สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงทุนของญี่ปุ่นใน AEC

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง

โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศหนึ่งที่โลกจับตามองในการให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

เมื่อไม่นานมานี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหารือทวิภาคีกับรัฐบาลญี่ปุ่น

โดยมีวัตถุ ประสงค์ในการผลักดันความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นร่วมกัน โดยได้มีข้อตกลงในการลงนามทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน อาทิ การลงนามในการพัฒนาระบบรางรถไฟของไทย การลงนามในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในสหภาพพม่า อีกทั้งรัฐบาลไทยยังได้หารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ พิเศษตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงและเป็น ศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค



จึงเป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจและเป็นการเปิดโอกาสสำหรับธุรกิจเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มมากขึ้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงการลงทุนของญี่ปุ่นในบรรดาประเทศอาเซียน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นั้น ได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงเศรษฐกิจประสบปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาว จึงได้ออกนโยบายชื่อ Abenomic เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้น Nikkei มีแนวโน้มเชิงบวก แต่ในปี 2013 ญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินอ่อนตัวลง ส่งผลให้อำนาจในการซื้อลดลง สาเหตุมาจากภายใต้นโยบาย Abenomic ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จึงได้มีแผนการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยเน้นการส่งเสริมรายได้ด้วยการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ (FDI) ทั้งนี้ ได้มีจุดประสงค์ในการลงทุนในต่างประเทศ (FDI) ในระยะยาว เพื่อเพิ่มอัตราการค้าให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 19% เป็น 70% ภายในปี 2018 ทำให้ประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านการลงทุนจากญี่ปุ่น

การเปิดประชาคมอาเซียนในปี2558 ก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคทั้ง 10 ประเทศประมาณ 617 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดรองจากประเทศอินเดียและจีน อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนทำให้การค้าภายในภูมิภาคนั้นมีความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น ก็คือการเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในหมู่เกาะ Senkaku

ไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นมาโดยตลอด สัดส่วนในการเข้ามาลงทุนในไทย โดยญี่ปุ่นมากเป็นอันดับที่ 1 ในประเทศอาเซียน เนื่องมาจากไทยมีความพร้อมด้านฐานการผลิต แรงงาน และคุณภาพ บริษัทญี่ปุ่นจึงเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยานยนต์ อีกทั้งญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในการเข้ามาร่วมมือของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเน้นด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และด้านเกษตรกรรม ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนมีจำนวนมากกว่า 300 กิจการ

สำหรับมาเลเซียได้รับการสนับสนุนในการลงทุนและพัฒนารถไฟความเร็วสูง อีกทั้งญี่ปุ่นให้การสนับสนุนกับลาวและเวียดนามในด้านการขนส่งทางสนามบิน

ส่วนธุรกิจภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการเข้าไปลงทุนในกลุ่มสมาชิกในประเทศอาเซียน อาทิ การเข้าไปลงทุนธุรกิจสิ่งทอในประเทศพม่า และการเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาอีกด้วย

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้ออกนโยบายชื่อ Cool Japan โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยการนำวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนในการผสมผสานของตัวผลิตภัณฑ์ในสินค้าอุปโภคบริโภค พร้อมกับให้เงินสนับสนุนประมาณ 590 เหรียญสหรัฐ สำหรับธุรกิจภาคเอกชนที่มีขนาดกลางถึงขนาดเล็กของประเทศอาเซียน ที่สนใจในการออกไปลงทุนในญี่ปุ่นในสินค้าอุปโภคบริโภคอีกด้วย

สำหรับการสนับสนุนของญี่ปุ่นนั้น ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในกลุ่มสมาชิกในประเทศอาเซียน อาทิ ด้านแหล่งเงินทุน ทำให้ประเทศในอาเซียนมีความแข็งแกร่งในด้านเงินทุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมประเทศในอาเซียนในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องการขนส่ง ทำให้สามารถติดต่อประสานงานในด้านการค้าได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศในอาเซียนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดอุปสรรคในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมจะส่งผลดีให้กับกลุ่มสมาชิกในประเทศอาเซียน แต่การรุกคืบไปเรื่อย ๆ ของญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบให้กับธุรกิจของไทยเราได้ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังหันเข้าไปลงทุนธุรกิจยานยนต์ในกัมพูชา จึงอาจส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งทางการตลาดได้

ไทยยังคงเป็นเป้าหมายหลักของญี่ปุ่นในการเข้ามาลงทุน และการเข้ามาควบกิจการในภาคบริการ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการเงินและประกัน สำหรับภาพรวมของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้น เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ในขณะนี้ก็คือ ปัญหาทางด้านการเมืองที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจ ซึ่งไทยประสบปัญหาทางด้านการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน

หากไทยสามารถแก้ปัญหาการเมืองนี้ไปได้ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในการเข้ามาลงทุนของไทยในระยะยาวต่อไปได้ ก็จะเป็นการดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงทุนของญี่ปุ่น AEC

view