สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 ข้อเสนอ ปฏิรูปงบประมาณ ประชานิยม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย สถาบันอนาคตไทยศึกษา

เมื่อพูดถึงนโยบาย "ประชานิยม" คนมักจะพูดถึงโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนไปเกือบ 6.9 แสนล้านบาท แต่แท้จริงแล้วยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ใช้งบประมาณไปไม่น้อยเช่นกัน

ล่าสุด ตัวเลขจาก กองทุนพลังงานพบว่า ระหว่างปี 2553-2557 เราใช้เงินอุดหนุนก๊าซแอลพีจีไปกว่า 1.4 แสนล้านบาท ทำให้งบประมาณที่ใช้อุดหนุนพลังงาน เฉพาะดีเซลกับแอลพีจีนั้น คิดเป็นเงินกว่า 5.2 แสนล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเป็นบทเรียนในการกระตุ้นให้สังคมเห็นความ สำคัญถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างขาดความระมัด ระวัง และนำไปสู่แนวคิดที่ต้องการตีกรอบจำกัดการใช้นโยบายลักษณะนี้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างไรเสีย จุดมุ่งหมายหลักของนักการเมือง คือ ต้องการได้รับเลือกตั้ง ดังนั้น การจะให้นักการเมือง เลิกทำนโยบายประชานิยม จึงเป็นไปได้ยาก

เพราะสามารถสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองได้ทันที บางครั้งสามารถผลักภาระทางการคลังไปในอนาคตได้ แตกต่างจากนโยบายที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างโครงการลงทุนของภาครัฐที่กว่าจะเห็นผลลัพธ์ต้องใช้ระยะเวลา ส่วนผู้รับผลประโยชน์ก็กระจัดกระจายไม่ได้เป็นฐานเสียงที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น โจทย์หลักเกี่ยวกับประชานิยมต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ควรจะทำนโยบายประชานิยมหรือไม่ เพราะไม่ว่าอย่างไร นักการเมืองก็ต้องทำอย่างแน่นอน

แต่จะเป็นการกำหนดกรอบงบประมาณประชานิยมอย่างไร เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังมากกว่า

ดังนั้น สถาบันอนาคตไทยศึกษา ขอเสนอแนวทางเกี่ยวกับกรอบงบประมาณประชานิยม ดังนี้

1.ควรระบุและจำกัดงบประมาณประชานิยมให้ชัดเจน เช่น ไม่เกินงบฯลงทุน

ตั้งแต่ปี 2553-2557 เราจัดสรรงบประมาณไปทำประชานิยมเกือบ 2 ล้านล้านบาท เพราะมักเน้นการลด แลก แจก แถม และมีลักษณะปลายเปิด ทำให้ไม่สามารถประมาณการงบประมาณที่ใช้ได้ เช่น รถคันแรกที่ไม่จำกัดจำนวนรถที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งมักจะใช้เงินนอกงบประมาณในการทำนโยบาย เช่น จำนำข้าว ใช้เงินของ ธ.ก.ส. ทำให้ตรวจสอบได้ยากยิ่งขึ้น เป็นต้น ในช่วงเวลาเดียวกัน เราจัดสรรงบประมาณเพื่อทำนโยบายลงทุนเพียง 1.3 ล้านล้านบาท โดยงบฯลงทุนตั้งแต่ปี 2553-2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นช้ากว่างบประชานิยม

โดยงบฯลงทุนในปี 2557 สูงกว่าปี 2553 เพียง 2.4 เท่า ขณะที่งบฯประชานิยมในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 4.6 เท่า

นอกจากนี้ งบฯลงทุนของเรายังคงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะในปี 2556 เรามีสัดส่วนงบฯลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีเพียง 12% ต่ำกว่าเวียดนาม (สัดส่วนสูงกว่า 12% และมาเลเซีย 16%) ดังนั้น ขอเสนอให้มีการระบุและจำกัดวงเงินงบประมาณประชานิยม เช่น ไม่ควรเกินงบฯลงทุนในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้ภาพต้นทุนค่าเสียโอกาสในการทำนโยบายประชานิยมชัดเจน อีกทั้งเสมือนบังคับนักการเมืองให้ต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายประชานิยม ก่อนทำนโยบาย และต้องตัดนโยบายที่ไม่ควรทำออก

2.ควรตัดหรือลดงบประมาณนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะ "3 สูง" ได้แก่ ภาระทางการคลังสูง มีความบิดเบือนสูง และต้องใช้งบประมาณต่อหัวสูง

เพราะนโยบายที่มี "ภาระทางการคลังสูง" จะทำให้วงเงินที่รัฐจะกู้ได้โดยไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลังในอนาคตลดลง และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาจทำให้เสียโอกาสในการทำนโยบายในอนาคต และที่สำคัญงบประมาณประชานิยมที่ใช้สามารถนำไปใช้ทำนโยบายอื่น ที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่า เช่น งบประมาณโครงการจำนำข้าว 8.6 แสนล้านบาท ถ้านำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าว เราจะได้ข้าวพันธุ์ดีถึง 50 ล้านตัน หรืองบประมาณอุดหนุนพลังงานกว่า 5 แสนล้านบาท สามารถนำไปทำรถไฟรางคู่ เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แหลมฉบัง ได้ทั้งเส้น เป็นต้น

ขณะที่นโยบายที่มี "ความบิดเบือนตลาดสูง" จะทำลายกลไกตลาด เช่น "จำนำข้าวทุกเม็ด" จูงใจให้ชาวนาเร่งผลิตข้าวมากขึ้น แต่ข้าวคุณภาพต่ำ นำมาซึ่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้ายนโยบายที่ "ใช้งบประมาณต่อหัวสูง" สะท้อนถึงความครอบคลุมของนโยบาย จำนวนผู้ได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และเป็นกลุ่มที่ควรให้ความช่วยเหลือหรือไม่ จากการวิเคราะห์นโยบายประชานิยมทั้งหมด 9 นโยบายที่สามารถหาข้อมูลได้พบว่า จำนำข้าว อุดหนุนพลังงาน และรถคันแรก เป็นนโยบายที่มีลักษณะ 3 สูง ไม่ควรดำเนินการต่อ หรือนำกลับมาทำอีก

3.ควรใช้สูตร 2/98 กับทุกโครงการประชานิยม ที่ใช้งบฯตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลทุกด้านอย่างไม่มีเงื่อนไข สำหรับโครงการประชานิยมที่ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบ เพราะงบประมาณที่ใช้มาจากภาษีของประชาชน

แบ่ง 2% ของงบประมาณรวม เพื่อสร้างระบบติดตามตรวจสอบ ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายตั้งแต่ต้น โดยงบประมาณส่วนนี้จะถูกใช้เพื่อการออกแบบระบบและจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มโครงการ จัดทำระบบตรวจสอบเพื่อติดตามผลระหว่างดำเนินโครงการ และข้อมูลเพื่อการประเมินหลังจบโครงการ

ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลที่อัพเดตต่อสาธารณะว่า โครงการนั้น ๆ คุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไปหรือไม่ ไปจนถึงผลลัพธ์ ซึ่งก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นของนโยบายต่อสังคมหรือเศรษฐกิจ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทำให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

ถ้าสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้จากทั้งภาคประชาชน สื่อมวลชน และภาคการเมือง เมื่อพบปัญหาหรือเกิดความเสียหายจะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ตัวอย่างเช่น โครงการจำนำข้าว อาจขาดทุนน้อยกว่านี้ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลเร็วกว่านี้ นอกจากนี้ต้องสร้างกลไกความรับผิดชอบ ในกรณีที่โครงการล้มเหลว จะต้องสามารถระบุชื่อผู้รับผิดชอบได้

เพราะไม่ว่าระบบการติดตามและการประเมินผลจะดีเพียงใด หากไม่มีผู้รับผิดชอบ รายงานจากการติดตามและประเมินผลก็จะเป็นเพียงแค่กระดาษเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อเสนอ ปฏิรูปงบประมาณ ประชานิยม

view