สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับปูใส่กระด้ง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ผมยังมีความเชื่อแบบคนรุ่นเก่าว่า ถ้าเราตั้งใจเรียนหนังสือในห้องให้ดีที่สุด ตอนเย็นกลับมาทบทวนตำรับตำราเรียนก่อนนอนอีกสักหน่อย ก็ไม่เห็นจะต้องไปเสียเงินติวหนังสือให้เปลืองตังค์เลย

และไม่ต้องไปเรียนพิเศษในตอนเย็น

วันเสาร์หรืออาทิตย์

ที่ล้วนแต่จะทำให้ปวดหัวจนแทบไม่มีเวลาเล่น ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนเลย

ผ่านมาในอดีต พ่อแม่ผมก็สอนแบบนี้ แม้จะไม่ได้เรียนเก่งเลิศเลออะไร เพราะช่วงชีวิตวัยเด็กหนักไปทางผจญภัยเสียมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนชีวิตล่วงเข้าสู่ช่วงมัชฌิมวัย ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองที่วัยเด็กรู้จักใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลือง

จนนำมาเป็นวัตถุดิบในการดำรงชีวิตทุกวันนี้

ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้อย่างมาก ที่พ่อแม่ต่างเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนอย่างหัวปักหัวปำ ถ้าลองไปถามพวกเขาเหล่านั้นว่า ทำไมถึงส่งลูกเรียนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ก็จะได้คำตอบคล้าย ๆ กันว่า เพื่ออนาคตของพวกเขาอยากให้เขาสบาย

สมัยเราตอนนั้นลำบาก ไม่มีปัญญา แต่พอถึงตอนนี้พอจะมีฐานะบ้าง ก็อยากจะให้เขาสบายมากกว่าเรา แต่เขาก็ไม่เคยถามลูกเลยสักคำว่า...เขาอยากเรียนมั้ย

ยิ่งบางครอบครัวยอมเสียค่าบำรุงการศึกษา ในภาษาของทางโรงเรียนซึ่งก็คือ แป๊ะเจี๊ยะดี ๆ นั่นแหละ หรือบางโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนฝรั่ง ใช้คำว่า Partnership หรือการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

ด้วยการลงทุนเพื่อสร้างนักเรียนร่วมกัน

สนนค่าใช้จ่ายสำหรับค่า Partnership มีตั้งแต่ 1 แสนบาท จนถึง 1 ล้านบาท

ซึ่งใครจะเชื่อละว่า โลกการศึกษาในปัจจุบันเป็นเช่นนี้จริง ๆ

เมื่อเข้าโรงเรียนไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องจ่ายอะไรอีกนะครับ ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ผู้ปกครองต้องจ่าย ไหนจะค่าเรียนพิเศษในคาบ 8-9

วันเสาร์

หรือบางทีครูประจำชั้นนั่นแหละ ก็รับสอนพิเศษอีกชั่วโมงละ 200-500 บาท เรียนครั้งหนึ่งประมาณ 2 ชั่วโมงอย่างต่ำ ก็ประมาณ 400-1,000 บาทต่อคน

วันหนึ่งรับสอนพิเศษ 5-7 คน

ลองคูณดูนะครับว่า ครูประจำชั้น หรือครูที่สอนวิชาหลักอย่าง คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, วิทยาศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี และชีวะ รับเงินเดือนหนึ่งเท่าไหร่

ไม่เช่นนั้นคงไม่ถอยรถป้ายแดง

หรือผ่อนคอนโดมิเนียมกันเป็นว่าเล่น

ผมเคยอยากคันปากถามครูสักครั้งหนึ่งว่า...ทำไมในเวลาเรียน คุณไม่สอนให้มันถึงกึ๋นวะ

ทำไมต้องกั๊ก เพื่อหารับประทานกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จนพบคำตอบจากผู้ปกครองคนหนึ่งว่า เหตุที่ต้องส่งไปเรียนพิเศษกับครูประจำชั้น หรือครูที่สอนวิชาหลัก เพราะต้องการให้ลูกของเขาได้เกรดดี ๆ เพื่อจะได้เตรียมสอบตรงเข้ามหา"ลัย

เพราะการสอบตรงของบางคณะกำหนดเกรดไว้เลยว่า คุณจะต้องได้เกรดเท่าไหร่ถึงจะสอบได้

ประกอบกับค่านิยมของคนในสมัยนี้ อยากให้ลูกตัวเองสอบเข้ามหา"ลัยชั้นนำของรัฐเท่านั้นถึงจะมีอนาคต ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าค่านิยมแบบนี้เมื่อไหร่จะหมดเสียที

เพราะชีวิตการทำงานจริง ๆ คนที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นจะต้องจบจากมหา′ลัยชั้นนำเสมอไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตในช่วงผ่านมาของเขามากกว่า

เรียนอย่างเดียว หรือทำกิจกรรมมหา"ลัยบ้าง

เคยลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนบ้างไหม

เคยออกค่ายอาสาพัฒนาบ้างหรือเปล่า

ตรงนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของคนคนนั้นว่า ผ่านมาตลอด 4 ปีของการเรียนในระบบ คุณเคยเอาตัวเองเข้าไปช่วยเหลือใครบ้างหรือเปล่า

ไม่ใช่เอาแต่เดินตากแอร์ ปรุงแต่งโลกสวยไปวัน ๆ

ก็ในเมื่อระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างนี้ จึงไม่แปลกหรอกที่จะทำให้เกิดติวเตอร์นอกระบบ และในระบบเป็นจำนวนมาก

เพราะเขามองเห็นเม็ดเงินที่จะได้จากผู้ปกครองอย่างง่าย ๆ

ทำไมเขาจะไม่หันมาประกอบวิชาชีพโรงเรียนกวดวิชากันละครับ ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดเก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชา ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5-35% และนิติบุคคล 20% จึงนับเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง

พวกเขาเสวยสุขกันมานานแล้ว

แต่กระนั้นก็ควรที่จะจัดเก็บภาษีพวกครู

ที่สอนตามบ้าน คอนโดมิเนียม ตามร้านฟาสต์ฟู้ด และอะไรต่าง ๆ ด้วย เพราะพวกนี้ก็ต่างเสวยสุขมานานแล้วเช่นกัน

ทำเหมือนเรื่องหวย

เอาพวกใต้ดินให้มาอยู่บนดินซะ

แล้วจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

แล้วจะรู้ว่ามูลค่าเม็ดเงินของตลาดโรงเรียนกวดวิชาจริง ๆ ไม่ได้อยู่แค่ 8 พันกว่าล้านบาท หากน่าจะมีมากกว่าหลายหมื่นล้านบาท

ว่าแต่อาจจะต้องจับปูใส่กระด้งหน่อยนะครับ

เพราะมียุ่บยั่บอยู่ทั่วประเทศ

ดังนั้นทางเดียวที่แก้ได้ คงต้องเปิดตู้ ป.ณ. แจ้งเบาะแสล่วงหน้า ว่าแต่คณะรัฐบาลชุดนี้จะแก้หรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะลำพังแค่เรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคายังคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้

โปรดรีบดำเนินการด่วนครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับปูใส่กระด้ง

view