สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีวัดความยั่งยืนของธุรกิจ

วิธีวัดความยั่งยืนของธุรกิจ
โดย : เรวัติ ตันตยานนท์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ในปัจจุบัน การบริหารธุรกิจมักจะมุ่งความสนใจไปที่การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ แล้วความยั่งยืนของธุรกิจวัดกันได้อย่างไร

ในปัจจุบัน ความยั่งยืนของธุรกิจสามารถวัดกันได้แล้ว!

ถึงแม้ว่าจะเป็นการวัดในเชิงเปรียบเทียบกันว่า บริษัทไหนที่แสดงศักยภาพของความยั่งยืนได้มากกว่า แต่วิธีการวัดความยั่งยืนที่ว่านี้ เป็นที่ยอมรับของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก

เกณฑ์ที่นำมาใช้วัดศักยภาพความยั่งยืนของธุรกิจนี้ เรียกว่า ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่สร้างขึ้นมาโดย บริษัทที่จัดทำ ดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีชื่อเสียงสำหรับวัดมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีชื่อเสียง เคยได้ยินกันบ่อยๆ

การวัดศักยภาพความยั่งยืนของบริษัทโดยใช้ดัชนี DJSI จะทำได้โดยการที่บริษัทต้องตอบคำถามมาตรฐานชุดหนึ่ง ซึ่งจะสอบถามถึงนโยบายและวิธีการบริหารจัดการของบริษัทใน 3 ด้านที่สำคัญ ที่เรียกว่า ESG หรือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance)

ซึ่งจะถือว่าแนวทางการบริหารจัดการทั้ง 3 ด้านนี้ จะสะท้อนศักยภาพความเติบโตและยั่งยืนของธุรกิจ

ธุรกิจที่จะเติบโตและดำรงอยู่ต่อไปได้ยาวนาน จะต้องไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ ธุรกิจก็จะไม่ถูกรบกวนโดยกฎหมาย ข้อบังคับ หรือการถูกต่อต้านจากกลุ่มที่มีความคิดรักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติ และรักษ์พลังงาน

แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับเรื่องของนโยบายและการบริหารจัดการธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคมก็คือ หากธุรกิจใดที่ทำให้สังคมไม่ยอมรับหรือสังคมไม่สนับสนุน ธุรกิจนั้นก็คงจะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนได้ยาก

ส่วนในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการ หากธุรกิจไม่ให้ความสนใจกับผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และไม่ได้ตั้งใจบริหารธุรกิจด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ดี ธุรกิจก็ย่อมจะคงอยู่ต่อไปไม่ได้นาน

หลักการ ESG จึงถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลในเชิงกว้างดังที่กล่าวมานี้

เพื่อให้เห็นหลักการในรายละเอียดที่มากขึ้น คำถามและเกณฑ์การให้น้ำหนักของคำตอบในหมวดย่อยต่างๆ โดยประมาณ จะเป็นดังนี้

1. หมวด การกำกับดูและกิจการ (คะแนนโดยประมาณ 41%)

1.1 นโยบายและแนวทางการกำกับดูแลกิจการ และธรรมาภิบาลธุรกิจ (7 %)

1.2 การจัดการความเสี่ยงและวิกฤติเศรษฐกิจ (6%)

1.3 แนวปฏิบัติที่ดี การดำเนินการตามกฎหมายระเบียบข้อกำหนด การจัดการคอร์รับชั่น และการให้สินบน (7%)

1.4 การจัดการเกี่ยวกับลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)

1.5 การบริหารแบรนด์และภาพลักษณ์องค์กร (4%)

1.6 การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มาของทรัพยากรและวัตถุดิบจนถึงผู้บริโภค (3%)

1.7 นโยบายการป้องกันอาชญากรรมและวิธีปฏิบัติ (4%)

1.8 เสถียรภาพทางการเงินและความเสี่ยงประจำในระบบการทำงาน (4%)

2. หมวด การจัดการสิ่งแวดล้อม (คะแนนโดยประมาณ 24%)

2.1 วิธีการรายงานการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนทั่วไป (3%)

2.2 แนวนโยบายและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (4%)

2.3 ประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม (4%)

2.4 การจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ (9%)

2.5 กลยุทธ์การดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (4%)

3. หมวดการปฏิบัติต่อสังคม

3.1 วิธีการรายงานการปฏิบัติด้านสังคม (3%)

3.2 การปฏิบัติต่อแรงงาน พนักงาน และการเคารพสิทธิมนุษยชน (5%)

3.3 การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (6%)

3.4 การดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่มีศักยภาพพิเศษ (6%)

3.5 การแสดงออกซึ่งความเป็นพลเมืองที่ดีขององค์กรและการบริจาคเพื่อสังคม (3%)

3.6 การดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (3%)

3.7 การมีเงื่อนงำและความไม่โปร่งใสในด้านการเงินการลงทุนและการจัดหาสินเชื่อของธุรกิจ (4%)

3.8 โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น (3%)

3.9 การให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมกับการดำเนินธุรกิจ (2%)

ด้วยคำถามกว่า 100 ข้อ เพื่อประเมินนโยบายและแนวปฏิบัติ มีการให้คะแนนในคำตอบแต่ละข้อตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด จะทำให้สามารถให้คะแนนของบริษัทต่างๆ ได้อย่างยุติธรรม

คะแนนรวมของบริษัทแต่ละแห่งจะสะท้อนศักยภาพความยั่งยืนของบริษัทนั้นๆ

และเมื่อนำคะแนนมาเรียงลำดับกันในแต่ละภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้สามารถจัดลำดับความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ โดย 100 บริษัทแรกที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับ จะได้รับการนำมาจัดทำเป็นดัชนี DJSI

ในระดับภูมิภาค จะแยกเป็น ดัชนีรวมของบริษัททั่วโลก (World Index) และยังแยกย่อยออกไปเป็น ดัชนีกลุ่มประเทศยุโรป ดัชนีกลุ่มอเมริกาเหนือ ดัชนีกลุ่มเอเซียแปซิฟิก ดัชนีกลุ่มตลาดใหม่ (Emergent market) ดัชนีประเทศเกาหลีเหนือ และดัชนีประเทศออสเตรเลีย

เป็นที่น่ายินดีว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้ ได้รับการจัดให้เป็นบริษัทที่มีคะแนนสูงในระดับที่ได้รับการจัดเข้าคำนวณดัชนี DJSI จำนวนถึง 10 บริษัทในปี 2014 ที่ผ่านมา

ประกอบด้วย บริษัทในกลุ่ม ปตท. รวม 5 บริษัท คือ ปตท. (PTT) ปตท.สผ. (PTTEP) พีทีที โกลบอลเคมิคอลส์ (PTTGC) ไทยออยล์ (TOP) และ ไออาร์พีซี (IRPC) นอกจากนั้น ยังมี เอสซีจี (SCC) หรือ กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย บ้านปู (BANPU) เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ (TUF) และ ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)

การวัดศักยภาพของความยั่งยืนของธุรกิจอย่างเป็นระบบ กำลังเป็นที่สนใจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และต่างพยายามที่ดึงดูดใจผู้ลงทุนด้วยการพยายามที่จะทำให้บริษัทของตนได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมในการคำนวณดัชนี DJSI

สำหรับในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็พยายามส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนให้เข้าอยู่ในระบบของดัชนี DJSI ให้เท่าเทียมกับบริษัทชั้นนำต่างๆ ในโลกเช่นกัน

และอาจรวมไปถึงบริษัททั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ เช่นกัน!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีวัดความยั่งยืนของธุรกิจ

view