สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมจึง ชอบ กลไกตลาดเสรี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อไม่นานมานี้บริษัทหลักทรัพย์ภัทรจัดสัมมนาเพื่ออธิบายการคาดการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มตลาดทุนให้กับลูกค้า

ดังเช่นเคยทุกต้นปีและได้มีลูกค้ามาพูดคุยหลังการสัมมนาและตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมผมจึงชอบอิงกลไกตลาดเสรีในทำนองว่ากลไกตลาดดียังไง จึงมักจะเสนอให้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตไปแข่งขันกันซื้อ-ขายและเชื่อว่าผลที่ออกมานั้นจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด


คำตอบคือทรัพยากรในโลกนี้มีจำกัดหรือมองอีกด้านหนึ่งคือความต้องการของมนุษย์มีกว้างขวางมากเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่จะตอบสนองได้ คนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการบ้านที่อยู่อาศัยหรือหากมีที่อยู่แล้วก็อยากมีบ้านหลังที่ใหญ่ขึ้น อยากมีรถยนต์หรือหากมีแล้วก็อยากมีรถยนต์ที่ใหญ่กว่าและดีกว่าหรืออยากมีรถยนต์เพิ่ม 1-2 หรือ 3 คันและอาจอยากมีจักรยานยนต์หรือเรือหรือเครื่องบินส่วนตัวด้วยหากเป็นไปได้ แต่ทรัพยากรของโลกมีจำกัดไม่สามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนต้องการได้ จึงต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้าและบริการบางชนิดในจำนวนที่จำกัด ซึ่งหมายความว่าสินค้าและบริการอีกหลายชนิดก็จะไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาแม้จะมีคนอยากได้ก็ตาม


กลไกตลาดเสรีนั้นจะผลิตสินค้าและบริการที่มีความต้องการจริง (effective demand) กล่าวคือจะต้องมีเงินซื้อจึงจะมีการผลิตมาขายให้ ซึ่งจะถูกโต้แย้งทันทีว่ากลไกตลาดเสรีก็จะตอบสนองแต่ผู้ที่มีเงิน (คนที่ร่ำรวย) แต่คนที่ยากจนไม่มีเงินก็จะไม่สามารถได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากกลไกตลาดเสรี จึงมีการเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวยเพื่อให้รัฐบาลนำเอาเงินดังกล่าวไปให้คนยากจนโดยตรงและ/หรือจัดหาสินค้าและบริการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่น การให้บริการรถโดยสารและรถไฟฟรีกับประชาชน เป็นต้น


ดังนั้น “จุดอ่อน” ของกลไกตลาดเสรีคือจะจัดสรรทรัพยากรมาผลิตเป็นสินค้าและบริการตามความต้องการของเจ้าของทรัพยากร ดังนั้นหากทรัพยากร (หรืออีกนัยหนึ่งคืออำนาจเงินที่จะเรียกใช้ทรัพยากร) ถูกกระจายไปอย่างไม่เป็นธรรมคือมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูง กลไกตลาดก็จะตอบสนองโดยการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรวยเพียงไม่กี่คนและจะผลิตสินค้าจำเป็นในจำนวนไม่มาก แม้ว่าจะมีคนจนที่ต้องการใช้สินค้าดังกล่าวจำนวนมาก เป็นต้น


ดังนั้นจึงเกิดถามว่าทำไมจึงไม่ให้รัฐบาลหรือราชการเข้ามาควบคุมการจัดสรรทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศ คำตอบคือได้มีความพยายามทำเช่นนี้แล้วในระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งโจมตีความไม่เป็นธรรมของระบบนายทุนนิยมมานานเกือบ 50 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในที่สุดระบบคอมมิวนิสต์/สังคมนิยมก็พ่ายแพ้ระบบทุนนิยม/ตลาดเสรีไปในที่สุด เพราะกลไกตลาดเสรีจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากกว่า


ที่เขียนมาทั้งหมดนี้อาจจะไม่รู้สึกคล้อยตาม (แม้จะเป็นความจริงทั้งหมด) เพราะเขียนดูเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ดังนั้นผมจึงจะขอยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือการฝากลูกเข้าโรงเรียนประถมหรือมัธยม ซึ่งผู้ปกครองทุกคนจะพยายามใช้ทรัพยากรและความสามารถอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ลูกของตนได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุดซึ่งมีจำนวนจำกัดมาก การแย่งชิงเพื่อ “ซื้อ” การศึกษาให้กับลูกจึงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก แต่เนื่องจากทางการกำหนดเพดานไม่ให้ค่าเทอมสูง (โดยมีเจตนาดีในการดูแลผลประโยชน์ของผู้ปกครอง) จึงเสมือนกับการไม่ยอมให้กลไกตลาดเสรีจัดสรรทรัพยากรที่มีค่าสูงนี้ ซึ่งดังที่เราทราบกันดีว่ากลไกที่มาจัดสรรแทนกลไกตลาดมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การอาศัย “เส้นสาย” หรือผู้ใหญ่ฝากให้หรือเป็นญาติมิตรกับคุณครู (หรือครูใหญ่) หรือการจ่ายเงินทางอ้อม (เงินแปะเจี๊ยะ) ที่แม้จะพยายามกำจัดอย่างไรก็กำจัดไม่ได้ คำถามคือการจัดสรรทรัพยากรโดยกลไกอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลไกตลาดเสรีนั้นเป็นแนวทางที่ดีกว่าหรือไม่ ผมคิดว่าคำตอบคือ “ไม่” เพราะผมเชื่อว่าความพยายามในการฝากลูกเข้าเรียนชั้นประถมมัธยมนั้นคงจะค่อนข้างเป็นประสบการณ์ที่หลายคนไม่อยากพบเจอบ่อยนักในชีวิต


แล้วกลไกตลาดเสรีจะดีกว่าอย่างไร หากปล่อยให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงว่ามีคุณภาพกำหนดค่าเล่าเรียนได้ตามอุปสงค์ก็คงจะมีการปรับค่าเทอมสูงมากเท่ากับค่าแปะเจี๊ยะบวกค่าเสียเวลาเพื่อฝากฝังลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังกล่าว แต่จะเป็นเพียงการเปิดเผยให้สาธารณชนได้ “เห็น” ค่าเทอมที่แท้จริงของโรงเรียนดังกล่าวจึงจะทำให้เกิดความโปร่งใสของ “ค่าเทอม” ของแต่ละโรงเรียน ทำให้กระทรวงศึกษาจะได้รับข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการศึกษา


ผมเชื่อว่าโรงเรียนที่ “ดี” นั้นเป็นเพราะคุณครูสอนเก่งมีความรู้ดี ดังนั้นหากค่าเทอมสูงก็น่าจะส่งผลให้เงินเดือนของคุณครูถูกปรับสูงขึ้นด้วย แต่ในระบบปัจจุบันที่มีการ “ฝาก” กันเข้าโรงเรียนหรือเรี่ยไรเงิน “พิเศษ” เพื่อสร้างตึกใหม่หรือเพื่อกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนการเก็บเงินค่าเทอมเพิ่มนั้น ผลประโยชน์จะตกไปสู่คุณครูได้น้อยกว่า


บางคนอาจแย้งว่าหากปล่อยให้เสรีก็จะมีบางโรงเรียนที่ค่าเทอมสูงมาก ทำให้มีแต่ลูกคนรวยเข้าเรียนและหลายโรงเรียนที่เก็บค่าเทอมได้น้อย ทำให้คุณภาพการสอนไม่ดีขึ้น (หรือต้องปิดตัวลง) และลูกคนรายได้น้อยหลายคนก็จะไม่ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนดี คำตอบคือผมไม่ได้บอกว่ากลไกตลาดเสรีจะตอบโจทย์ทั้งหมด แต่สมมุติว่าโรงเรียน “ดี” ที่ราคาแพงจะรับแต่ลูกคนคนรวยก็อาจเจอปัญหาว่าเมื่อเด็กนักเรียนไม่เก่ง (แต่เข้ามาได้เพราะพ่อ-แม่รวย) โรงเรียนดังกล่าวก็จะสูญเสียชื่อเสียงว่าเป็นโรงเรียน “เก่ง” จึงน่าจะเป็นไปได้สูงว่าโรงเรียนดังกล่าวจะหาทุนให้นักเรียนเก่งแต่ผู้ปกครองไม่ร่ำรวยเข้ามาเรียนด้วย บางโรงเรียนจะมีปัญหาแข่งขันไม่ได้ ก็อาจต้องปิดตัวลง แต่น่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่โรงเรียนซึ่งมีคุณภาพและชื่อเสียงดีจะเข้าไปซื้อกิจการ กล่าวคือโรงเรียนดีก็จะมีกำไรและมีแรงจูงใจที่จะขยายกิจการการเปิด “สาขา” ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรับค่าเทอมเพิ่มขึ้นได้ก็จะสามารถจ่ายเงินเดือนครูสูงขึ้น ทำให้มีคนต้องการเป็นครูเพิ่มขึ้นด้วย


สำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำนั้นแนวทางแก้ไขเพื่ออิงกับกลไกตลาดเสรีคือการให้รัฐบาลมีระบบการแจกคูปองการศึกษาให้กับผู้ปกครองเพื่อนำไปชำระค่าเทอมได้ทุกโรงเรียน การนำเอาอำนาจซื้อไปอยู่กับผู้ปกครองจะทำให้โรงเรียนต้องหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองที่ต้องการให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแทนการที่โรงเรียนจะให้ความสำคัญสูงสุดกับกระทรวงศึกษาในฐานะผู้ที่คุมงบประมาณ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาฯก็ยังจะเป็นผู้ที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดหลักสูตรและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไมจึงชอบ กลไกตลาดเสรี

view