สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

30 กว่าปีบทเรียนแชร์ลูกโซ่ จาก แม่ชม้อย ถึง แชร์ออนไลน์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ตลาดหุ้นมีความผันผวน จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่ "มาเร็ว ไปไว" ทำให้หลายคนที่มีเงินเก็บ และไม่อยากลงทุนในหุ้น เพราะเกรงความเสี่ยงสูง มองหาการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ "ดูเหมือน" จะปลอดภัย นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สถาบันการเงินนำเสนอทั่วไป

เช่น กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาว รวมถึงเรื่องราวการหลอกลวงผ่านระบบ "แชร์ลูกโซ่" ที่ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าพัฒนาการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลจะล้ำยุคไปเพียงใด

แถมยังมีพัฒนาการทางด้านรูปแบบการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการหาเครือข่ายทางโลกออนไลน์

แม้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจะพยายามออกข่าวมาแจ้งเตือนให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ ถึงรูปแบบ และข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจทั่วไป

แต่ไม่สามารถหยุดยั้ง "มิจฉาชีพ" เหล่านี้ได้ เนื่องเพราะจุดอ่อนจาก "ความโลภ" ที่บังตาของมนุษย์ ทำให้มองผ่าน "ความน่าจะเป็น" ที่ควรจะพิจารณาถึง "แผนธุรกิจ" ที่บริษัทนั้น ๆ นำเสนออย่างมีหลักการของเหตุ และผล


รูปธรรมที่ประสบกับตัวเองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพื่อนคนไทยคนหนึ่งเพิ่งบินกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเยี่ยมบ้าน เธอมีอาชีพเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารฝรั่งมาหลายปี มีรายได้ต่อชั่วโมงดีพอสมควร ทำให้มีเงินเหลือเก็บประมาณหนึ่ง

หลังลงจากเครื่องบินเพียงไม่กี่ชั่วโมง สิ่งแรกที่ทำคือ การชวนเพื่อนที่กรุงเทพฯ 2-3 คน ให้ไปเป็นเพื่อนในการทำธุระบางอย่าง โดยนัดไปพบกันที่บริษัทแห่งหนึ่งย่านสาทร โดยไม่บอกรายละเอียดอะไร

พอไปถึงจึงยอมเฉลยว่า ต้องการให้มาเป็นเครือข่ายในการทำธุรกิจ "เติมเงินมือถือ" ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยบอกว่า บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจทั้งที่ประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ผลตอบแทนดีมาก ลงทุนค่าสมัครเพียง 3,000 บาท แต่ให้ผลตอบแทนกลับมาวันละประมาณ 1,000 บาท หากชวนสมาชิกมาเป็นเครือข่ายจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฯลฯ ตอนอยู่สวิตฯได้ติดตามข้อมูลของบริษัทนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

ด้วยความที่เป็นนักข่าว และมีเพื่อนในแวดวงมากมาย จึงส่งไลน์ไปหาเพื่อน พร้อมกับค้นหาข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ทันที ข้อมูลทั้งหมดที่วิ่งเข้ามายืนยันตรงกันว่า บริษัทดังกล่าวกำลังถูกกล่าวหา และฟ้องร้องจากเจ้าทุกข์จำนวนหนึ่งว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังถูกตีความว่า อาจจะเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ มีข่าวให้เห็นในหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมาย

แต่ข้อมูลดังกล่าวที่ปรากฏตรงหน้า ไม่ได้ทำให้เพื่อนคนนี้ "ตาสว่าง" พร้อมกับบอกว่า ได้เห็นข้อมูลบางส่วนจากในเว็บไซต์ข่าวแล้ว โดยแจ้งว่า ทางบริษัทได้ชี้แจงกับสมาชิกว่า ถูกกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสีจากบริษัทคู่แข่ง ข้อมูลในข่าวทั้งหมดไม่เป็นความจริง

จนต้องมานั่งตีแผ่ แจกแจงกันเป็นฉาก ๆ ให้รู้จักถึงความหมาย และข้อสังเกตต่าง ๆ ของ "แชร์ลูกโซ่" โดยเฉพาะ "แผนธุรกิจ" ของบริษัทที่แตกต่างจากธุรกิจที่สุจริตดำเนินการกัน โดย "แชร์ลูกโซ่" จะเน้นหาคนมาเป็นสมาชิกต่อ ไม่ได้เน้นการทำธุรกิจขายสินค้าหรือบริการอย่างจริงจัง

ตอกย้ำมากขึ้นจากข้อมูลของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงปัญหาแชร์ลูกโซ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ของรัฐบาลว่ากำลังเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ได้มาก รวมถึงมีข้อมูลของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในต่างประเทศ โดยพบว่ารวมกันแล้วมีมูลค่าสูง

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวนมากอยากได้เงินและเข้าไปเล่นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นการเข้าไปโดยรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ต้องตระหนักด้วยว่า แชร์ลูกโซ่เป็นสิ่งที่ "ผิดกฎหมาย" และสร้างปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานว่า อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นสุดท้ายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในอดีต บทเรียนของ "แชร์แม่ชม้อย" ถือเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังเกรียวกราว เพราะผู้ที่ถูกหลอกลวงเป็นผู้คนในแวดวงธุรกิจทุกระดับชนชั้น แต่จนถึงวันนี้ผ่านไป 30 กว่าปี วังวนของแชร์ลูกโซ่ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ตราบใดที่ความโลภยังบังตา จึงอยากให้ทุกคนพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ รอบด้าน ก่อนลงทุนทุกครั้ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 30 กว่าปี บทเรียน แชร์ลูกโซ่ แม่ชม้อย แชร์ออนไลน์

view