สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายแห่งชาติเรื่อง เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

ผมเคยกล่าวถึงเรื่องของ "คน" ในยุคนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีแอนด์โซเชียล ซึ่งเราต้องแน่ใจว่า "คนไทย" จะสามารถใช้ และได้ประโยชน์กับ "นโยบายแห่งชาติ" เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะนำความรู้และเทคโนโลยีที่นำมาขับเคลื่อนการพัฒนาชาติในครั้งนี้ ความพร้อมที่กล่าวถึงนี้จะต้องมองแบบจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้ ทั้งผู้คิดผู้มอบผู้ทำผู้ใช้และผู้ที่รับว่าทุกภาคส่วนเข้าใจบทบาทและเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งนโยบายนี้ต้องทำให้เป็น "นโยบายแห่งชาติ" ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายการเมือง

ทุกวันนี้ในเชิงนโยบายนี้มีการกล่าวถึงในรูปแบบของเชิงปริมาณมาก เช่น การใช้เทคโนโลยีกันมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเติบโตด้านเศรษฐกิจ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต และเรื่องเป้าหมายของพื้นที่ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆประเภท/ชนิดของบริการในรูปดิจิทัลต่าง ๆ ฯลฯ แต่เรายังไม่มีเป้าหมายใน "เชิงคุณภาพ" สักเท่าไร มีการกล่าวถึงเป้าหมายว่าจะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือจะบริการจากภาครัฐที่ดีขึ้น หรือจะ...ซึ่งก็ไม่สามารถจับต้องหรือติดตามได้ชัดเจน แต่อยากเห็นเรื่องเป้าหมายในเชิงคุณภาพที่เข้าใจง่ายจับต้องได้และสะท้อนในเชิงคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ชัด เช่น

- เราจะสามารถบันทึกการเกิดใหม่ของประชากรคนไทยได้ 100% ภายในปี...

- เราจะสามารถติดตามและดูแลเรื่องการสาธารณสุขและอนามัยของประชาชนคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายได้ 100% ภายในปี...

- เราจะสามารถดูแลเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานของคนไทยได้ 100% ภายในปี...

- เราจะสามารถดูแลเรื่องการบริการสังคมตามสิทธิของคนไทยได้ 100% ภายในปี...ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น เพื่อจะได้กำหนดเป็นนโยบายที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ต้องดำเนินการตาม ซึ่งลักษณะของนโยบายและเป้าหมายต่าง ๆ นี้ก็สามารถกำหนดตัวชี้วัดได้ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องทำเป็นวาระแห่งชาติอีก 1-5-10-20 ปีข้างหน้าก็ตามจนกว่าจะสำเร็จ


ภาพจาก www.tabletd.com

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เราสร้างนโยบายและดำเนินการจัดหาสิ่งของและใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งคนและสิ่งของ แต่เราไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีความต่อเนื่อง อุปกรณ์วัตถุสิ่งของและแม้แต่หน่วยงานใหม่คนใหม่ก็จะถึงกลืนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเมือง เงินและเวลาที่จะต้องลงทุนไปในการขับเคลื่อนนโยบายครั้งนี้ เราต้องมั่นใจว่าจะสามารถเห็นความยั่งยืนได้ เช่น นักการเมืองต้องเห็นความสำคัญในทิศทางเดียวกัน เช่น เรื่อง...

- คนไทยทุกคนต้องเกิดมาบนพื้นฐานของความทัดเทียมกันในเรื่องสิทธิของความเป็นคนไทย

- คนไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

- คนไทยทุกคนจะต้องได้รับการดูแลด้านสาธารณะสุขขั้นพื้นฐานที่กำหนดโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

- คนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น

หากเรื่องตัวอย่างเหล่านี้สามารถเป็น "นโยบายแห่งชาติ" ที่นักการเมืองหรือนักปกครองของชาติไทยยอมรับและมีเป้าหมายในการดำเนินการให้เป็นจริงและต่อเนื่อง ผมว่าอย่างน้อยคนไทยเราจะได้เห็นการทำงานตามนโยบายที่ดีต่อคนไทยสามารถมีความยั่งยืนต่อเนื่องและไม่ต้องกลายเป็นนโยบายประชานิยมของนักการเมืองยุคต่าง ๆ เพราะในฐานะที่ประเทศไทยเป็นชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คนไทยเราคงปฏิเสธการมี "นักการเมือง" ไม่ได้ แม้ว่าคนไทยเราจะมีปัญหากับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเสมอมากว่า 80 ปีก็ตาม

ในการบริหารจัดการของการขับเคลื่อน "นโยบายแห่งชาติเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล" นั้น ภาคเอกชนภาคประชาชนมีส่วนสำคัญมากเพราะสิ่งที่รัฐบาลสัญญาว่าจะทำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทย เป็นสัญญาที่รัฐบาลไทยที่ให้กับประชาชน ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ดีและมีความโปร่งใสประชาชนจะเป็นคนปกป้องนโยบายที่ดีและมีความสุจริต และยังสามารถช่วยตรวจสอบติดตามด้วย

คนไทยเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของนโยบายที่ไม่มีความยั่งยืนไม่สุจริตมาหลาย ๆ ครั้งและได้เห็นการสิ้นสุดของนโยบายที่ไม่มีความสุจริตมามากมายเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่คนไทยเราต้องร่วมมือกันดูแล และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ดี แต่น่าเสียดายว่าก็ยังเห็นการให้ภาคเอกชน/ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยในการขับเคลื่อนนโยบาย และการร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับ "นโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล"

ร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมาจึงมีปัญหากับการยอมรับของประชาชนว่าจะกลายเป็น พ.ร.บ.ที่มีนโยบายให้รัฐผูกขาดและกุมอำนาจมากเกินขอบเขตอย่างที่เราคนไทยกังวลกันทุกวันนี้ จึงขอฝากท่านผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วยนะครับ

ในที่สุดสิ่งที่ประชาชนและรัฐบาลของประชาชนต้องการ คือการมีนโยบายที่สร้างความเจริญแก่ประเทศชาติที่ไม่ใช่เป็นแค่นโยบายประชานิยมและรวบอำนาจไว้กับหน่วยงานรัฐมากเกินขอบเขตจนไม่โปร่งใส


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายแห่งชาติ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

view