สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

MAS และ PBOC ทำอะไร

MAS และ PBOC ทำอะไร

โดย :

MAS และ PBOC ทำอะไร
โดย : เสถียร ตันธนะสฤษดิ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมได้พบท่านผู้อ่านซึ่งติดตามบทความของผมเป็นประจำท่านหนึ่งได้กรุณาให้ความเห็นกับผมว่า เดือนที่แล้ว “ยากไปนิดนึง” อ่านไปต้องปรึกษา “อากู๋” ไป

ก็เลยต้องปรับปรุงเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ ต้องพยายามทำให้มันง่ายขึ้นอีก ดังนั้นท่านผู้อ่านท่านใดอ่านแล้วรู้สึกหงุดหงิดว่ามันง่ายไป ก็อาจต้องทำใจสักเล็กน้อยนะครับ เมื่อกลับมาทบทวนดูแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บทความที่ผมเรียนเสนอท่านผู้อ่านก็มีสลับกันไป ยากมาก ยากน้อย นะครับ แต่ใคร่จะตั้งข้อสังเกตุสักเล็กน้อยว่า อันไหนที่ยากนั้นมักจะตามมาด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามที่ได้คาดไว้ ดังนั้นหากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความไหนของผม และต้องปรึกษา “อากู๋” ก็โปรดระลึกไว้ด้วยว่าไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่เรียนไว้มันจะเป็นจริงนะครับ

เดือนที่แล้วได้บอกท่านผู้อ่านไปแล้วว่า Swiss National Bank (SNB) ทำอะไร ประเด็นหลัก ก็คือ SNB “ยอม” ปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเห็นว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำนั้นน่าจะส่งผลกระทบในทางลบในระยะต่อไปต่อสังคมเศรษฐกิจของตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับอีก 2 ธนาคารกลางที่อยู่ในเอเชีย คือ ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore; MAS) และธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China; PBOC) ก็เช่นกันเมื่อเห็นว่าการดำเนินนโยบายในปัจจุบันอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะเวลาต่อไป ทั้งสองธนาคารก็ได้ปรับตัวเพื่อ “ป้องกัน” ไม่ให้ผลกระทบไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้น ประเด็นหลัก คือ ธนาคารกลางเหล่านั้นจะไม่รอให้ผลลบนั้นเกิดขึ้นก่อน แต่กลับ “ชิงลงมือ” เพื่อจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น หรือก็เป็นการบรรเทาผลกระทบเหล่านั้นให้มีน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ PBOC, MAS หรือ SNB ซึ่งได้เรียนไปในเดือนที่แล้วนะครับ

เรามาพิจารณาดูกรณีของ PBOC และ MAS กันเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยนะครับ ขอเริ่มที่ MAS ก่อนนะครับ สิงคโปร์โดย MAS นั้น ไม่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของทางการ (Benchmark Rate หรือ Policy Rate) แต่เขาจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เมื่อใดก็ตามหากต้องการหยุดความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจโดยรวม MAS ก็จะเข้ามา “จัดการ” ให้เงินสิงคโปร์ดอลล่าร์มีค่าค่อนไปทางแข็งค่า ในทางตรงกันข้ามหากต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเห็นว่ามีภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ เขาก็จะ “จัดการ” ให้เงินของเขามีค่าค่อนไปทางอ่อนค่าลง ขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมสักเล็กน้อยนะครับเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น การ “บริหารจัดการ” ดังกล่าว MAS กระทำโดยการเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง โดยปกติตลาดจะมีการ “รับรู้” อยู่ว่า MAS ต้องการให้เงินของตนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงความเคลื่อนไหวระหว่างใด (Policy Band) หากเมื่อใดก็ตามหากเงินสิงคโปร์เคลื่อนไหวออกนอกกรอบดังกล่าว ตลาดก็จะรู้ทันทีว่า MAS ได้ “เปลี่ยน” Policy Band ดังกล่าวแล้ว Policy Band ดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศให้สาธารณะรับทราบ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใน Policy Band ก็จะไม่มีใครทราบ จนกระทั่งมีการ “เซอร์ไพรส์” ตลาดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นและเซอร์ไพรส์ตลาดการเงินก็เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม เมื่อ MAS “ยอม” ให้เงินของตัวเองอ่อนลงมาอยู่ที่ประมาณ1.35สิงค์โปร์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับนี้เป็นระดับที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2010 ข้อเท็จจริง ก็คือ เงินสิงค์โปร์ได้อ่อนมาโดยลำดับในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากระดับประมาณ 1.25 ดอลล่าร์/ดอลล่าร์สหรัฐ ก่อนที่ MASจะเข้ามา “จัดการ” ดังกล่าวข้างต้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบเศรษฐกิจของสิงค์โปร์ก็ยังไม่ได้ตกอยู่ในภาวะเงินฝืดอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่า MAS เห็นว่า ในปี 2015 นี้ เขาเชื่อว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อจะลดลงประมาณ 0.5% ดังนั้นจึงต้องชิงลงมือก่อนด้วยการปรับนโยบายดังกล่าวก่อน และที่เรียกว่าชิงลงมือนั้นก็ไม่ได้เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เพราะเป็นการกระทำนอกกรอบเวลาการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งกำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2001

ลองมาทบทวนด้าน PBOC บ้าง เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์นี้เอง PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตนเองลงมา 0.25 % เป็นการลดลงครั้งที่สองในรอบสามเดือน (ครั้งก่อนเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว) ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีดัชนีบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลง ก่อนหน้านี้ PBOC ก็มีมาตรการเพิ่มเติมอยู่แล้วในการกระตุ้นโดยใช้เครื่องมือของตนที่ได้ยินกันบ่อยๆ อาทิเช่น การลดเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserved Ratio) เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การทะยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินดังกล่าวทั้ง PBOC และ MAS ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ก่อนหน้านี้มีธนาคารกลางอื่นๆ ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาแล้ว อาทิเช่น แคนาดา และอินเดีย ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กำลังซื้อหดหาย การลงทุนลดน้อยลง การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าไม่เป็นเพราะติดเรื่องวินัยการคลังก็เป็นเรื่องที่ได้ทำเต็มที่แล้ว ดังนั้นจึงต้องหันมาอาศัยนโยบายการเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องใหม่ ก็คือ ธนาคารกลางเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่รอ แต่จะ “ชิงลงมือ” เพื่อหวังว่าจะทำให้นโยบายของตนมีประสิทธิผลสูงสุด มิฉะนั้นคนที่ทำทีหลัง ก็จะกลายเป็นพวกที่ทำน้อยไปและช้าไป ( too little, too late) และจะทำให้ประสิทธิผลนั้นด้อยลงไป ทั้งนี้ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะสามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ตนเองต้องการได้หรือไม่ อย่างไรนะครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : MAS  PBOC ทำอะไร

view