สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปลี่ยนผลงานวิจัย ให้เป็นรายได้

เปลี่ยนผลงานวิจัย ให้เป็นรายได้ เปลี่ยนผลงานวิจัย ให้เป็นรายได้
โดย : จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ แนวคิดในการเปลี่ยนผลงานวิจัยให้เป็นรายได้ เริ่มเป็นกระแสที่มีการอภิปรายและพูดถึงกันมากขึ้น

หลายสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะที่เรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยวิจัยนั้น ยังอาจติดกับดักในวงจรของการวิจัย (Research cycle) และไม่อาจหลุดพ้นหรือจูงใจให้นักวิจัย ขยายขอบเขตของโจทย์วิจัย ไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เท่านั้น หากแต่ให้ทำวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) หรือการพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมใช้ให้มากขึ้น จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดกับชุมชน แก้ปัญหาทางสังคม และกลายเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด

 นโยบายควรขยายไปสู่การผลักดันความรู้ความก้าวหน้าจากรั้วมหาวิทยาลัยไปใช้ทำประโยชน์ให้กับสังคมและสาธารณะ ไม่ว่าจะในรูปแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน หรือการสร้างความร่วมมือวิจัยกับภายนอกที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดจนนำไปสู่การเป็นแหล่งรายได้ใหม่กลับมาที่มหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยโดยลำพังอาจจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ยาก หรือเป็นไปได้ช้า หากไม่ทำงานใกล้ชิดกับเอกชนที่มีทั้งทุนที่มาก และเพียบพร้อมด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ

 แนวคิดที่เรียกว่า “University Enterprise” หรือกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยวิจัยซึ่งถือได้ว่ามีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพความพร้อมที่จะคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ พยายามที่จะคัดสรรและผลักดันผลงานวิจัยที่ดีมีคุณค่า ฝ่าด่านการลงทุนขยายผลให้ไปสู่การสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบองค์กรที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และทำงานในความเร็วที่ใกล้เคียงกับเอกชน ซึ่งประสบความสำเร็จและทำได้ในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ อาทิ Cambridge Enterprise (ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร) NUS Enterprise (ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์) หรือ TODAI TLO Ltd. (บริษัทบริหารทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยโตเกียว)

 หรือการส่งเสริมให้นักวิจัยก้าวข้ามผ่านความกลัวในเชิงธุรกิจ นำผลงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและสามารถของมหาวิทยาลัย ไปผลิตเป็นสินค้าออกสู่ตลาดผ่านการจัดตั้งเป็นบริษัท (Start-up company) โดยมีกลไกการลงทุนที่เกื้อหนุน ไม่ว่าจะมาจากกองทุนร่วมทุน (Venture capital fund) นักลงทุนสายตาไกล (Angel investor) หรือการมีพระราชบัญญัติอะไรสักอย่างจากรัฐบาล ให้มหาวิทยาลัยสามารถระดมทุนหรือจัดตั้งกองทุนส่งเสริมงานวิจัยให้กลายเป็นธุรกิจเทคโนโลยี เหมือนกับนโยบายของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปสู่เชิงพาณิชย์นั้น จะพิจารณาตามลำดับดังนี้ (1) การส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิจัยนำผลงานไปสู่การทำธุรกิจด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบริษัทจัดตั้งใหม่ (Start-up) หรือการแยกตัวออกไปเป็นหน่วยธุรกิจ (Spin-off) ถ้าเป็นไปไม่ได้จึงจะพิจารณาลำดับที่ (2) การไลเซ่นผลงานให้กับบริษัทในประเทศ (Local company) ถือเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ถ้าเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงจะดำเนินการในลำดับที่ (3) คือไลเซ่นให้กับบริษัทต่างชาติ

 ในขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีปัญหาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ผูกตัวเองกับการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์สินค้าชั้นนำจากทั่วโลกมานานนับหลายทศวรรษ จนมีศักยภาพและทักษะความสามารถในการผลิตที่สั่งสมต่อเนื่องกันมาเทียบชั้นระดับโลก ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลมามากมาย แม้ว่าจะมองเห็นกราฟส่วนต่างของกำไรแคบลงทุกที ในขณะที่ปริมาณความต้องการผลผลิต (คำสั่งซื้อของลูกค้า) ก็น้อยลงเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตอันเนื่องมาจากค่าแรงงานที่สูงขึ้น การเปลี่ยนนโยบายของเจ้าของแบรนด์สินค้า ที่ต้องการลดความเสี่ยงด้วยการเพิ่มผู้รับจ้างผลิตมากกว่าหนึ่งราย หรือการมีฐานการผลิตในหลายประเทศตามความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาเชื้อเพลิงทั้งเพื่อการขนส่งและการผลิต

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ พยายามหันมาวิจัยและพัฒนาสินค้าของตัวเอง หวังสร้างผลกำไรจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มากกว่าจะฝากชีวิตไว้กับสินค้าที่มีกำไรน้อย ที่ต้องขายให้ได้ในปริมาณที่มากๆ ความพยายามที่เรียกว่า “ขอเหนื่อยหนักครั้งเดียว ทุ่มเทสติปัญญาและความสามารถเต็มที่ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง” จึงเป็นทางออกของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่จะต้องไปให้ได้ จึงไม่แปลกที่องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย เริ่มปรับโครงสร้าง เปลี่ยนวัฒนธรรม สรรหาบุคลากรระดับปริญญาโท-เอก และลงทุนสร้างศูนย์วิจัยกันมากขึ้น

แนวคิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในฝั่งเอกชนที่เรียกว่า “Corporate University” หรือการที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่รายใดรายหนึ่ง ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลงทุนขยายภารกิจแค่ฝึกอบรมและพัฒนาคนของตนเอง ให้กลายมาเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่สามารถให้ดีกรี (วุฒิการศึกษา) ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติในสภาพการทำงานจริง ใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือจริง มีความพร้อมทำงานทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษา ก้าวต่อไปของบริษัทเอกชนชั้นนำในไทยเหล่านี้คือ การลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาของตนเอง (บางบริษัทอาจไปไกลถึงขนาดสร้างมหาวิทยาลัยวิจัยของตนเอง) เพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าแค่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป

 เอกชนปรับตัวทำอะไรได้ง่ายกว่า การขยายแนวคิดจากแค่ทำการค้า มาสู่การค้นคว้าวิจัย จึงเอื้อมมือไปได้ไกลมาก บางแห่งเดินเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย แต่บางมหาวิทยาลัยยังเหนียมไม่กล้าจับมือ หรือจับแบบหลวมๆ ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง น่าที่จะทำให้มีโอกาสผสานมือร่วมกันทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization) ได้มากขึ้น

 เมื่อใดที่มหาวิทยาลัยภาครัฐ เอื้อมมือของตัวเองออกมานอกรั้ว ไปในทิศทางที่จะนำปัญญามารับใช้สังคมมากขึ้น โดยกล้าออกนอกกรอบความคิดหรือกับดักจากกฎระเบียบของตัวเอง ก็มีโอกาสที่จะเจอกับภาคเอกชนที่ออกนอกกรอบความคิดของตัวเองแล้ว ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม จะทำให้เกิด Technology Start-up Company มากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย ได้ขยับสัดส่วนรายได้ของประเทศให้มาจากผลผลิตประเภทเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปลี่ยนผลงานวิจัย เป็นรายได้

view