สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนทางยกระดับรถเมล์เมืองกรุง สร้างฝันเพื่อ 5 ล้านคน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

อาจเพราะความเหนื่อยหน่ายถึงปัญหาของ “รถเมล์สาธารณะ” ในกรุงเทพมหานคร ทำให้กลุ่มผู้ใช้นับล้านคนต้องนิ่งเฉยถึงปัญหา และปล่อยตามแต่ยถากรรมจะนำพา เพราะระบบขนส่งที่คู่เมืองหลวงมานาน คงไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

“ขับเร็ว” “รถเก่าจริงๆ” “เสียบ่อย ขวางทางจริงโว้ย” “เหม็น สกปรก” หลากคำสบถถึงรถเมล์ไทยที่ผู้ใช้บริการต้องไม่สบอารมณ์ แต่ด้วยว่าตัวเลือกทางขนส่งสาธารณะที่มีให้บริการให้ใช้อย่างจำกัด ก็ต้องกัดฟันขึ้นกันต่อไป เพราะระบบรางก็หาใช่ว่าจะครอบคลุมไปทุกพื้นผิวของกรุงเทพฯ

แต่การเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาเยือน ช้าเร็วอาจจะยังไม่เป็นรูปธรรม แต่ที่แน่ๆ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. รับปากมั่นเหมาะจะปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อรองรับอนาคตในภาคหน้า เพราะวันที่ 18 มี.ค.2558 เป็นวันดีที่ลงนามความร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (วสท.) ขอส่งวิศวกรด้านเครื่องยนต์ มาช่วยเหลือสภาพรถเมล์ที่เก่าแก่ร่วม 20 ปี ให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบใดบ้าง อะไรๆ จะดีขึ้นจริงหรือไม่ และสาเหตุแห่งคำสบถต่างๆ ที่ถาโถมให้รถเมล์เมืองกรุงเกิดจากอะไร ช่างน่าติดตาม

“เพราะคนกรุงเทพฯ กว่า 5 ล้านคนจากจำนวน 7 ล้านคน ใช้รถเมล์อยู่ทุกวัน และจำนวนที่มากกว่าระบบขนส่งด้านอื่นๆ ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาด้วยปัญหามากมายต่างๆ ทำให้ขสมก.ตกเป็นจำเลยของสังคม คำตอบคืออาจเพราะรัฐละเลยไม่สนใจ มุ่งไปในทิศทางพัฒนาขนส่งระบบราง ที่เป็นพระเอกอยู่ในขณะนี้”สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. เปิดฉากวิพากษ์

สุชัชวีร์ อธิบายว่า ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเริ่มจากขสมก. และวสท.จะเข้าไปช่วยเหลือด้านวิศวกรรม เพราะมีส่วนครอบคลุมในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านตัวรถที่ต้องให้บริการเป็นหลัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะสิ้นเปลือง งบเหลือจะได้มีส่วนไปพัฒนาด้านอื่นๆ วสท.มองว่าต้องพัฒนาอย่างจริงจังได้แล้ว และรัฐบาลต้องหันมาสนใจรถเมล์อย่างจริงจัง เพราะนี่คือกลุ่มคนระดับกลางและล่างที่ใช้บริการจำนวนมาก

นายก วสท. ย้ำอีกว่า ยอมรับว่าการขนส่งระบบรางเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ทั้งปลอดภัย แต่กระนั้นก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนที่ใช้บริการถึงบ้าน เพราะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งอย่าลืมว่าทุกวันนี้คนซื้อบ้านกันอยู่ก็ตามชานเมืองทั้งสิ้น และในเส้นทางของการขนส่งระบบรางที่พัฒนากันก็อยู่กลางเมือง พื้นที่ต่างๆ ถูกจับจองเป็นคอนโดมิเนียมในราคาที่แสนแพง กลุ่มคนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าไปซื้อเพื่ออยู่อาศัยและได้ผลพลอยได้จากขนส่งระบบราง ดังนั้นรถเมล์จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทั้งระบบให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับแนวทางในการพัฒนาตามแนวคิดของวิศวกรรมแล้ว สุชัชวียร์ บอกว่า รถเมล์ก็เหมือนเส้นเลือดฝอย ต้องวางระบบกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เส้นเลือดฝอยนี้ไปเชื่อมต่อกับเส้นเลือดหลักคือขนส่งระบบรางให้ได้ ทำได้ก็เชื่อมคนเชื่อมระบบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะต่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็ทำเช่นนี้กันทั้งหมด เราอาจจะไม่ได้เหมือนต่างชาติแต่ก็ต้องได้ใกล้เคียง 

“กรุงเทพฯทุกวันนี้ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เรียกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเลย พลังสิ้นเปลืองก็มาจากรถเมล์ที่ส่วนหนึ่งเครื่องยนต์ก็เก่า เกิดปัญหาบ่อยครั้ง จึงมองได้เหมือนกันว่ากรุงเทพฯ อาจเป็นตัวถ่วงของประเทศ ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาจัดการอย่างถูกระบบ เพราะถึงอย่างไรเราก็ยังคงต้องใช้รถเมล์ เพราะรถไฟฟ้ามันสร้างตามไม่ทันการขยายตัวของประชาชน”นายก วสท. ย้ำ

แต่เจ้าภาพอย่างขสมก. ที่ต้องจัดการตัวเองและแต่งองค์ทรงเครื่องขนานใหญ่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการองค์การ รักษาการผู้อำนวยการขสมก. อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นว่า 3 โจทย์หลักที่ต้องจัดการรถเมล์เมืองกรุง คือ  1.การลดค่าใช้จ่าย 2.การเพิ่มรายได้ และ3.การเพิ่มคุณภาพ ยุทธศาสตร์ทั้งหมดถูกริเริ่มไปบางส่วนแล้ว แต่เหนืออื่นใดในการยกระดับการพัฒนา รัฐบาลต้องให้ความสำคัญด้วย อย่าปล่อยให้ขสมก.ต้องเดินไปตามยถากรรม

กระนั้นก็ตาม โชคดีพอควรที่ขสมก.ได้วสท.เข้ามาช่วยเหลือด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยว่ารถเมล์ของขสมก.ในขณะนี้มีอยู่จำนวน 3,011 คัน แต่ใช้จริงๆ แล้วมีเพียงแค่ 2,516 คันเท่านั้น เพราะอีก 495 คันถูกปลดระวาง และบางส่วนไม่ถูกต่อสัญญา และจำนวนที่ใช้งานกันก็มีอายุ 18-20 ปี ดังนั้นการดูแลเรื่องเครื่องยนต์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“แน่นอนว่าต้องจัดซื้อรถเมล์ใหม่ที่ใช้ NGV มาเพิ่มอีก 489 คัน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ายื่อซองประกวดราคา โดยรถใหม่จะดีกว่าของเดิมแน่นอน”

ดีอย่างไร ดีแบบไหน ปราณี บอกเพิ่มเติมว่า รถใหม่จะติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด หรือกล้อง CCTV ในรถ และจะควบคุมการเดินทางด้วยระบบ GPS รวมถึงจะตั้งศูนย์ระบบควบคุมรถให้แล้วเสร็จในปี 2559 สำหรับต้นแบบรถเมล์ใหม่จะใช้กับสายปอ. 140 เส้นทางแสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถเมล์ที่จะริเริ่มต้นแบบจะเป็นระบบเทคโนโลยี คำนวณระยะเวลาการเดินทางถึงที่หมายแต่ละป้าย และจำนวนของผู้โดยสารแต่ละชั่วโมงให้เหมาะสม

“ที่สำคัญรถรุ่นใหม่จะเป็นรถชานต่ำ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้ใช้ประโยชน์ในการขึ้นลง และที่ผ่านมาได้ประสานไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขระดับคอสะพานให้เหมาะสมกับรถเมล์ใหม่ด้วย”

ปราณี ย้ำว่า ในอนาคตสำหรับรถเมล์กรุงเทพฯ จะศึกษาเรื่องการนำรถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ เนื่องจากประหยัดจากการสิ้นเปลืองพลังงานน้ำมัน และยังไร้มลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพิจารณาหาทางให้ใช้ตั๋วร่วม หรือ E-TICKET เชื่อมต่อระบบขนส่งทั้งระบบรางและรถเมล์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชน และอาจไม่จำเป็นต้องมีกระเป๋ารถเมล์แล้วก็ได้

“39 ปีที่ผ่านมาของขสมก.ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จากนี้ต้องเอาจริงเอาจังกันแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นระบบรถเมล์บ้านเราก็จะเป็นปัญหาอยู่แบบเดิม รวมถึงบุคลากรที่ให้บริการก็ต้องมีคุณภาพ เพราะหากพัฒนาตัวเครื่องจักรมาแค่ไหน แต่มารยาทผู้ให้บริการยังไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ เราหวังว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงให้ความสำคัญกับการร่วมมือพัฒนารถเมล์”ปราณี ย้ำทิ้งท้าย

ความหวังของคนกรุงกว่า 5 ล้านคนที่ใช้รถเมล์จะได้มี “รถเมล์ในฝัน” ที่ทัดเทียมหรือใกล้เคียงโลกสากลที่พัฒนาไปแล้วหรือไม่ ในอนาคตคงได้เห็นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนทางยกระดับ รถเมล์เมืองกรุง สร้างฝัน เพื่อ 5 ล้านคน

view