สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทบาทภาครัฐ และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง

โดย ดรณภา สุกกรี สมัญญา ถาวรศักดิ์

หลายคนอาจจะมีคำถามว่า การทุ่มตลาดคืออะไร ?

คำตอบคือ การทุ่มตลาด หรือ Dumping คือการขายสินค้าในตลาดต่างประเทศในราคาต่ำกว่ามูลค่าปกติ หรือต่ำกว่าราคาขายภายในประเทศผู้ส่งออกเป็น "การเลือกปฏิบัติด้านราคา" ระหว่างสินค้าส่งออกและสินค้าภายในประเทศ ทำให้ราคาสินค้าไม่เคลื่อนไหวไปตามกลไกของอุปสงค์อุปทาน

วัตถุประสงค์ของการกระทำนี้ อาจเป็นไปเพื่อ ระบายสินค้าส่วนเกิน ออกนอกประเทศ หรือ เพื่อขจัดคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ ทว่า ในที่สุดอาจสามารถผูกขาดกระทั่งมี อำนาจเหนือตลาด ในตลาดของสินค้าประเภทนั้น ๆ ได้ ส่งผลให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมทางการค้า เช่นเดียวกับการช่วยอุดหนุน (Subsidy) ต่างกันที่การทุ่มตลาดจะเป็นการกระทำของเอกชน แต่การช่วยอุดหนุนเป็นการกระทำของรัฐบาล

สิ่งนี้ขัดกับหลักการค้าเสรีของ GATT แต่ GATT ไม่ได้ห้ามโดยตรงต่อการทุ่มตลาด เพราะหากว่าการทุ่มตลาดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการในประเทศผู้นำเข้า ประเทศนั้นก็มีสิทธิ์เก็บอากรเพื่อ "ตอบโต้การทุ่มตลาด" ได้

การตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping) การตอบโต้มาตรการอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) และ การกำหนดมาตรการปกป้อง (Safeguard Measure : SG) เป็นการที่รัฐกำหนด มาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทำโดยผู้ส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ และที่กระทำโดย รัฐต่างประเทศ ผ่านการสนับสนุนผู้ส่งออกของตน รวมถึงการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของตน แม้ว่าจะไม่มีการกระทำที่ถือว่าเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม หากปรากฏว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้น และก่อความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน รัฐอาจกำหนดมาตรการปกป้องในรูปแบบภาษี หรือจำกัดปริมาณการนำเข้า ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรการเยียวยาทางการค้า แต่ก็ถือเป็นการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่รัฐสามารถทำได้ โดยไม่ขัดต่อพันธกรณีขององค์การการค้าโลก หรือ Regional Agreement (เช่น ASEAN EU) หรือความตกลงการค้าเสรี (Bilateral or Multilateral Free Trade Agreement) เพื่อลดหรือกำจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรา 86 และมาตรา 87 ของ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ยังคงดำเนินการกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในประเทศตน เนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการตอบโต้การค้าที่

ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะกระทำโดยผู้ส่งออกจากประเทศสมาชิกอาเซียน หรือกระทำโดยรัฐบาลประเทศสมาชิกผ่านมาตรการอุดหนุนต่อไปได้โดยไม่ขัดกับความตกลงเขตการค้าเสรีแต่อย่างใด

อนึ่ง ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านกลไกความตกลงทางการค้า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเออีซีในปลายปี 2558 นี้ ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และโดยผลของ ATIGA จึงมีความพยายาม ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี ให้หมดสิ้น เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนภายในอาเซียนได้อย่างเสรี ก่อให้เกิดการค้าแบบตลาดเดียว

ในทางปฏิบัติพบว่าอุตสาหกรรมภายในมีการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเป็นเครื่องมือครอบงำตลาด และผูกขาดการค้าในประเทศ ส่งผลให้กลไกการแข่งเสรีเสียไปผู้บริโภคมีทางเลือกลดลง หรือไร้ทางเลือก ต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพง เพราะการกำหนดภาษีทุ่มตลาด ทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการไต่สวน AD/SG/CVD ยังตกเป็นภาระของรัฐ ในขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์คือผู้ประกอบการภาคเอกชน


อย่างไรก็ตาม ในยุคการค้าเสรีที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงอย่างประเทศจีน ต่างใช้กลยุทธ์ของการแบ่งแยกราคาในการแข่งขัน แสวงหายอดขายสูงสุดเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และทำลายคู่แข่งขันทางการค้าอย่างรุนแรง จึงไม่อาจปฏิเสธความจำเป็นต่อการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ด้วยช่องว่างของกฎหมายที่มิได้กำหนดว่า อุตสาหกรรมภายในที่สามารถร้องขอให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด จะต้องเป็นผู้ประกอบการไทยเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าภาษีอากรของประชาชนที่ใช้ไปในกระบวนการไต่สวนนี้ อาจเป็นไปเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่ดำเนินกิจการโดยผู้ประกอบการต่างชาติ

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จะเข้ามาลงทุนทางตรงในประเทศไทย และใช้ประโยชน์จากมาตรการเยียวยาทางการค้า โดยเฉพาะการตอบโต้การทุ่มตลาดกับทั้งการกำหนดมาตรการปกป้อง เพื่อกีดกันผู้นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตภายในประเทศ หรือแม้กระทั่งกรณีที่นักลงทุน

ชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมขายสินค้าทุ่มตลาด ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตน เพราะถูกจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย เพื่อเลี่ยงการถูกจัดเก็บภาษีนั้น โดยยังคงมีพฤติกรรมส่งออกสินค้าทุ่มตลาดอยู่เช่นเดิม ย่อมทำให้ผู้ส่งออกของไทยเสี่ยงต่อการไต่สวนการทุ่มตลาดในต่างประเทศ

มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดนั้น มักแปรผันกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกและเศรษฐกิจโลก จากรายงานการบังคับใช้มาตรการทุ่มตลาดขององค์การการค้าโลก พบว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น วิกฤตการณ์ Hamburger Crisis ในปี 2551 ทำให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในปี 2552 สูงขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 39 เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบัน (ปี 2558) ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวจากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นชนวนของการกลับไปสู่ภาวะสงครามเย็น ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งในซีเรีย หรือปัญหาการก่อการร้าย

จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าเศรษฐกิจจะยังคงตกต่ำต่อไป หรือเติบโตอย่างช้า ๆ

จากปัจจัยที่กล่าวมา อาจคาดหมายได้ถึงการเพิ่มขึ้นของระดับความรุนแรงในการบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า

ทั้งนี้ ข้อควรระวังของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด คือ เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งมักใช้กับอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ วัตถุดิบ หรือสินค้ากึ่งวัตถุดิบ ให้อยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

แต่การปกป้องดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้รับผลกระทบทางลบตามไปด้วย เพราะอุตสาหกรรมนั้น ๆ จะต้องประสบกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด ด้วยเหตุที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ในการผลิต ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้น กระทั่งอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องเลิกกิจการไป ผลสุดท้ายย่อมเกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย

ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ "Friends of Antidumping Negotiations" (FANs) ซึ่งได้เรียกร้องให้แก้ไขความตกลงว่าด้วยการทุ่มตลาดตามมาตรา 6 ของ GATT 1994 และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ด้วยเหตุที่บทบัญญัตินี้เปิดโอกาสให้มีการใช้มาตรการโดยมิชอบได้ง่าย เสนอให้เพิ่มความเข้มงวด การกำหนดวิธีการที่เหมาะสม การบรรเทาผลกระทบที่มากเกินควร การป้องกันมิให้มีการใช้หรือมีการขยายการบังคับใช้ออกไปจนกลายเป็นมาตรการถาวร รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายของกระบวนการไต่สวน การมุ่งเน้นให้มีการสิ้นสุดของกระบวนการไต่สวนโดยเร็ว ตลอดจนการออกกฎระเบียบที่ชัดแจ้ง เกี่ยวกับ "การทุ่มตลาด" และ "ความเสียหาย"

เมื่อเป็นเช่นนี้การบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าอย่างเคร่งครัด และดำเนินกระบวนการไต่สวนอย่างโปร่งใส ตลอดจน การเฝ้าระวังมิให้มีการใช้มาตรการนี้จนกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้า หรือก่อภาระให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ

ย่อมเป็นภาระที่หนักยิ่งในอนาคตต่อองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ในส่วนของมาตรการที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะหน่วยงานนี้ต้องดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และรู้เท่าทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทบาทภาครัฐ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

view