สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โค้ชอย่างไรให้สำเร็จ

โค้ชอย่างไรให้สำเร็จ
โดย : พอใจ พุกกะคุปต์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




มืออาชีพปัจจุบัน ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการโค้ชกันในองค์กร

การโค้ช จึงถือเป็นวิชาที่หัวหน้างานต้องแสวงหา และฝึกฝนจนชำนาญ เพราะนอกจากการโค้ชจะเป็นวิธีหลักที่ช่วยให้น้องๆในทีมเติบโตและพัฒนา ทำให้งานก้าวไปข้างหน้า เป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กร ทีม และตัวลูกทีมแล้ว
การโค้ช ยังส่งประโยชน์โดยตรงต่อตัวหัวหน้า ผู้รักษาตำแหน่ง “โค้ช”

ได้ทั้งผลงาน ได้ทั้งใจทีมงาน เพราะเป็นลูกพี่ที่ “ไม่กั๊ก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการศึกษาล่าสุดของนักวิจัยกลุ่ม Oxford Economics พบว่า กลุ่ม Gen Y หรือ Millenials ซึ่งเป็นคนทำงานที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1980 - 2000 และถือเป็นทีมงานสำคัญยิ่งในองค์กรปัจจุบัน ต่างกระหายอยากได้การโค้ชและข้อชี้แนะจากหัวหน้า

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มก่อนหน้าเขา มนุษย์ทำงานกลุ่มนี้ ต้องการให้โค้ช feedback เพื่อการพัฒนา บ่อยกว่ารุ่นพี่ป้าน้าอาถึง 50%

และเกือบครึ่ง หรือ 46% คิดว่าน้าๆ พี่ๆ ที่เป็นหัวหน้า ยังขาดน้ำยาในการโค้ชเขา...เอาละซิ!

ในเรื่องนี้ ดิฉันผู้มีอาชีพสอนหลักการโค้ชในที่ทำงาน ขออนุญาตฟันธงว่า

การโค้ชจะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้ความพยายามและการยินยอมพร้อมใจของ 2 ฝ่าย ทั้งโค้ช และผู้ถูกโค้ช

เปรียบดั่งปรบมือข้างเดียว ย่อมไม่ดัง ฉันใด

มีฝ่ายเดียวอยากเข้ากระบวนการโค้ช ไม่ว่าจะฝั่งใด ย่อมไม่เกิดผล ฉันนั้น

แม้ทั้ง 2 ฝั่งพร้อมไปด้วยกัน ก็ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้ได้งานโค้ชที่ดี มีค่า คุ้มเวลา

วันนี้ เรามาดูเสี้ยวส่วนหนึ่งของการโค้ชที่มีความสำคัญ แต่มักถูกเพิกเฉย ละเลยจนเป็นจุดบอด

ส่งผลให้การโค้ชกระท่อนกระแท่น แสนยาก วกวนซ้ำซาก ทำเท่าไหร่ ไม่เห็นผล

ประเด็นนี้ คือ การสร้างความรับผิดชอบ หรือ Accountability

วิธีหนึ่งที่ดี มีผลต่อ Accountability คือ การติดตามผลการโค้ช

หัวหน้างานที่ให้ความสำคัญกับการโค้ช มักเน้นช่วงเวลาระหว่างการโค้ชเป็นหลัก

ไม่ว่าจะเป็นการเน้นเฟ้นคำถามแบบทะลวงความคิด การฟังอย่างได้ใจ การให้ข้อแนะนำขั้นเทพ พร้อมใช้กระบวนการโค้ชทั้งหนัก เร็ว เบา ช้า สารพันวิธีที่สรรหามาใช้อย่างได้ผล...ระหว่างการโค้ช

เมื่อโค้ชเสร็จ ต่างก็กลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิม

กระนั้นก็ดี ห้วงที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนการหารือ คือ ช่วงที่ผู้ถูกโค้ชจะนำสิ่งใดๆ ที่ได้โค้ชไปทำต่อ

จึงต้องใช้การติดตามผลการโค้ชเป็นตัวช่วย

ข้อดีและผลพวงของการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ มีหลายประการ ได้แก่

1.ทำให้ทั้งลูกพี่และลูกน้องมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ต่างฝ่ายรู้ว่าต่างมี “คำสัญญา” หรือ Commitment ให้ไว้แก่กัน

หัวหน้า ต้องกันเวลา เพื่อติดตาม และหารือเรื่องความก้าวหน้าในสิ่งที่โค้ชไป

ลูกน้อง ก็ต้องนำสิ่งที่ตกลงกันไว้ไปปฏิบัติ เพราะตระหนักว่าจะมีการวัด และการติดตามผล

2. การบันทึกความก้าวหน้า

นอกจากนั้น หน้าที่ของโค้ชที่ดี คือ จดบันทึกความก้าวหน้า หรือปัญหาของลูกน้องแต่ละคน เมื่อโค้ชครั้งต่อไปจะได้ไม่เลอะลืม

หากต้องถามลูกน้องทุกครั้งว่า คราวที่แล้ว ผมแนะนำอะไรไป เราได้คุยเรื่องอะไรกันไว้บ้าง

ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมน้องๆหน้าใส จึงให้คะแนนแบบฟันธงว่า 46% ของหัวหน้าหนู ดูจะ ไม่ผ่านความคาดหวังของน้องๆ ที่ต้องการให้พี่โค้ชอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทำนองเดียวกัน หากลูกพี่จำได้ ไม่ลืมเพราะจดประเด็นไว้ เพื่อใช้หารือต่อเนื่อง ลูกน้องต้องเอาเป็นต้นแบบ ขนาดลูกพี่ยังบันทึก น้องต้องไม่ยึกยัก เอาจริงเอาจัง แสดงความใส่ใจ ไม่ “เยอะ”

3. มีการติดตามและสังเกตอย่างต่อเนื่อง

หัวหน้าที่ทำหน้าที่โค้ชต่อเนื่อง ต้องตั้งใจติดตามดูพฤติกรรมของผู้ที่ถูกโค้ชว่าพัฒนาหรือไม่

..ในที่ประชุม กล้าสื่อสารขึ้นไหม

..เวลาประสานงานกับใครๆ ราบรื่นขึ้นหรือไม่

..สร้างไมตรีกับทั้งเพื่อนๆ และพี่ๆ ในที่ทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ หรือไปที่ใด วงยังแตกเหมือนเดิม ฯลฯ

ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการติดตามผลการโค้ช

4. การบ้าน

สุดท้าย การเป็นโค้ชคล้ายๆ คุณครู ที่ต้องรู้วิธีให้ลูกศิษย์ฝึกฝน ให้ทดลองเรียน เขียน อ่าน ผ่านการทำ “การบ้าน” นั่นเอง

การบ้านของโค้ชอาจออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ ฝากประเด็นให้กลับไปคิด ขอให้ไปหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ฝากงานให้ไปทำ หรือ กำหนดกิจกรรมให้ไปลองปฏิบัติ

ทั้งโค้ชเอง บางทีก็มีการบ้านเช่นกัน อาทิ ตกลงกันไว้ว่าพี่จะหาเครือข่ายให้น้อง พี่จะลองช่วยคิดวิธีแก้ปัญหา พี่จะพาน้องไปฟังการประชุมระดับผู้บริหาร ฯลฯ

หากทั้งสองฝ่ายต่างรักษาสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

เรื่องการโค้ชให้สำเร็จสมใจทั้งพี่ทั้งน้องสองฝ่าย ย่อมง่ายขึ้นเป็นเงาตามตัวค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โค้ชอย่างไรให้สำเร็จ

view