สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำมันราคาถูก ดีต่อเศรษฐกิจจริงหรือ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

ถึงวันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนคงได้อ่านหรือเห็นบท วิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบราคาน้ำมันดิบโลกที่ดิ่งลงต่อเศรษฐกิจโลกและ เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่บทสรุปจะออกมาในทางเดียวกันค่อนข้างชัดเจนว่าราคาน้ำมัน ที่ลดลงนั้นเป็น"เรื่องดี"สำหรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ในเอเชีย(ยกเว้นมาเลเซีย) โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่ามาก (มากกว่าการส่งออกน้ำมันแปรรูปกับปิโตรเคมีภัณฑ์)

แต่เมื่อหันไปมองราคาตลาดหุ้นต่าง ๆ ทั่วโลก หรือหุ้นกู้ของบริษัทต่าง ๆ ที่ซบเซา ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนต้นปี 2558 (ไม่ใช่แค่หุ้นบริษัทพลังงานเท่านั้น) ก่อนที่ธนาคารกลาง ECB ของยุโรปจะใช้มาตรการ QE กลับดูเหมือนจะส่งสัญญาณบอกว่า นักลงทุนต่างชาตินั้น "ไม่เชื่อ" ว่าการที่ราคาน้ำมันดิบลดลงจะช่วยเศรษฐกิจได้จริง

นอกจากสัญญาณจากตลาดหุ้นแล้ว การพูดคุยกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศกว่า 50 รายตั้งแต่ต้นปีมานี้ ทำให้มองเห็นทิศทางชัดเจนว่า ยังไม่เชื่อเต็มที่ ว่าราคาน้ำมันที่ถูกลงนั้น "ดีจริง" ต่อเศรษฐกิจอย่างที่เกือบทุกบทวิเคราะห์สรุปไว้

คำถาม คือความจริงเป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะบทวิเคราะห์ผิด หรือสัญญาณตลาดการเงินไม่ตรงกับความเป็นจริง ?

ราคาน้ำมันลดลง
ดีต่อเศรษฐกิจในเอเชีย


การที่ น้ำมันราคาถูกมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งไทยใน3ประการคือประการแรก การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันนั้นเปรียบเสมือนการปรับอัตรา "ภาษี" เมื่อน้ำมันราคาถูก ก็เปรียบได้กับการเก็บภาษีจาก ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในโลก อย่างในตะวันออกกลาง แล้วโอนมาให้กับประเทศผู้ที่นำเข้าน้ำมันอย่างประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจเอเชียส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมัน เราเลยได้อานิสงส์จากน้ำมันราคาถูก

ข้อนี้เรามักจะได้ยินคนพูดกันมากที่สุด แต่อีกข้อหนึ่งที่สำคัญเป็นประการที่สอง คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกด้วย หลายคนอาจถามว่าหากนี่เป็นการโยกเงินจากคน (ประเทศ) กลุ่มหนึ่ง มาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำไมจึงมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

คำตอบ คือการโอนมักจะเป็นการเอาเงินจากคนที่ไม่ค่อยใช้จ่าย มาให้กับคนที่ใช้จ่ายมากกว่า ทำให้การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพราะกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกน้ำมันนั้น มักกระจุกตัวอยู่ไม่กี่กลุ่ม และมักจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะการเงินดี ไม่ว่าจะเป็นรัฐในตะวันออกกลาง หรือวิสาหกิจภาครัฐในประเทศอย่างรัสเซีย ในขณะที่เกือบทุกคน ทั้งคนรวยคนจนเป็นผู้บริโภคพึ่งพาน้ำมันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะราคาพลังงานกระทบสินค้าทุกตัว ทั้งการขนส่งและปัจจัยพื้นฐานสำคัญอย่างอาหาร ฉะนั้น เวลาราคาน้ำมันปรับลดลงจึงเปรียบได้กับการเก็บภาษีจากคนมีฐานะดี และมีการใช้จ่ายน้อยเทียบกับเงินที่มี มาแจกให้กับคนกลุ่มใหญ่ที่มักจับจ่ายใช้สอยมากกว่า เสมือนกับ "โรบินฮู้ด" ที่นำเงินจากคนมีฐานะมาให้คนรายได้น้อยกว่า

เพราะฉะนั้น โดยหลักแล้วน้ำมันราคาถูกก็ควรจะช่วยเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยการส่งออกของประเทศในเอเชียทางอ้อม

ประการที่สาม คือการที่ราคาน้ำมันปรับลงยังทำให้รัฐบาลหลายแห่งมีกระสุนใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลงจะมีผลฉุดอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก เพราะราคาพลังงานไม่ได้กระทบโดยตรงเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ แต่ยังมีผลทางอ้อมผ่านทางราคาการขนส่งอีกด้วย

โดยในหลายประเทศเงินเฟ้ออาจต่ำกว่าปีที่แล้ว 1-2% จนทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ในหลายแห่ง เช่น ไทย อาจต่ำจนเข้าขั้นติดลบในบางเดือน แม้ไม่น่าจะถึงกับทำให้เกิด "ภาวะเงินฝืด" แต่สถานการณ์เช่นนี้น่าจะทำให้แบงก์ชาติต่าง ๆ กล้าออกมา "ลดดอกเบี้ย" มากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจที่กำลังเห็นดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอย่างมาเลเซียหรือฟิลิปปินส์ก็น่าจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ลดผลกระทบทางลบกับเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน หลายรัฐบาลใช้โอกาสที่น้ำมันราคาถูก ปฏิรูปโครงสร้างน้ำมัน ลดภาระการคลังจากการชดเชยราคาน้ำมัน เช่นในไทยการเก็บภาษีดีเซลถ้าทำแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถเพิ่มรายได้คลังได้ถึง 1% ของ GDP ส่วนในกรณีอินโดนีเซียที่เพิ่งหยุดการชดเชยราคาน้ำมันตัวหลัก ก็จะมีเงินออมมากขึ้นถึงเกือบ 2% ของ GDP ทำให้สามารถเพิ่มงบฯลงทุนภาครัฐเป็นสองเท่าได้ (ถ้าต้องการ) พวกนี้จึงกลายเป็นกระสุนการคลังที่นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากรัฐบาลเห็นว่าจำเป็น ถึงตรงนี้หลายคนอาจยิ่งงง ว่าทำไมนักลงทุนต่างประเทศถึงยังกังวลกับเศรษฐกิจโลกกันนัก

ไม่แน่ใจว่าราคาน้ำมันดิบปรับลงเพราะอะไร

เหตุผล หนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่"ไม่เชื่อ"ว่าเหตุที่ราคาน้ำมันตกเป็นเรื่อง ของซัพพลายหรือการผลิตอย่างเดียวแต่เป็นเพราะมีเรื่องการชะลอตัวลงของ เศรษฐกิจโลก ผสมอยู่ด้วย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น เช่น ยาง เหล็ก ที่มักขยับตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนเลยตกต่ำไปด้วย แม้จะไม่ร่วงเหมือนน้ำมันที่มีปัจจัยทางซัพพลาย (การที่ OPEC ไม่ยอมลดการผลิต) คอยฉุดด้วยก็ตาม บวกกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ยุโรป ญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมาดูอ่อนแอ ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าราคาน้ำมันถูกลงเพราะเศรษฐกิจโลกป่วย มากกว่าจะมองว่าราคาน้ำมันถูกลงจะเป็นยากระตุ้นเศรษฐกิจโลกอย่างดี

ต้องทนเปรี้ยวก่อนกินหวาน

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า"ผลบวก"จากเวลาราคาน้ำมันลงนั้นมักจะเกิดขึ้นช้ากว่า"ผลลบ"จากเวลาที่ราคาน้ำมันขึ้น

เวลาราคาน้ำมันขึ้นต้นทุนการผลิตและขนส่งร้านค้า มักจะ ปรับราคาขึ้น เร็วมาก ทำให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ทันใจ และเบรกการจับจ่ายใช้สอยเกือบจะทันที โดยเฉพาะสินค้าอย่างรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่เมื่อน้ำมันเป็น ขาลง แม้ต้นทุนจะลดลงก็ตาม ใช่ว่าราคาสินค้าจะลงตามทันที การส่งผ่านมาถึงผู้บริโภคต้องใช้เวลา และกว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจมักรอดูด้วยว่าราคาลงแล้วจะอยู่อย่างนั้น หรือกระดอนกลับขึ้นไปอีก ทำให้ภาวะการใช้จ่ายใหญ่ ๆ และการลงทุนที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันราคาถูกนั้น ใช้เวลานาน

นอกจากนี้ เมื่อราคาน้ำมันลดลงยังจะเห็นผลลบทันทีกับบริษัท ประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อน้ำมันราคาตกมาก อย่างที่ทำให้บางประเทศยักษ์ใหญ่ที่ผลิตน้ำมันอย่างรัสเซีย เริ่มเกิดความเสี่ยงว่าอาจจะจ่ายคืนหนี้ไม่ได้ ต้องผิดนัดชำระหนี้ ก็ยิ่งทำให้ความกลัวเรื่องการลงทุนในประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ลุกลามไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีฐานะการเงินค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อเทียบกับที่อื่น เช่น มาเลเซีย ส่วนความไม่แน่นอนในรัสเซียยังมีผลกระทบต่อบริษัทใหญ่ในยุโรปที่มีการลงทุนในรัสเซีย หรือประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออกที่พึ่งรัสเซียอีก ทำให้มีผลลบต่อการลงทุน คอยฉุดเศรษฐกิจยุโรปอีกต่อหนึ่ง

สุดท้ายกองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่หลายเจ้า ที่ลงใน Emerging Markets ก็ขาดทุนจากการลงเงินในประเทศอย่างรัสเซีย เม็กซิโก บราซิล จนต้องมาขายลดการลงทุนในเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งที่จริงแล้วไม่เกี่ยวโดยตรง จึงเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ความตื่นตระหนกนี้แพร่กระจายออกไป หลายประเทศในเอเชียก็โดนหางเลขไปด้วย

สำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความไม่แน่นอน จึงเปรียบเหมือนการต้องทน "กินเปรี้ยว" ก่อนอาจจะได้ "กินหวาน" ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะได้กินเมื่อไหร่ ไม่แปลกที่ราคาตลาดหุ้นโลก ตลาดเครดิต จึงส่งสัญญาณเหมือนไม่เชื่อน้ำมนต์ว่าน้ำมันราคาถูกเป็นเรื่องดีจริง

แต่ ถ้าการวิเคราะห์ถูกต้องจริงย่อมแปลว่านักลงทุนทั่วโลกอาจตื่นตระหนกเกินไปจน ลืมว่าอาจมีรสหวานรออยู่ข้างหน้าสิ่งที่คงต้องเกิดก่อนที่จะทำให้นักลงทุน ต่างชาติมั่นใจน่าจะมี3ข้อ คือ

ข้อแรก - ต้องเห็นก่อนว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย คงไม่ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ ข้อสอง - ต้องเห็นว่าธนาคารกลางของเศรษฐกิจขนาดใหญ่หันมาฉวยโอกาสผ่อนนโยบายทางการเงินมากขึ้น เช่น QE ของยุโรปก็เป็นหนึ่งในนั้น หรืออาจเป็นสัญญาณจากเฟดของอเมริกาว่าไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็วนัก หรือการที่ทางการจีนเพิ่มสภาพคล่อง กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น สุดท้ายคือการที่ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น แม้จะยังไม่ดีมากก็ตาม ซึ่งผมเองเชื่อว่าเราอาจได้เห็นในเร็ว ๆ นี้

เมื่อ 3 อย่างเกิดขึ้นครบ นักลงทุนต่างประเทศคงมั่นใจขึ้น และกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แต่แน่นอนว่าคนที่รอให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจนครบทั้ง 3 ข้อก็คงต้องซื้อของที่แพง ใครที่อยากได้ราคาดีคงต้องกล้าเสี่ยงดูตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นรสเปรี้ยว ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นรสหวาน อยู่ที่ว่าจะรอไหวหรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : น้ำมันราคาถูก ดีต่อเศรษฐกิจ จริงหรือ

view