สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วยเรื่อง ภาษี ร้อนๆ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่มีการพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะในการต่อต้านหรือทางลบค่อนข้างมาก คือเรื่องภาษีบ้านและที่ดิน

ที่กำลังอยู่การพิจารณาของกระทรวงการคลังที่มีข่าวว่าจะนำเสนอ ครม. ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ หลายฝ่ายได้ออกมาโจมตีทั้งๆ ที่กฎหมายดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปที่ยุติแล้วอย่างเป็นทางการ ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีหลักๆ ก็น่าจะเป็นแนวคิดในการจัดเก็บภาษีบ้าน (ที่รวมที่ดิน) ที่กระทบเป็นภาระชนชั้นกลางที่อยู่ในเขตเมือง ก็ขอฝากข้อคิดในประเด็นความคิดเห็นเหล่านี้ไว้ด้วยเพื่อประกอบการพิจารณา


ประการแรก คือ วัตถุประสงค์หลักของภาษีที่ต้องมีความชัดเจนว่า เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ด้วยการลดการจุกตัวของการถือครองที่ดิน หรือเพื่อการหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งเข้าใจว่าวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากได้ลดการถือครองที่ดินลง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสจะมีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งเพื่อการทำกินหรือเป็นบ้านและที่ดินเป็นของตนเองมากขึ้น ความจริงของประเทศไทยนั้นมีที่ดินถือครองโดยคนเพียงจำนวนน้อย เนื่องจากมีฐานะและมีกำลังซื้อที่สูงกว่าทำให้มีการกว้านซื้อที่ดินเข้ามาเก็บไว้ ดังจะเห็นเศรษฐีจำนวนมากที่ถือครองที่ดินนับหมื่นๆ ไร่ขึ้นไป และหรือมีบ้านที่อยู่อาศัยที่มากเกินกว่า 1 หลังทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด


ซึ่งหากเป้าหมายหลักใช้ภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ก็ควรจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราการก้าวหน้า โดยผู้ที่มีบ้านหรือที่ดินจำนวนมากจะต้องจ่ายภาษีจำนวนสูง จนไม่เกิดแรงจูงใจให้สะสมหรือถือครองที่ดินดังเป็นหลักปฏิบัติในหลายประเทศ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ที่สร้างภาระแบบก้าวกระโดดให้กับคนส่วนใหญ่แล้วก็จะทำให้เกิดกระแสต่อต้าน เพราะชนชั้นกลางในเขตเมืองจะเป็นผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงและอย่างกว้างขวาง ดังข่าวปรากฏเบื้องต้นว่าจะเก็บภาษีบ้านที่มีพื้นที่ 100 ตารางวาขึ้นไปหรือมีมูลค่าที่เกินกว่า 1.5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งบ้านในเขตเมืองที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทนั้น หมายถึงที่ดินที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 บาท/ตร.วา นั้นแทบจะหาไม่ได้อยู่แล้ว


ประการที่สอง คือ ความเป็นธรรม การคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เก็บออมหอมริบในการผ่อนชำระบ้านที่อยู่อาศัยรายเดือนด้วยความเหนื่อยยาก ที่ต้องผ่อนส่งบ้านยาวนานถึง 20-30 ปี ซึ่งในระหว่างทางนั้นก็ได้มีการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการหักเงินรายเดือนแล้วยังจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ ที่ดินที่เคยซื้อมาด้วยความยากลำบากนั้นหรือเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษส่วนใหญ่แล้วจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยเฉพาะบ้านพื้นที่ในเขตใจกลางเมืองราคาปรับสูงขึ้นมาก และเมื่อโดนฐานภาษีบ้าน/ที่ดินบางรายอาจจะไม่มีความสามารถในการจ่ายภาษี จะทำอย่างไรในกรณีเช่นนั้น? เพราะเชื่อว่ารัฐคงไม่มีเจตนาจะกดดันให้คนกลุ่มนี้ต้องขายบ้านและที่ดินนี้ออกไปเพื่อต้องนำเงินมาจ่ายภาษีแล้วต้องย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ตามเขตปริมณฑลที่ห่างไกลออกไป ที่จะทำให้ต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในเมือง ที่มีสะดวกในการเดินทางสัญจร


ดังนั้น ฐานของภาษีว่าจะจัดเก็บภาษีบ้านประเภทไหน อย่างไร การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน จำนวนปีที่ครอบครองบ้านและที่ดิน และอัตราภาษีที่ใช้จะต้องคำนึงถึงความเป็นเป็นธรรมเหล่านี้ ซึ่งมีข้อเสนอว่าสำหรับบ้านหลังแรกและมีขนาดพื้นที่จำนวนหนึ่งที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยควรจะได้รับการพิจารณาให้การยกเว้นภาษี แต่บ้านหลังที่สองขึ้นไปหรือมีพื้นที่ขนาดใหญ่เกินระดับหนึ่งจึงจะต้องเสียภาษี


ประการที่สาม คือ ประเด็นที่ว่าจะได้มีรายได้จากภาษีไปในการพัฒนาประเทศและชุมชนนั้น ในปัจจุบันภาษี/ธรรมเนียมการซื้อขายบ้านที่อยู่อาศัยก็มีอยู่แล้วและมีอัตราที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีภาษีโรงเรือนที่จัดเก็บจากค่าเช่าและภาษีบำรุงท้องที่ที่คิดจากราคาประเมินที่ดินปี 2521-2524 ซึ่งสามารถที่จะปรับราคาประเมินให้เป็นปัจจุบันหรือสะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้นได้ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลและ อบต.


หลักการของการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดินเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ ถ้าหากจะช่วยลดการกระจุกตัวของการครอบครองที่ดินสำหรับเพียงคนกลุ่มน้อย และในขณะเดียวกันไม่สร้างภาระที่รุนแรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ และที่สำคัญที่สุดคือกำหนดเงื่อนเวลาของการบังคับใช้ของกฎหมายด้วยว่าเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจหรือไม่ เพราะในกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ในปี 2558 นายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะ ของประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศปรับเพิ่มภาษีการบริโภค (เทียบเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก 5% เป็น 8% ในต้นปี 2558 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นกับฟุบลงในช่วงไตรมาสที่สอง-สามของปี


ดังนั้น การจะประกาศการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการบังคับใช้ภาษีบ้านและสิ่งปลูกสร้างเองก็พึงพิจารณาให้รอบคอบและเหมาะสม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ว่าด้วยเรื่อง ภาษี ร้อนๆ

view