สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกสูตรจัดการปิโตรเลียม สร้างกติกา ยึดผลประโยชน์ชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เจษฎา จี้สละ

การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนของสังคมกำลังจับตา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างให้ความสนใจในโครงการดังกล่าว จนเกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง กระทั่งล่าสุดรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างน้อย 3 เดือน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออก

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมที่มีบทบาทโดดเด่นคงหนีไม่พ้นคณะบุคคลที่ร่วมกันยื่นหนังสือเปิดผนึกเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยเฉพาะ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง ผู้ผนึกกำลังของเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนรัฐบาลต้องฟัง!

“ผมคิดว่าในขณะนี้ได้กุญแจสำคัญจากนายกรัฐมนตรีว่าให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อน ซึ่งเวลานี้เราอยู่ในสถานการณ์พิเศษที่มี สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่จะใช้เวลามากและท้าทายมากกว่า คือ เราจะตั้งโจทย์ได้ครอบคลุมและเป็นคำถามหลักที่อยู่ในใจของประชาชนได้หรือเปล่า” ธีระชัยตีโจทย์ใหญ่ในการสังเคราะห์แนวทางการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

นอกจากนั้นแล้ว “โจทย์ใหม่” ในการปรับปรุงกฎหมาย คือจะทำอย่างไรให้การหารายได้ของประเทศกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด เพราะการเปิดสัมปทานรอบที่ 20 ที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก ฉะนั้นจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยให้สิทธิกับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การคุ้มครองตนเอง และการเยียวยาชดเชยความเสียหาย ฯลฯ

“พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2532 มีการแก้ไข 6 ครั้ง ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ เป็นการแก้ไขในเรื่องของวิธีการทำงานของภาคเอกชน เพื่อให้มีความสะดวก ซึ่งกติกาต่างๆ เน้นไปในหมวดการทำธุรกิจ สมัยก่อนคิดเพียงว่าทำอย่างไรเราถึงจะรวย แต่ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิของประชาชน”

อีกส่วนหนึ่งจะต้องมีการแก้ไขกติกาที่สอดคล้องกับยุคสมัย เนื่องจากในอดีตประเทศไทยยังมีอำนาจต่อรองน้อย จึงสร้างกติกาที่ไม่เป็นสากล เกิดช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือประเทศไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ กรณีที่รัฐบาลอ้างว่าหากไม่เปิดสัมปทานโดยเร็วจะส่งผลให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมล่าช้า ซึ่งอดีต รมว.คลัง ชี้ว่า การที่รัฐบาลสำรวจชั้นดินไม่ได้สร้างความล่าช้าในกระบวนการดังกล่าว เพราะหากเปิดสัมปทาน ภาคเอกชนที่เข้าดำเนินการก็จะต้องมีการสำรวจเช่นเดียวกัน แต่หากรัฐบาลเป็นผู้สำรวจจะทำให้มีข้อมูลและอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนั้นรัฐบาลก็สามารถที่จะออกพระราชกำหนดให้มีการบริหารจัดการในลักษณะต่างๆ ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระบบจ้างผลิตหรือระบบแบ่งปันผลประโยชน์

“มันมีอยู่ 3 แปลง ที่ภาคข้าราชการบอกว่ามีศักยภาพ เพราะเคยสำรวจแล้วเจอ ซึ่งขณะนั้นยังไม่คุ้มที่จะทำในเชิงพาณิชย์ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยน ก็ดูเหมือนจะคุ้ม ทางภาคประชาชนก็เลยบอกว่า 3 แปลงนี้ทำไมรัฐไม่สำรวจก่อนเดี๋ยวนี้เลย ออกเงินเอง เอาแค่ชั้นดินขึ้นมา แล้วจะมีบริษัทระดับโลกคอยวิเคราะห์ พอเสร็จแล้วก็เอาขึ้นเว็บ หลังจากนั้นก็เชิญชวน แม้แต่จะออกเป็นสัมปทานคนก็จะมาเยอะ หรือแม้แต่ขุดให้ถึงและมีแน่ๆ แล้วเราแค่จ้างผลิต ก็ยังได้อีก เพราะอำนาจต่อรองของรัฐมีสูง

“วิธีนี้ไม่ได้ทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 21 ล่าช้า เพราะต่อให้เปิดสัมปทาน ภาคเอกชนที่เข้ามาก็จะทำแบบเดียวกัน โดยคนที่ได้สัมปทานก็ต้องไปว่าจ้างบริษัทให้มาขุดสำรวจแบบเดียวกัน แทนที่รัฐบาลจะจ้างมาเอง”

หากภาครัฐเป็นผู้สำรวจจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลหรือไม่? ธีระชัยตอบชัดเจนว่า “กรณีนี้ไม่เยอะ มีคนบอกมาว่าหลุมพวกนี้ เพื่อที่จะทดสอบชั้นดิน ต้นทุนต่อหลุม 2-3 ล้านเหรียญ ถ้ามาบนบกก็ 5 ล้านเหรียญ ต้นทุนไม่เยอะ ซึ่งเรากำลังเน้นการสำรวจเบื้องต้นเฉพาะใน 3 แปลง ที่เขาบอกว่ามีศักยภาพ ฉะนั้นโอกาสจะเจอมีอยู่สูงมาก เขาก็บอกเช่นนั้น ส่วนอื่นๆ ที่เจาะแล้วมันจะเจอหรืออาจจะไม่เจอก็เก็บไว้ก่อนได้”

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เปิดสัมปทานในระยะที่ผ่านมามีวาระซ่อนเร้นในเชิงผลประโยชน์หรือไม่ ธีระชัยอธิบายว่า ในระบบสัมปทาน ผู้ยื่นขอสัมปทานจะต้องเสนอราคาให้กับภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อให้คะแนนกับผู้ยื่นขอสัมปทานแต่ละราย ซึ่งกลไกนี้มีข้อกังขาถึงความโปร่งใส เพราะการตัดสินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ อีกทั้งยังมีการต่อรองกับผู้ยื่นขอสัมปทานในแง่ที่สร้างประโยชน์สูงสุดต่อรัฐจริงหรือไม่

“เรื่องนี้ทำให้ประชาชนเกิดความกังวล ภาคประชาชนในเมืองไทยจึงเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งแนะนำให้รัฐบาลสำรวจในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็ให้บริษัทที่สนใจเข้ามาประมูล ในขั้นตอนนี้ก็จะมีการประเมินว่าคุณจะแบ่งให้รัฐเท่าไหร่ ใครให้มากสุดก็เอาไปเลย ให้เอกชนเสนอ พอทำอย่างนั้นประชาชนก็มั่นใจได้ว่าไม่สามารถลำเอียงให้ใครได้เป็นพิเศษ และรัฐก็จะได้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ธีระชัยยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะใช้ระบบดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยมีทุนที่จะทำการสำรวจในเบื้องต้น ซึ่งไม่คิดว่าจะเสียเปล่า เพราะการสำรวจในพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะยิ่งสร้างความสนใจและอำนาจในการต่อรองของประเทศ ขณะที่ผ่านมาให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม แต่เมื่อขุดไปแล้วก็ไม่พบ กลับนำมาหักออกจากค่าใช้จ่ายในแหล่งปิโตรเลียมเดิมที่บริษัทต่างชาตินั้นขุดเจาะอยู่ เรื่องนี้จึงสร้างความไม่เป็นธรรม

“กลายเป็นเราไปทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มันไม่ควรจะเกิด แล้วก็มาหักจากรายได้ที่เราควรจะได้ เพราะฉะนั้นการสำรวจก่อนเบื้องต้น ผมดูแล้วมันน่าจะดีทั้งในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพและไม่มีศักยภาพ เพราะถ้าพบว่าพื้นที่ไหนไม่มีศักยภาพก็อย่าไปยุ่งกับมัน แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีศักยภาพ จะทำให้มีอัตราการต่อรองสูงขึ้นแน่นอน

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราแนะก็คือให้มีการสำรวจเบื้องต้น ไม่ต้องไปทำทั่วประเทศ เอาเฉพาะพื้นที่รอบๆ ในแหล่งที่มีอยู่แล้ว เพราะเป็นแหล่งที่ผลิตอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงที่จะเจอตามหลักธรณีวิทยา”

อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมจะต้องมีการกำกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องยึดความโปร่งใส ควบคู่ไปกับการเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ จะสร้างกลไกที่เป็นธรรมโดยอัตโนมัติ

“ผมคิดว่าอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นองค์กร แต่อาจจะเป็นรูปแบบคณะกรรมการตามกฎหมายที่จะเขียนเพิ่มลงไป ซึ่งภาคประชาชนจะมีสิทธิเข้าร่วมได้อย่างไร ถ้าเขาตั้งคำถามแล้วยังไม่ได้คำตอบ ก็ขอให้มีคนกลางเข้ามาช่วย เป็นไปได้ไหมว่ามีการจ้างสถาบันศึกษาเข้ามาเสริม”

ควรจะต้องมีองค์กรที่เข้ามาควบคุมกลไกราคาที่จะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่? ธีระชัย กล่าวว่า จุดนี้มีแน่ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงาน โดยเฉพาะการกำหนดกติกาที่ไม่เปิดให้มีการแข่งกันเต็มที่ รัฐกลายเป็นผู้กำหนดสูตรในทุกเรื่อง แต่ก็เกิดคำถามว่าสูตรต่างๆ นั้นเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือไม่

“ส่วนที่หนึ่ง ตอนแปรรูปแล้ว รัฐจะต้องแบ่งออกมาแล้วเป็นธุรกิจขนาดย่อม ก่อให้เกิดการแข่งขันในระดับหนึ่ง นั่นแหละถึงจะถูกต้อง แต่ว่าเราไม่ได้ทำ และเมื่อไม่ได้ทำกลายเป็นว่าเราจะต้องมีการกำหนดสูตรเพื่อควบคุมอะไรได้ เราจะบอกให้บริษัทพลังงานใหญ่เกินไปไม่ได้ จะต้องแยก

“ส่วนที่สอง ในเมื่อมันยังแก้อะไรไม่ได้มาก ระหว่างนี้ก็เชิญภาคตัวแทนของประชาชนเข้าไปร่วมพิจารณาการกำหนดกติกาต่างๆ ให้เขาสามารถที่จะถกเถียงได้ โดยมีคนกลางที่จะคอยรับฟัง แล้วหาข้อสรุปออกมาในลักษณะที่ดีกับประเทศ อย่างนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาในลักษณะหนึ่ง อย่าลืมว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์สินธรรมชาติ”

ปฐมบทร่วมวงค้านสัมปทาน

ความโดดเด่นของ “ธีระชัย” ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญพลังงาน ทว่าเส้นทางชีวิตเติบโตมาจากงานบริหารในวงการการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ปิโตรเลียม”

“ผมถูกฟ้อง มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งดูโทรทัศน์อยู่ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ของบริษัท ปตท. พูดในรายการโทรทัศน์ว่า ท่อก๊าซในทะเลไม่ใช่สาธารณสมบัติ ผมก็ฉุกใจคิดว่าท่อน่าจะเป็นสาธารณสมบัติ เพราะการวางท่อใช้อำนาจรัฐ ผมก็เลยเขียนวิจารณ์ไป พอเผยแพร่ไปก็โดนปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท.ฟ้อง

“ผมก็เลยต้องต่อสู้คดี พอเตรียมไปเตรียมมาก็มีคนส่งข้อมูลให้เยอะมาก ก็เลยเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เลยเขียนต่ออีกจนมีคดีเพิ่มอีก 3 คดี แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะทำให้เราได้เห็นเพิ่มเติม จึงหนีไม่พ้นที่เราจะต้องเข้าร่วมขบวนการนี้โดยอัตโนมัติ” อดีต รมว.คลัง เผยที่มาของการเริ่มขับเคลื่อนประเด็นพลังงาน

ธีระชัย เล่าว่า จุดพลิกผันเกิดจากระยะเวลาที่ใกล้จะต้องเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้มีการหารือกับ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ว่าจะมีการส่งจดหมายเปิดผนึกให้กับนายกรัฐมนตรี โดยจัดทำเป็นแนวคิดของตนและ ม.ล.กรกสิวัฒน์ แต่ปรากฏว่า ม.ล.กรกสิวัฒน์ เข้าหารือกับ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งวิจารณ์ว่าหากจะร่วมเสนอจดหมายเปิดผนึกเพียง 2 คน จะไม่สร้างแรงสะเทือนเท่าใดนัก ถ้าอยากให้มีผลจะต้องร่างให้เป็นแนวทางอย่างชัดเจน พร้อมกับลงชื่อสนับสนุนโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“หลังจากนั้นเลยลองยกร่าง พบว่าหลายๆ คนก็อยากจะเซ็นด้วย แม้กระทั่งอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็บอกว่าตรงกับแนวคิด แต่ก็ยังไม่เซ็น เพราะต้องขอแก้บางจุดก่อน แล้วเอาให้ทุกคนดู จนเมื่อทุกคนเซ็นชื่อแล้ว จุดนั้นเองเป็นจุดที่พลิก ซึ่งผมอยู่ในขบวนการก่อนหน้านี้แล้ว พออภิสิทธิ์เข้ามาเลยมีผลกระทบในวงกว้าง จนทำให้ท่านประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) เปิดให้มีเวที”

การที่อดีต รมว.คลัง ออกมาเคลื่อนไหวในวาระสำคัญของประเทศเป็นเพราะ “อกหัก” จากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ธีระชัยตอบคำถามนี้ว่า “ผมไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ ส่วนเรื่อง ปตท.ก็มาจากการที่ผมถูกฟ้อง ไม่เกี่ยวกับเรื่องอกหักเลย ซึ่งการที่ผมจะเอาตัวรอดในศาลได้ จำเป็นต้องมีความรู้อย่างเต็มที่ มันก็ชัดเจน

“ตอนผมเป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้ไม่ได้โผล่ขึ้นมา ไม่ได้มีการให้สัมปทานในยุคที่ผมเป็นรัฐมนตรี”

ธีระชัยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดจะเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว เมื่อก่อนที่มีตำแหน่งก็เข้าไปในฐานะนักวิชาการ ตอนแรกได้รับการทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีช่วย เน้นประชุมในแง่ของวิชาการ เพราะฉะนั้นจนบัดนี้ความสนใจทางการเมืองก็จะติดตาม แต่มองจากแง่มุมของนักวิชาการเป็นหลัก

ขณะที่วงอภิปรายถึงระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมยังไม่สิ้นสุด ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญที่ชะลอการเปิดสัมปทานของรัฐบาล จะผลักดันวาระดังกล่าวไปในทิศทางใด ซึ่งธีระชัยบอกปิดท้ายว่า “เวลานี้มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาโดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล แม้ท่านจะติดต่อมา แต่ผมก็ต้องขอตัวก่อน เพราะผมคิดว่าได้ผ่านการต่อสู้บนเวทีในฐานะนักวิชาการแล้ว ผมทำส่วนนั้นครบถ้วน ต่อจากนี้ไปเป็นส่วนของกระบวนการแก้กฎหมาย ผมก็จะให้ข้อมูลผ่านบุคคลที่เป็นคณะกรรมการ แต่ถ้าให้ผมเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จุดนี้ผมไม่สนใจแล้ว”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกสูตรจัดการปิโตรเลียม สร้างกติกา ยึดผลประโยชน์ชาติ

view