สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พีระมิดที่สร้างไม่เคยเสร็จ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Education Ideas

โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

วาระแห่งการปฏิรูปการศึกษา 2558 เริ่มมาได้สักระยะ และยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความหวังของทุกฝ่ายบนเส้นทางแห่งการค้นหาแนวทางการปฏิรูป ผมขอใช้พื้นที่ใน Education Idea นำเสนอเงื่อนไขที่ควรตระหนักในเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาไทย 2558"

ความคิดในการเขียนเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อผมได้อ่านบทความในหนังสือจุฬาบัณฑิต 2490 โดย "นายแพทย์ทิพย์ ผลโภค" ซึ่งท่านวิเคราะห์ลักษณะของสังคมไทย ตามความในใจของท่านไว้ว่า...ดังนี้ พวกเราจึงเป็นกันอยู่ดังที่เป็น ไม่ได้คืบหน้าไปไหนเหมือนใครอื่นใดที่เขาเริ่มสร้างตัวพร้อม ๆ กันในแถบซีกโลกนี้ เราจะเป็นอะไรต่อไปอีก ถ้าเรายังไม่รู้จักทำต่อแทนทำใหม่ ถ้าเรายังคงทำอะไรฉาบฉวยไม่คงเส้นคงวาและถ้าเรายังคงเอางานมาทำเป็นเล่นและเอาเล่นมาทำเป็นงาน

สรุปคือ ลักษณะของสังคมไทยที่ไม่รู้จักทำต่อ "สิ่งที่ดีอยู่เดิม" เอาแต่เริ่มทำใหม่ใน "สิ่งที่คิดว่าน่าจะดี" นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราติด "กับดักความคิด" ผลที่เกิดแก่ประเทศชาติคือคุณภาพการศึกษาที่ย่ำแย่ตกต่ำลงทุกวัน เหมือนซากปรักหักพังของพีระมิดที่ก่อไว้ไม่เสร็จ

บทความดังกล่าวให้แง่คิดอะไรในห้วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษา 2558 แก่เราบ้าง

"เราจะเรียนรู้การทำต่อสิ่งดีที่มีอยู่จากอดีตบ้างหรือไม่ ในเรื่องใด และอย่างไร"

ผมขอนำตัวอย่างกรณีศึกษาจากอดีตที่Education Communications ของปิโก (ไทยแลนด์) เรียบเรียงไว้ กรณีศึกษาของฉะเชิงเทราโมเดล และกรณีศึกษาสาธิตปทุมวัน จากรายงานการสอนซ่อมเสริมสำหรับเด็กเรียนช้า ได้ให้แง่คิดอะไรแก่ท่านบ้าง

กรณีศึกษาฉะเชิงเทราโมเดล รอยต่อที่สูญหายในวงการศึกษาไทย "ฉะเชิงเทราโมเดล" จึงเป็นโครงการที่องค์การยูเนสโก ร่วมกับรัฐบาลมุ่งวางระบบการศึกษาในโรงเรียน ระหว่าง พ.ศ. 2499-2503 เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนประชาบาลทั่วประเทศ

ส่วนประถมศึกษา หรือโรงเรียนประชาบาลซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ จึงเป็นเสมือนหัวใจของโครงการ เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดใหม่ ๆ หลายอย่าง เป็นอานิสงส์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมากมาย ทั้งในแง่หลักสูตร ปรัชญาการเรียนการสอน บุคลากร

โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่า ในช่วง 60 ปีก่อนได้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนที่ยึดเด็ก และชุมชนเป็นศูนย์กลางขึ้นแล้ว โดยมีการกำหนดแผนการสอนเป็น "หน่วยวิชา" โดยยึดวิชาสังคมศึกษาเป็นแกน

ในหนังสือยังเรียบเรียงเรื่องราวของโครงการที่ให้ความสำคัญแก่ ครูใหญ่ ครู การจัดการศึกษาชั้นเด็กเล็ก ประถม มัธยมสามัญ มัธยมวิสามัญอาชีวศึกษา และการฝึกหัดครู รวมทั้งปัญหาอุปสรรคเพื่อเป็นบทเรียนในการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

กรณีศึกษาวิทยานิพนธ์ "การสอนซ่อมเสริมสำหรับเด็กที่เรียนช้า" วิทยานิพนธ์นี้เขียนโดย "รศ.คุณหญิง สมจิตต์ ศรีธัญรัตน์"(2510) ขณะดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมสาธิตวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน แม้ว่าจะเป็นรายงานการวิจัยที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

แต่องค์ความรู้ และประสบการณ์ กลับสะท้อนให้เห็นความล้ำสมัยในความคิด และหลักการบริหารโรงเรียนที่แสดงปรัชญาการจัดการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน (ซึ่งเป็นปรัชญาการศึกษาของประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษา เช่น ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ ในปัจจุบัน)

สาระในบทสุดท้ายให้ข้อสรุป และข้อเสนอแนะที่เป็นหัวใจในการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งควรเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

- แก่นหรือปรัชญาในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเพื่อเด็กทุกคน

- กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการบริหารโรงเรียนที่ไม่ทิ้งเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ไว้ข้างหลัง ตลอดจนมุ่งหาวิธีการพัฒนาศักยภาพของเด็กทุกคนตามความสามารถ

สำหรับแนวทางการบริหารโรงเรียนสาธิตปทุมวันสมัยนั้น แสดงให้เห็นกรอบความคิด โดยมุ่งประเด็นสำคัญในการพัฒนาเด็ก คือ 1) โอกาสที่เท่าเทียมในเรื่องการศึกษา (Equity in Education) ทั้งแก่เด็กที่มีความสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ปานกลาง และเด็กที่เรียนช้า ทุกคนมีสิทธิได้รับการสนับสนุนทางการศึกษา 2) ทักษะการคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหา 3) ทักษะการทำงานเป็นทีมอย่างร่วมมือรวมพลัง 4) ทักษะความคิดสร้างสรรค์ 5) ทักษะในการสื่อสาร 6) ทักษะการเชื่อมโยงความคิด (การจัดการโครงการ และการคิดเชิงระบบ) ผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กทุกคนในโรงเรียนสามารถพัฒนาทักษะดังกล่าว เห็นได้จากบทความของศิษย์เก่าของโรงเรียน

ซึ่งต่อมาท่านเหล่านี้เติบโตเป็นผู้นำทางความคิดของชาติ เช่น รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร, ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นต้น (จากหนังสือ 60 ปีสาธิตปทุมวัน จากหนึ่งสู่อนันต์...จับใจมานานช้า, 2556)

กรณีศึกษา และอดีตที่ควรเรียนรู้ยังมีอีกมากมาย ควรศึกษาให้รอบด้าน เราต้องทบทวนตัวเองในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ว่าเมื่อห้าสิบปีหกสิบปีที่แล้ว เราอาจมีองค์ความรู้ที่ดีที่สุดเทียบเท่าแนวคิดสากลในปัจจุบัน แต่วันนี้ !!! ทำไมสิ่งเหล่านั้นจึงสูญหายไป

ทำไมองค์ความรู้เหล่านั้นจึงไม่สามารถนำสู่การเป็นแนวทางปฏิบัติแก่โรงเรียนทั่วไปได้ อะไรคือเรื่องสำคัญที่เราทำไม่สำเร็จ หรือแท้จริงเราไม่รู้วิธีที่จะนำแนวคิดเหล่านี้สู่การปฏิบัติ (Deliver) อย่างเป็นระบบ

บันทึกจากอดีตเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการคิด และทำ เพื่ออนาคตวันข้างหน้า

หากมัวแต่ทำแล้วรื้อ สร้างแล้วถอน ด้วยอัตตาที่ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองรู้ดี และดีกว่าคนอื่น จนไม่ยอมเรียนรู้อดีต เราก็จะเจอปรากฏการณ์ซ้ำซาก กับดักความคิด ที่ทำให้เราไม่ได้คืบหน้าไปไหนเหมือนเดิม

ที่ไม่แตกต่างจากหกสิบปีก่อนตามคำกล่าวในบทความข้างต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พีระมิด สร้างไม่เคยเสร็จ

view