สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพราะโลกนี้มีแค่ใบเดียว

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) มีวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั่นคือการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ คุณภาพ และยั่งยืน มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตสินค้า และบริการบนฐานปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน

มีความมั่นคงทางอาหารและ พลังงาน การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมให้เพียงพอต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานที่มั่นคงของการ พัฒนาประเทศ

เหลือเวลาอีก 2 ปีที่แผนนี้จะหมดอายุ แม้ว่าในภาพรวมปัญหาต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากภาวะโลกร้อน แต่ยังได้เห็นสัญญาณของการเริ่มก้าวเดินเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ร่วมกัน

ประเด็นสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นหนึ่งในรูปธรรมที่มีการดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมาย Carbon Footprint (CFP) 1,388 ผลิตภัณฑ์จาก 339 บริษัท และยังมีผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย CFP อีก 858 ผลิตภัณฑ์จาก 209 บริษัท

ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับเครื่องหมาย CFP แสดงว่ามีการควบคุมการสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้า ไปตลอดกระบวนการผลิต จนถึงการส่งผลิตภัณฑ์ถึงผู้บริโภค และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานด้วย ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้คือ เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ผลิตทุกรายดำเนินการอย่างจริงจัง

เพราะต้นเหตุ สำคัญของภาวะโลกร้อนมาจากการบริโภค ในโลกของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เต็มไปด้วยการบริโภคที่เกินความจำเป็น ประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวันก็คือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ถ้าหากไม่เปลี่ยนวิธีคิด และการใช้ชีวิต โลกที่เราอยู่ร่วมกันนี้เพียงใบเดียวคงไม่เพียงพอเสียแล้ว เราต้องหาโลกใบใหม่เพิ่มขึ้น

ภาวะ โลกร้อนส่งผลที่น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แต่ยังมีปัญหาโรคระบาดของทั้งคน สัตว์ และพืช ฝนแล้ง น้ำท่วม ปัญหาน้ำเค็ม พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง เกิดปัญหาการแพร่ขยายของพันธุ์สัตว์ในธรรมชาติ

นั่นคือการเกิดปัญหา ต่อแหล่งอาหาร ที่ทำให้ไม่พอเพียงต่อปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 ประชากรโลกจะมีจำนวน 7.9 พันล้านคน และจะเพิ่มเป็น 9.3 พันล้านในปี ค.ศ. 2050

ทิศทางในการพัฒนาของโลก ที่ประกาศกันว่ากำลังมุ่งไปสู่เส้นทางเดียวกันคือการสร้างความยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก และความตระหนักรู้ของคนในปัจจุบันว่าจะส่งมอบโลกใบนี้ให้ลูกหลานอย่างไร

Carbon Footprint เป็นแนวทางหนึ่งที่มีกระบวนการที่ชัดเจน และมีผลที่คาดหวังได้ถ้ามีการดำเนินการอย่างจริงจังในทุกภาคส่วนของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่

การสร้างจิตสำนึก และความตระหนักรู้ต้องทำไปพร้อมกัน และต้องหาวิธีการทำอย่างเป็นกระบวนการเพื่อให้นามธรรมกลายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

จิตสำนึกคือความรู้สึกต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำในสิ่งที่ผิด และกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ความ ตระหนักรู้คือรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผิด อะไรคือสิ่งที่ถูก โดยต้องมีข้อมูล องค์ความรู้เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น ให้ข้อมูลว่า ขยะพลาสติก โฟม มีผลต่อโลกอย่างไร ใช้เวลากี่ร้อยปีในการย่อยสลาย และสร้างมลพิษอย่างไร เป็นต้น

องค์กรที่ทำ CSR ต้องมีภารกิจนี้ควบคู่ไปด้วยสำหรับคนในองค์กร เพราะพวกเขาคือหนึ่งในพลเมืองของโลกใบนี้ การทำให้คนหนึ่งคนในองค์กรมีจิตสำนึกและความตระหนักรู้ จะเป็นตัวคูณแผ่ขยายไปในครอบครัวและสังคมของเขาด้วยเช่นกัน

ขั้นตอน หนึ่งในกระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นการประเมินวิถีการบริโภคของตนเองและครอบ ครัวว่ามีปริมาณเกินความจำเป็นไปมากแค่ไหน เรามีส่วนในการสร้างขยะให้แก่โลกมากแค่ไหน จะลดปริมาณลงอย่างไร

แผน แม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการดำเนินการไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2593 มีแนวทางในการปฏิบัติระบุไว้ว่าจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สินค้าและ บริการทุกประเภทได้รับเครื่องหมาย CFP มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ในหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) และส่งเสริมการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ตามบริบทแต่ละพื้นที่

หากเป็นไปดังที่เราวาดฝันร่วมกัน นั่นคือมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โลกใบนี้ของเราก็ยังคงพอเพียงสำหรับทุกคนในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เพราะโลกนี้มีแค่ใบเดียว

view