สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล่วงเกินทางเพศ ในที่ทำงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

เรื่องที่ผมจะนำมาแชร์ในวันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในที่ทำงาน ซึ่งหลายครั้งเป็นข่าวคราวลงในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนทำงานควรรู้ว่าถ้าทำแล้วจะมีผลยังไง ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ

นั่นคือการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงานครับ !!

คำคำนี้ถ้าคนทั่วไปได้ยิน อาจจะคิดถึงพฤติกรรมของการล่วงเกินทางเพศ คือ การลวนลาม จับเนื้อต้องตัวกัน หรือแม้แต่จะเลยเถิดไปถึงขั้นข่มขืน ฯลฯ หรือพูดโดยสรุปก็คือ คนทั่วไปมักจะคิดว่าต้องมีการคุกคามทางกายเป็นหลัก จริงไหมครับ

ถ้าใครคิดอย่างงี้ล่ะก็..ผมอยากจะบอกว่า "คิดผิด" แล้วล่ะครับ !!

เราลองมาดูมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับแก้ไข) ปี 2551 กันตามนี้ครับ

"มาตรา 16 ห้ามมิให้ นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง"

เมื่ออ่านสองบรรทัดข้างบนนี้แล้ว ท่านเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานในมาตรานี้ชัดขึ้นหรือยังครับ ?

คำว่า "ลูกจ้าง" นี่หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชาย ลูกจ้างหญิง หรือลูกจ้างเด็ก โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นเพศใดนะครับ

จากมาตรานี้ ไม่ได้มีคำว่า "ล่วงเกิน" เพียงเท่านั้น แต่ยังมีคำว่า "คุกคาม" และ "ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ" เข้ามาอีกด้วย

ในสองคำนี้จะมีครูบาอาจารย์ทางกฎหมาย และท่านผู้รู้หลายท่านหยิบคำเหล่านี้ไปเทียบเคียงความหมายกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นแนวทาง คือ.....

"ล่วงเกิน" หมายถึง แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณี หรือจรรยามารยาท ด้วยการลวนลาม เช่น การลวนลามอีกฝ่ายหนึ่งทางร่างกาย (เช่น การจับมือถือแขน หรือโอบกอด) หรือการพูดจาลวนลามในเชิงชู้สาว (แม้ไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวก็มีโอกาสจะเข้าข่ายในความหมายนี้ได้แล้วนะครับ) หรือการพูดดูหมิ่น หรือสบประมาท (ในทางเพศ) อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

"คุกคาม" หมายถึง การแสดงอำนาจด้วยกิริยา หรือวาจาให้หวาดกลัว ทำให้หวาดกลัว เช่น แสดงท่าทีทั้งสีหน้าท่าทางเหมือนจะเข้าไปปล้ำ ทำหน้าตาหื่นกระหายจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหวาดกลัว (อันนี้ถ้าใครเป็นคอละคร มักจะเห็นเวลาผู้ร้ายทำท่าทำทางจะปล้ำนางเอก ทำนองนั้นแหละครับ)

"รำคาญ"
หมายถึง ระคายเคือง เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย เช่น หัวหน้าชอบพูดสองแง่สองง่าม วกลงใต้สะดือกับลูกน้องอยู่ทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบ

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ลูกน้องก็ไม่ได้สนุกไปด้วย ไม่ได้อยากฟัง แต่หัวหน้ายังชอบพูดซ้ำซาก น่ารำคาญ เป็นต้น

ผมเคยต้องสอบสวนหัวหน้างาน (ชาย) เรียกลูกน้องผู้หญิงไปหา แล้วเปิดคลิปวิดีโอโป๊ให้ลูกน้องผู้หญิงดู โดยทำเหมือนกับกำลังเปิดหนังการ์ตูนโดเรมอนให้ลูกน้องดูซะงั้นแหละ (แต่สีหน้าแววตาของหัวหน้าไม่ได้ทำเหมือนกำลังดูการ์ตูนนะครับ อันนี้เป็นคำให้การของพนักงานหญิงคนนี้ว่า หัวหน้าทำหน้าหื่นใส่และดูปฏิกิริยาของน้องคนนี้ว่าจะเป็นยังไง) ทำให้ลูกน้องผู้หญิงคนนี้ตกใจ เพราะคิดไม่ถึงว่าหัวหน้าจะเล่นพิเรนทร์แบบนี้ อย่างงี้ก็เข้าข่ายความหมายของการล่วงเกินทางเพศข้างต้นแล้วนะครับ

เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจชัดเจนขึ้นแล้วนะครับว่า การล่วงเกินทางเพศในที่ทำงานนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีการล่วงเกินคุกคามกันทางร่างกายเท่านั้น แม้จะเป็นการแสดงกิริยาอาการ หรือการพูดจาที่ส่อไปในทางไม่ดีทางเพศ ก็จะอยู่ในข่ายนี้ด้วยเหมือนกัน

ผมอยากให้ท่านดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหนึ่งที่เกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศเพื่อให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้ครับ

ฎ.1372/2545 "ลูกจ้างเป็นผู้บังคับบัญชาอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนชักชวนลูกจ้างหญิงซึ่ง อยู่ภายใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่ด้วยกันในเวลากลางคืนนอกเวลางาน หากลูกจ้างหญิงไม่ไปจะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ให้ลูกจ้างหญิงผู้นั้นผ่าน ทดลองงาน การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อการล่วงเกินทางเพศลูกจ้างหญิงที่อยู่ภาย ใต้บังคับบัญชาของตน ถือเป็นการล่วงเกินทางเพศ"

"ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของลูกจ้างที่เป็นผู้บังคับบัญชา นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรม หรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของนายจ้าง ทำให้พนักงานขาดขวัญ และกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนของลูกจ้างถือเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม"

จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คงจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับนายจ้าง หรือหัวหน้าที่ทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นงู ได้เป็นอย่างดีนะครับ ว่าอะไรควรหรือไม่ควรในการปฏิบัติกับลูกน้อง

อ้อ...ก่อนปิดท้ายเรื่องนี้ ผมอยากจะบอกเพิ่มเติมว่า กรณีล่วงเกินทางเพศนี้ไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าผู้ชายกับลูกน้องผู้หญิงเท่านั้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าผู้ชายกับลูกน้องผู้ชาย หรือหัวหน้าผู้หญิงกับลูกน้องผู้หญิง นี่ก็ผิดเหมือนกัน เพราะกฎหมายให้ความเท่าเทียมทางเพศไว้ด้วย

ท่านลองกลับไปอ่านมาตรา 16 ข้างต้นให้ดีอีกครั้งนะครับ จะเข้าใจได้ดีขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ล่วงเกินทางเพศ ที่ทำงาน

view