเสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย


การให้ผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวและข้อกฎหมายเดียวกันสามารถรวมกลุ่มกันฟ้องคดีได้ จะเป็นประโยชน์ สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาเดียวกันได้รับการตัดสินเป็นอย่างเดียวกันไม่ให้มีการขัดแย้งกันของคำพิพากษา เป็นมาตรการคุ้มครองผู้เสียหายรายย่อยที่อาจเป็นผู้ด้อยโอกาส อันเนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำเนินคดี หรือเป็นผู้ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยที่จะไม่คุ้มค่าหากมีการฟ้องคดี ได้รับการเยียวยาแก้ไข และเป็นการลดจำนวนคดีในศาลได้


ในต่างประเทศมีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (cross action) มานานแล้ว ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันมีการดำเนินคดีแบบกลุ่มเฉพาะคดีผู้บริโภคเท่านั้น แต่ก็มีหน่วยงานบางแห่งเสนอแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาสิบกว่าปีแล้ว กล่าวคือในปี 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ร่างกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มในการฟ้องคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพื่อการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการพิจารณาว่าควรมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้นำหลักการการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาใช้กับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากอันเกิดจากมูลละเมิด การผิดสัญญา หรือความเสียหายที่เกิดจากกฎหมายเฉพาะต่างๆ ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองบุคคลจำนวนมาก เช่นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คดีเกี่ยวกับแรงงานเป็นต้น


ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยเพิ่มบทบัญญัติหมวดการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เสร็จตั้งแต่ปลายปี 2553 ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และได้พิจารณาวาระสามเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าว ได้เพิ่มข้อความเป็นหมวด 4 การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49ในลักษณะ 2 วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น ภาค 2 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


สาระที่สำคัญ คือ


คำนิยาม“กลุ่มบุคคล”หมายความว่า กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลุ่มบุคคลผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเรื่องเดียวกัน เช่น ผู้ซื้อบ้านจัดสรรหรือคอนโดที่ผู้ประกอบการไม่มีการดำเนินการตามที่โฆษณาหรือตกลงไว้)


“สมาชิกกลุ่ม”หมายความว่าบุคคลใดๆ ที่อยู่ในกลุ่มบุคคล (ซึ่งก็คือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกันและในเรื่องเดียวกันกับบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมาก)


“การดำเนินคดีแบบกลุ่ม”หมายความว่า การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม (ซึ่งก็คือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกันและในเรื่องเดียวกันกับบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมาก และได้เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนโดยได้รับอนุญาตจากศาล ให้ศาลพิจารณาให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายอื่นๆ อีกหลายคนได้รับสิทธิด้วย)


ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแบกลุ่มคือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง ยกเว้นศาลแขวง


มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามที่ศาลมอบหมาย


คดีที่จะขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ คือคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากในคดีละเมิด คดีผิดสัญญา คดีเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า


ในการร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดี เพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม


องค์ประกอบสำคัญที่ศาล จะอนุญาตให้ฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือ มีความชัดเจนของลักษณะของกลุ่ม มีสมาชิกคือผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก การดำเนินคดีอย่างคดีสามัญจะยุ่งยากและไม่สะดวก การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีแบบสามัญ โจทก์และทนายโจทก์เหมาะสมที่จะเป็นโจทก์และทนายโจทก์ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้


เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ในกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การแล้ว ให้ศาลฟังจำเลยก่อน


การพิจารณาคดี นำระบบไต่สวนมาใช้ด้วย กล่าวคือ ศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้และสามารถรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นๆ นอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความก็ได้ นอกจากนี้ ศาลมีอำนาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาล แทนการมาเบิกความในศาลได้


ผลของคำพิพากษาผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พ.ร.บ.แก้ไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

view