สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวิตเซอร์แลนด์ ขอเป็นกลางในสงครามค่าเงิน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร นางสาวพิมพัชรา กุศลวิทิตกุล

ในสภาวะเศรษฐกิจอันอ่อนแอในปัจจุบัน ประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจต่างเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตน โดยไม่คำนึงถึง ผลข้างเคียง ของการกระทำดังกล่าวต่อประเทศอื่น ๆ จนเกิดเป็น "สงครามค่าเงิน" ขึ้น และในสมรภูมิค่าเงินนี้ สวิตเซอร์แลนด์ได้ประกาศตัวเป็นกลาง โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ธนาคารกลางสวิสได้ยกเลิกการตรึงค่าเงินกับยูโร หลังจากที่ได้ตรึงค่าเงินไว้เป็นเวลากว่าสามปี

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดธนาคารกลางสวิสจึงตรึงค่าเงินกับยูโรในช่วงที่ผ่านมา ?

เมื่อย้อนกลับไปปี 2551 ท่ามกลางความปั่นป่วนจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ธนาคารกลางต่าง ๆ ได้ทำทุกวิถีทางที่จะพยุงเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก จึงมีการทดลองใช้ "มาตรการทางการเงินแบบใหม่" (Unconventional Monetary Policy) เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐที่ได้ดำเนินมาตรการ QE โดยพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดสภาวะสภาพคล่องล้นโลก และเกิดความผันผวนของค่าเงินและราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก

ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงิน "สวิสฟรังก์" ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสกุลเงินมีความมั่นคงสูง จึงเปรียบเสมือนโอเอซิสที่นักลงทุนต่างมุ่งเข้าซื้อเพื่อหลบภัยจากพายุทางการเงิน


การแห่เข้าซื้อสินทรัพย์สกุลเงินสวิสฟรังก์ดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินสวิสฟรังก์ต่อยูโรในปี 2554 แข็งขึ้นอย่างมาก แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ การค้าขายกับประเทศในภูมิภาคยุโรป มีสัดส่วนกว่ากึ่งหนึ่งของการส่งออกรวม การแข็งค่าของสวิสฟรังก์ย่อมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์อย่างมีนัยสำคัญ

ส่งผลให้ธนาคารกลางสวิสจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้แข็งไปกว่า 1.2 สวิสฟรังก์ต่อยูโร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554

คำถามต่อไปคือ เหตุใดธนาคารกลางสวิสจึงเปลี่ยนใจเลิกตรึงค่าเงิน ?

แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือมีเพียงสหรัฐที่ฟื้นตัว ในขณะที่จีนชะลอลง ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นยังคงซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศที่เข้มแข็งกลับมาแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ค่าเงินของประเทศที่อ่อนแอมีทิศทางอ่อนค่าลง ดังนั้น สวิสฟรังก์ที่ยังคงเป็น Safe Haven ในตลาดการเงินโลก จึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้แข็งค่าขึ้น

นโยบายตรึงค่าเงิน จึงทำให้ธนาคารกลางสวิสต้องเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยการเข้าซื้อยูโรเป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี

แม้ว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินแทบจะไม่มี ต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสวิตเซอร์แลนด์ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของยุโรป ในทางตรงกันข้าม การออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินจะส่งผลให้ธนาคารกลางสวิสได้กำไรเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวติดลบ

อย่างไรก็ตาม การสะสมสินทรัพย์ยูโรเป็นจำนวนมาก ก็เป็นความเสี่ยงต่อธนาคารกลางสวิสเอง ซึ่งหากค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงก็จะส่งผลให้สินทรัพย์ในทุนสำรองด้อยค่าลง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการด้อยค่าในเชิงบัญชี แต่ย่อมมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของธนาคารกลาง ดังเห็นได้จากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้มีข้อเสนอให้ธนาคารกลางสวิสถือทองคำเป็นสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อจำกัดผลกระทบจากการถือสินทรัพย์ยูโร จนรัฐบาลสวิสต้องจัดประชาพิจารณ์ หาข้อสรุปให้กับข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกปัดให้ตกไป

แล้วเหตุใด ธนาคารกลางสวิสจึงต้องประกาศเลิกตรึงค่าเงินในตอนนี้


ชนวนสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสวิสตัดสินใจละทิ้งการตรึงค่าเงินกับยูโร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 น่าจะเกิดจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเพิ่มระดับและประเภทสินทรัพย์ในการทำ QE ในไม่ช้า

ที่ผ่านมาแม้ ECB จะประกาศและเริ่มดำเนินมาตรการ QE แล้ว แต่ขนาดและความครอบคลุมของประเภทสินทรัพย์ที่ ECB เข้าซื้อยังอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากเยอรมนีคัดค้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อ สนธิสัญญามาสทริชต์ ที่รวมเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้มาตรการ QE ของ ECB จำกัดอยู่เฉพาะการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ของภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 ศาลยุโรปได้ตัดสินว่า การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่ขัดกับหลักการของสนธิสัญญามาสทริชต์ จึงทำให้นักลงทุน รวมถึงธนาคารกลางสวิส คาดว่า ECB จะประกาศยกระดับการดำเนินมาตรการ QE ในเร็ววันนี้ ซึ่งหากมีการทำ QE เพิ่มขึ้น โดยที่ธนาคารกลางสวิสยังคงตรึงค่าเงินไว้กับยูโร ธนาคารกลางสวิสก็จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยจะต้องเข้าซื้อเงินยูโรมาเก็บไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้นในภาวะที่นโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความแตกต่าง สวิตเซอร์แลนด์ ที่เลือกจะเป็นกลางโดยไม่ผูกยึดค่าเงินของตัวเองกับค่าเงินใด ๆ จึงได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินกับยูโร และปล่อยให้ค่าเงินสวิสฟรังก์เคลื่อนไหวได้อย่างเสรีอีกครั้ง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้นของการยุติการตรึงค่าเงินดังกล่าว คือ การปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของสวิสฟรังก์ โดยถึงแม้ธนาคารกลางสวิสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อม ๆ กับการประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินดังกล่าว จนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ -0.75 เพื่อลดความร้อนแรงของการแข็งค่าของสวิสฟรังก์แล้ว แต่ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศการยกเลิกการตรึงค่าเงิน สวิสฟรังก์ก็แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 30 ก่อนที่จะลดระดับลงไปอยู่ที่ร้อยละ 15 เมื่อสิ้นวัน

การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของสวิสฟรังก์ ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกสวิตเซอร์แลนด์ในระยะต่อไป "ความเป็นกลาง" จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สวิตเซอร์แลนด์ ขอเป็นกลาง สงครามค่าเงิน

view