สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จิตวิญญาณแห่ง HR (2)

จิตวิญญาณแห่ง HR (2)
โดย : วรวัจน์ สุวคนธ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในบทความฉบับที่แล้วผมได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งในจิตวิญญาณแห่ง HR ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ

ต้องมี Sense of Continuous Learning หรือมีความตระหนักที่จะต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งอาชีพ HR และจำเป็นต่อการพัฒนาองค์กรของเราอย่างมาก


อันที่จริงแล้ว Sense of Continuous Learning จัดเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ของทุกวิชาชีพ ผมอยากให้ลองนึกถึงแพทย์รักษาโรคสักคนหนึ่งที่รักษาคนไข้มานานกว่าสามสิบปีโดยใช้ความรู้ที่เคยเรียนจากตำราเล่มเดิมเมื่อตอนอายุยี่สิบมาโดยตลอด ในขณะที่องค์ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เกิดเชื้อโรคที่ดื้อยารักษาโรคตัวเดิมๆ แสดงให้เห็นว่าต่อให้แพทย์ผู้นี้จะเป็นผู้รอบรู้เมื่อสามสิบปีก่อน แต่ในปัจจุบันอาจเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป หรืออาจมีวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่าเดิม สามารถลดค่าใช้จ่าย และความเจ็บปวดของคนไข้ ลดการสูญเสียทรัพยากรทางการแพทย์ไปได้


ดังนั้น หากบุคคลในวิชาชีพใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นน้ำเต็มแก้วก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างหนึ่ง แพทย์ที่มี Sense of Continuous Learning ที่เราพบได้มากมายในปัจจุบันจึงต้องติดตามความก้าวหน้าทางการแพทย์จากทั่วโลกเสมอด้วยการอ่านบทความทางการแพทย์ใหม่ๆ รายงานการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ หรือเคสการรักษาแปลกๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เครื่องมือการแพทย์ การวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนไปฝึกปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ที่สถานที่อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อยกระดับความรู้และทักษะการรักษาเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง


สำหรับในวิชาชีพ HR นั้นจะมีความแตกต่างจากวิชาชีพอื่นบ้างเล็กน้อย เนื่องจากการทำงานด้าน “คน” เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือมีทั้งส่วนที่จับต้องได้ วัดประมาณค่าได้ เช่น การจัดทำค่าสถิติต่างๆ การวัดผลด้านบุคลากร การใช้เครื่องมือการบริหารต่างๆ และส่วนที่จับต้องไม่ได้ แต่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจของพนักงาน การสร้าง Branding ให้กับทั้งบุคคลภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้นแนวทางการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจึงต้องแยกย่อยลงไปดังนี้


ด้านความเป็นศาสตร์ - HR ที่มี Sense of Continuous Learning จะต้องศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ จากบทความวิชาการอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะด้านจิตวิทยาองค์กรเพราะถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยทั่วไปบทความวิชาการจะรวบรวมผลการทำวิจัย การสำรวจ และเครื่องมือใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น European Journal of Work & Organizational Psychology, Journal of Business and Psychology, Academy of Management Journal หรือเว็บไซต์ที่รวบรวมบทความวิชาการ, Blog แชร์ความรู้ของผู้รู้ด้าน HR รายงานการวิจัยล่าสุด เช่น เว็บไซต์ www.workforce.com, www.hrmguide.com, www.shrm.org เป็นต้น


นอกจากการอ่านบทความวิชาการหรือตำราใหม่ๆ ซึ่งถือเป็น Passive Learning Method แล้ว ผมยังอยากแนะนำวิธีการพัฒนาตนเองแบบ Active Learning Method นั่นคือการเข้าร่วมงาน Forum หรืองานประชุมวิชาชีพทางด้าน HR ซึ่งมีสถาบันต่างๆ จัดเป็นประจำ เช่น สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากผู้มีประสบการณ์ที่เชิญมาบรรยายโดยตรงแล้วสิ่งที่ผมอยากบอกว่า “ละเลยไม่ได้เลย” นั่นคือช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพจากองค์กรต่างๆ ที่มาเข้าฟังสัมมนาด้วยกัน ไม่สำคัญว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหน การ “เรียนรู้อะไร” นั้นมีความสำคัญครับ และจะดียิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มคำว่า “เรียนรู้กับใคร” เข้าไปด้วย ขอให้ทำความรู้จักกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่ดี แล้วทุกท่านจะพบว่าการได้พบปะพูดคุยกับบุคคลนอกองค์กรนั้นมีผลดีมากจริงๆ


นอกเหนือจากวิธีการแบบ Passive Learning Method (เรียนรู้เชิงรับ) และ Active Learning Method (เรียนรู้เชิงรุก) แล้ว ในองค์กรเราอาจมีวิธีผสมผสานอีกหลายๆ แบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายวิธีต้องอาศัย HR ด้วยกันในการออกแบบวิธีการเรียนรู้ และเตรียมการให้เหมาะสมเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ยาก เช่น การเรียนรู้แบบกลุ่มผ่านการตั้งคณะทำงานโครงการต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้วิธีคิดวิธีการทำงานของผู้มีประสบการณ์ผ่านการลงมือทำจริง หรือการจับคู่แบบพี่เลี้ยง (Mentor-Mentee) การหมุนเวียนงาน การออกแบบงานใหม่ การมอบหมายงานพิเศษ และยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากมายรวมถึงวิธีการที่อาจจะคิดค้นเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย


ที่กล่าวมาในบทความนี้คือการพัฒนาองค์ความรู้ในส่วนเฉพาะด้านของความเป็น “ศาสตร์” เท่านั้น ในบทความถัดไปเราจะกลับมาคุยกันเรื่องการพัฒนาในส่วนที่เป็น “ศิลป์” กันบ้างครับว่าจะมีวิธีการหรือแนวทางอย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จิตวิญญาณแห่ง HR

view