สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กิจการเพื่อสังคม : คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำ

กิจการเพื่อสังคม : คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำ

โดย :
- See more at: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/633925#sthash.baPq0Idq.dpuf

กิจการเพื่อสังคม : คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำ
โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมพูดในงานเสวนาเกี่ยวกับการระดมทุนสำหรับกิจการเพื่อสังคม

 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริติชเคาน์ซิล และสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ

ในส่วนที่ดิฉันเสวนาจะเป็นเรื่องของการระดมทุนเพื่อกิจการเพื่อสังคมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ขอนำบางส่วนของการเสวนามาเล่าในสัปดาห์นี้ แต่ก่อนอื่นขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า กิจการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่อยู่ระหว่างโลกขององค์กรไม่แสวงหากำไร กับโลกของธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

กิจการเพื่อสังคมอาจมีได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบบริษัท หรือรูปแบบมูลนิธิ หรือกิจการของชุมชนหรือชาวบ้าน ที่รวมตัวกัน โดยมีหัวใจคือไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด แต่จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาค่ะ

คนไทยเราใจดี ใจบุญ เรามีการบริจาคเงินเพื่อการกุศลติดอันดับโลกเลยทีเดียว จากข้อมูลของ World Giving Index ซึ่งวัดความใจดีของคนในประเทศต่างๆ จาก 3 ด้านคือ การบริจาคเงิน การให้เวลาอาสาทำงานสาธารณะ และการให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้า ประเทศไทยเราติดอันดับสูงสุดในปี 2011 คือเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เพราะปีนั้นเราเกิดมหาอุทกภัย

ปี 2012 เราอยู่อันดับที่ 26 ปี 2013 อยู่อันดับที่ 38 และในปีที่แล้ว 2014 เราอยู่อันดับที่ 21

แต่เมื่อมาดูในรายละเอียด การบริจาคเงินของเราติดอันดับหนึ่งในห้าของโลกมาตลอด โดยในปี 2011 เราได้ที่ 1 ในเรื่องการบริจาคเงิน ปี 2012 ได้อันดับที่ 5 ขยับขึ้นมาเป็นที่ 4 ในปี 2013 และที่ 3 ในปี 2014

ส่วนของคะแนนที่เราทำไม่ได้ดีเลย คือเรื่องของการบริจาค เวลา ด้วยการอาสาทำงานให้กับสังคม ในปี 2014 เราอยู่อันดับที่ 106 จาก 135 ประเทศ และ การให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้า เราอยู่อันดับที่ 70 ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ต้องผจญกับรถติด และการทำงานหาเลี้ยงชีพ และอีกส่วนหนึ่งคือการเป็นสังคมเมืองที่อาจจะไม่สามารถไว้ใจคนแปลกหน้าได้ง่ายๆ

แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีคนรุ่นใหม่ของเราสนใจทำงานเพื่อสังคมและพยายามนำความรู้ ความสามารถ วิชาการ เทคโนโลยี และเวลามาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นคาดว่าอย่างน้อยก็จะทำให้อันดับของประเทศไทยในด้าน การให้ เวลา หรือการทำเรื่องอาสาสมัครต่างๆให้กับสังคม ดีขึ้นในอนาคตค่ะ

การให้ ในสมัยนี้เริ่มเปลี่ยนไป เดิมเราอาจจะบริจาคเงิน แล้วก็จบไป อาจจะเวียนมาบริจาคเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมมีส่วนในการติดตามการดำเนินการขององค์กรการกุศลเหล่านั้นมากนัก แต่ในปัจจุบัน ผู้บริจาคจำนวนหนึ่งเริ่มคิดถึงการให้ที่ยั่งยืน ในลักษณะการให้ความรู้และชี้แนะวิธีการในการตกปลาแก่เขา มากกว่าจะให้ปลาเขาไปยังชีพ เพื่อให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว และเราสามารถนำทรัพยากรไปสนับสนุนองค์กรใหม่ได้ต่อไป

ในความเห็นของดิฉัน มีผู้คนและองค์กรจำนวนมากพร้อมและยินดีเปลี่ยนวิธีการ ให้ มาเป็นการให้แบบยั่งยืน และกิจการเพื่อสังคมก็เป็นคำตอบของการอยู่รอดแบบยั่งยืนสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรการกุศลส่วนใหญ่ สิ่งที่ยังขาดหายไปมีสองอย่าง คือ 1. พาหนะที่จะนำพาเงินและทรัพยากรเหล่านี้ไปสู่องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องการการสนับสนุน และ 2. ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่ต้องการเงินสนับสนุน

เมื่อสอบถามคนทั่วๆ ไปและองค์กรธุรกิจว่า หากมีการลงทุนที่นำเงินไปช่วยกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินในอัตราที่ต่ำ หรืออาจจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทน หรืออาจจะขาดทุน ผู้ลงทุนยอมรับได้หรือไม่ เกือบทั้งหมดจะตอบว่ารับได้ แม้เงินลงทุนสูญไปก็ยังรับได้ เพราะโดยปกติก็มีการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว โดยผลตอบแทนที่ได้รับคือความสุขใจและปลื้มใจที่ได้มีส่วนทำให้สังคมดีขึ้น ทำให้ชีวิตของคนอื่นหรือชีวิตอื่นๆ ดีขึ้น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในประเทศไทยมีการระดมทุนในลักษณะนี้อยู่กรณีหนึ่ง เมื่อคราวที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ระดมทุนในรูปของพันธบัตรไปชำระค่าข้าวให้กับชาวนาในฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมื่อต้นปี 2557 เมื่อยังอยู่ในภาวะสูญญากาศ รัฐบาลไม่สามารถอนุมัติเงินให้กับธกส.ได้ มีผู้ลงทุนไปซื้อพันธบัตรกันมากพอสมควร ได้เงินหลายร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ดี ดิฉันอยากให้มี พาหนะในการลงทุนในช่วงเวลาปกติ โดยสามารถให้ผู้ลงทุนหรือผู้ที่พร้อมจะบริจาค สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนหุ้นทุน หรือกองทุนผสม ที่ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม และเท่าที่ศึกษามา กองทุนรวม ดูจะเป็น พาหนะที่เหมาะสมที่สุด

กองทุนรวมมีวิธีการบริหารจัดการที่โปร่งใส อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ต้องดูแลบริหารจัดการเงินลงทุนด้วยความระมัดระวังและดูแลประโยชน์ของผู้ลงทุน และยังต้องรายงานความคืบหน้าในการลงทุนให้กับผู้ลงทุนเป็นระยะๆ

ปัญหาก็คือ หลักเกณฑ์ในการลงทุนปัจจุบัน ต้องการปกป้องผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก จึงกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะตราสารหรือหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่นจะลงทุนในหุ้นทุนของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดได้ไม่เกิน 15% ของมูลค่ากองทุน หรือกรณีเป็นตราสารหนี้ ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือมิฉะนั้นต้องเสนอขายให้กับผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุน มากๆ โดยถือว่าเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างดี

แต่โลกเปลี่ยนไปแล้วค่ะ ผู้ลงทุนมีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว การปกป้องผู้ลงทุนจึงมิใช่การจำกัดขอบเขตการลงทุน แต่อยู่ที่การกำหนดให้ผู้ขายขายสินค้าให้ตรงกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนต่างหาก

ดิฉันเห็นว่า หากเรากำหนดช่องทางการขายให้ดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ผู้ลงทุนทั่วๆ ไปที่อาจจะมีการบริจาคเงินปีละ 10,000 บาท อาจจะลงทุนซื้อกองทุนนี้ปีละ 20,000 บาท เพราะคาดหวังว่า อาจจะได้เงินลงทุนกลับคืนมาบางส่วน สำหรับผู้บริจาครายใหญ่ แน่นอนว่าอาจจะลงทุนซื้อกองทุนลักษณะนี้ปีละ 1-2 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ

ส่วนที่ขาดหายไปส่วนที่สอง ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยาก และได้แนะนำให้องค์กรต่างๆ พยายามทำแล้วคือ ข้อมูลค่ะ ผู้ลงทุนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่ทำในสิ่งดีๆ เหล่านี้ ดังนั้นองค์กรต่างๆ ควรต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้มาก หาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็น ทูต สื่อสารข้อมูลขององค์กร รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการศึกษา เพื่อครอบครัว เพื่อสุขภาพ เพื่อคนพิการ เพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อผู้หญิง เพื่อเด็ก ฯลฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้

หมดเนื้อที่แล้วค่ะ อยากฝากให้ช่วยกันผลักดันต่อไป เพราะกิจการเพื่อสังคมคือคำตอบของการลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งนับวันจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าอีกไม่นาน ดิฉันจะมีโอกาสได้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อสังคมร่วมกับทุกท่านนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กิจการเพื่อสังคม คำตอบ การลดความเหลื่อมล้ำ

view