สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหาวิทยาลัย กับ การเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัย กับ การเปลี่ยนแปลง
โดย : ดร.พสุ เดชะรินทร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ไม่ว่าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใด สิ่งหนึ่งที่เราหนีไม่พ้นก็คืออิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยภายนอกต่างๆ

แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็หนีไม่พ้นการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในฐานะที่ผมเองอยู่ในแวดวงวิชาการมากกว่า 20 ปี จะพบว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยภายนอกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมากกว่าในอดีตหลายเท่า ดังนั้น สัปดาห์นี้จึงขอพาท่านผู้อ่านมาดูการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษากันนะครับ


เริ่มจากเทคโนโลยีก่อนเลยครับ การเปลี่ยนแปลงในดิจิทัลเทคโนโลยีก็เข้ามามีผลต่อการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่น้อย ซึ่งเทคโนโลยีในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของแค่การแจกแท็บเล็ตให้กับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้กระบวนการในการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นเครื่องมือทั้งสำหรับผู้สอนและผู้เรียนในการทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพขึ้น อีกทั้งเหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน


อาจารย์ในปัจจุบันสามารถใช้ระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอนหรือ LMS (Learning Management Systems) ที่มีมากมายหลายยี่ห้อในการบริหารจัดการห้องเรียน ซึ่งนอกเหนือจากจะนำเอกสารประกอบการสอนต่างๆ ไปแปะไว้ให้นิสิตนักศึกษาได้ดาวน์โหลดกันแล้ว ในปัจจุบัน การมอบหมายงาน การส่งการบ้าน การตรวจการบ้าน การให้คะแนน การให้ข้อแนะนำ การทำ Quiz ล้วนแล้วแต่สามารถทำผ่านระบบ LMS ได้ทั้งสิ้น


ผู้เรียนในปัจจุบันสามารถใช้มือถือหรือแท็บเล็ตส่วนตัวเข้าสู่ระบบ LMS (ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็น App ที่เหมาะกับอุปกรณ์มือถือต่างๆ) เพื่อทำการบ้าน ทำ Quiz อ่านเอกสารประกอบการสอน อ่าน e-book ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย เหมาะสมกับความเป็นคน Gen Y และ Gen Z ที่เป็นผู้เรียนในปัจจุบัน


ปัจจัยต่อมาคือข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรต่างๆ ทั้งงบประมาณ กำลังคน เครื่องมือต่างๆ ฯลฯ ข้อเท็จจริงที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เริ่มทำใจและยอมรับกันมานานแล้วก็คืองบประมาณและการสนับสนุนจากภาครัฐต่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยลดน้อยลงเรื่อยๆ (และเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้านแล้วต้องถือว่าสวนทางกันเลยทีเดียว) ดังนั้นสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงต้องพึ่งพาตนเองในการหางบประมาณเข้าสถาบันกันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการหาแหล่งทุนวิจัยจากภายนอก การจัดโครงการบริการวิชาการให้กับหน่วยงานภายนอก การระดมทุน การเปิดหลักสูตรพิเศษต่างๆ แม้กระทั่งการจัดกอล์ฟ การจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ดี ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง กิจกรรมหารายได้เหล่านี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่จะนำมาพัฒนาทางด้านวิชาการ การเรียนการสอน และวิจัยของสถาบันการศึกษาซึ่งขาดแคลนการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเพียงพอ


ผลกระทบต่อมาคือเรื่องของนานาชาติที่ถึงแม้จะมีกระแสนี้มานานแล้ว แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น สถาบันการศึกษาชั้นนำจากโลกตะวันตกต่างเริ่มหันมาเปิดวิทยาเขต หรือ สำนักงานในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ในขณะตลาดอินเดียและจีนก็กลายเป็นตลาดเป้าหมายของสถาบันการศึกษาจากโลกตะวันตกมากขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศก็มุ่งแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การที่สถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศจะมาจับมือกับมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทย เขาก็จะพิจารณาจากคุณภาพที่อย่างน้อยต้องทัดเทียมกัน ทำให้กระแสถัดมาจากเรื่องของนานาชาติคือการรับรองมาตรฐานการศึกษา หรือ International Accreditation ที่มีทั้งในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค


ล่าสุดมีข่าวที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย คือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานทางการศึกษาระดับนานาชาติ AACSB ของอเมริกา ซึ่งในวันเดียวกัน หลักสูตร Master of Science in Finance และหลักสูตร BBA (หลักสูตรนานาชาติ) ของคณะ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานทางการศึกษาระดับนานาชาติ EPAS ของค่าย EFMD จากยุโรป ข่าวดีทั้งสองข่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่ข่าวดีของคณะฯ และจุฬาฯ เท่านั้น แต่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจของไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกแห่งอื่น


ซึ่งแนวโน้มการขอรับรองมาตรฐานการศึกษานั้น สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งจะขยับจากเกณฑ์ของประเทศไทย ไปสู่เกณฑ์ระดับภูมิภาคและระดับสากลมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเป็นทั้งทางเลือก และคู่แข่งขันกับสถาบันการศึกษาชั้นนำอื่นๆ ของโลก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหาวิทยาลัย การเปลี่ยนแปลง

view