สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตำนานซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม เจษฎา ไกรสิงขร

ตำนานซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม "เจษฎา ไกรสิงขร"
โดย : มรกต รอดพึ่งครุฑ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พรุ่งนี้ 31 มี.ค. เป็นวันสุดท้ายที่จะนั่งทำงานประจำที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทยของนางเจษฎา ไกรสิงขร กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซอฟต์แวร์

หลังจากที่ร่วมงานกับยักษ์ฟ้าแห่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 โดยไม่เคยย้ายไปไหน แม้เส้นทางอาชีพจะเปิดให้ไปทำงานที่ไอบีเอ็ม สาขาประเทศอื่นๆ ได้ก็ตาม

ตลอดอายุงานเกือบ 32 ปี สะสมประสบการณ์เปี่ยมล้น ได้ร่วมงานกับผู้บริหารหลายคนกับองค์กรในฝันแห่งนี้ "ถึงจะไม่ให้เงินเดือน ก็อยากเข้า" มาโดยตลอด และก้าวหน้าในสายอาชีพซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งมีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มประเทศไทย ทั้งการพัฒนาทีมที่มีความสามารถ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแรง ทั้งลูกค้า และลูกน้องต่างรักใคร่ผูกพัน


เธอถือเป็นบุคคลระดับ"ตำนานซอฟต์แวร์"ของไอบีเอ็ม หลังจากเริ่มงานด้วยตำแหน่งวิศวกรระบบ (ซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์) ทำงานซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นช่วยฝ่ายขายเมนเฟรม จากภูมิหลังจบปริญญาตรีสถิติ เอกคอมพิวเตอร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และปริญญาโทเอ็มไอเอส


เธอก้าวหน้าในอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากสายโปรเฟสชั่นนัล กระทั่งมี"นาย"มาเสนอให้พิจารณางานสายบริหาร ซึ่งเธอเล่าว่า ไปนอนคิด 2-3 คืนจึงตัดสินใจรับงานบุกเบิกด้านดาต้าเบส โดยเลือกดูแล"ดีบี2" ซอฟต์แวร์รีเลชันนัล ดาต้าเบส ซึ่งถือเป็น"ของใหม่" ในยุคนั้น

ประสบการณ์ขายซอฟต์แวร์ แล้วต้องไปสอนดีไซน์ ทำโซลูชั่นให้ลูกค้า ช่วงนั้น "ขาย 10 ไซต์ ไอบีเอ็มได้ 9 ไซต์" นับเป็นช่วงเวลาที่"สนุก" ของเธอ จนกระทั่งโลกของ"ยูนิกซ์"มาถึง เครื่องเอเอส/400 มีซอฟต์แวร์รีเลชั่นนัล ดาต้าเบสมาด้วย แต่เมนเฟรมไม่มีผลิตภัณฑ์ขาย จากนั้นเธอได้รับมอบหมายให้ดูแลตลาดเน็ตเวิร์ค และโอเอส 2 ซึ่งเป็นตลาดแมส

กระทั่งปี 2526 ที่นายหลุยส์ เกิร์สต์เนอร์ จูเนียร์ เข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของไอบีเอ็ม นับเป็นซีอีโอคนนอกที่เข้ามาพลิกวิกฤติของบริษัท และทำให้กิจการกลับมามีกำไรอีกครั้ง ได้ปิดแล็บไปหลายแห่ง และยกเลิกโอเอส2ไป เหลือไว้แต่ที่โฟกัสจริงๆ วิสัยทัศน์ไอบีเอ็มยุคนั้นมุ่งอี-บิสิเนส ทำให้"ชีวิตง่ายขึ้น"จะทำอะไร ไปทางไหน ท่ามกลางคนที่ออกจากงานกันมาก เพราะได้รับข้อเสนอที่ดี ส่วนเธอนั้น "นาย" เรียกไปบอกว่า "ห้ามออก"

เธอ เล่าว่า เหลือคนทำงานซอฟต์แวร์กันอยู่ 3 คน แต่การมีคนทำงานน้อย กลับเป็นข้อดีที่ทำให้ขั้นตอนดำเนินการลดลง เพราะไม่มี"คน" การอนุมัติจึงไม่ต้องผ่านหลายขั้น

ปี 2538 จึงเริ่มการฟอร์มทีมซอฟต์แวร์ กรุ๊ป ซึ่งไอบีเอ็มเริ่มซื้อกิจการซอฟต์แวร์โลตัสเข้ามา และประกาศทำซอฟต์แวร์ ทำตลาดผ่านพาร์ทเนอร์ ต่อมาซื้อทิโวลี่ ตามด้วยอินฟอร์มิกซ์ และอื่นๆ กระทั่งปัจจุบันซื้อมาเกือบ 100 บริษัท

โอกาสเปิดแต่ไม่พร้อม
ปี 2543 เธอมีโอกาสจะได้ไปร่วมงานกับสำนักงานภูมิภาค แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่มีลูกเล็ก และแม่ไม่แข็งแรง ทำให้ต้องปิดโอกาสนั้นไป และเป็นเหตุให้"เสียดาย"อยู่พอสมควร ตามที่เธอเล่าวว่า "มีโอกาสไปรีจินอลหลายครั้ง มีเพื่อนรีจินอลเป็นสิงคโปร์เยอะ แต่ถ้าเป็นอินโดจะน้อย หรือบางครั้งจะไปรีจินัล แต่ในประเทศไม่สะดวกปล่อย หากนอกจากนั้นแล้วไอบีเอ็มให้โอกาสเต็มที่"

แม้ไม่ได้ไปรับตำแหน่งระดับภูมิภาค แต่ปีเดียวกันนั้นเธอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ต่อมาปี 2547 ข้ามจากการดูแลกลุ่มผลิตภัณฑ์สู่การดูแลกลุ่มการขายและการดูแลลูกค้าธุรกิจระดับกลาง (เจเนอรัล บิสิเนส : จีบี)

"จากที่เคยแต่พบกับซีไอโอ พอย้ายไปจีบีในไทย ได้เจอเจ้าของกิจการ เจ้าของโรงงาน ได้คุยเชิงบิสิเนสกับลูกค้า แอพพลายแล้วบอกไป มีปัญหาก็ส่งทีมซอฟต์แวร์ไปดูอยู่ 9 ควอเตอร์"

จนถึงปี 2549 จึงกลับเข้ารับตำแหน่งเดิม ดูแลซอฟต์แวร์อีกครั้งถึงเกษียณ ซึ่งถือว่าจบหน้าที่อย่างสวยงาม พอดีกับที่ไอบีเอ็มปรับโครงสร้างใหม่อีกครั้งต้นปี 2558

โครงสร้างใหม่เท่ากับซอฟต์แวร์กลายเป็นไอบีเอ็ม ตามเป้าหมายเป็นองค์กรด้านซอฟต์แวร์และบริการ ทำให้โฟกัสธุรกิจได้มากขึ้น ศักดิ์ศรีของซับกรุ๊ปมากขึ้น แต่ยังมีตำแหน่งซอฟต์แวร์ เมเนเจอร์ เหมือนเดิม แต่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกหน่วยธุรกิจ ที่มีเช่น อนาไลติก คลาวด์ ซิเคียวริตี้ คอมเมิร์ซ ซิสเต็มส์ และวัตสัน บทบาทของตำแหน่งนี้จะซับซ้อนขึ้น เพราะต้องประสานกับทุกหน่วยธุรกิจ

ภาคภูมิใจในองค์กร
เธอ เล่าว่า การทำงานที่ไอบีเอ็มเป็นความภาคภูมิใจ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนทั่วโลก พอบอกว่าทำงานไอบีเอ็มก็เป็นที่รู้จัก ถึงความมีชื่อเสียงที่ดีระดับโลก ซึ่งความเป็นไอบีเอ็มของเธอปลูกฝังเข้าไปถึงระดับความคิด บุคลิก การทำงาน ท่ามกลางความท้าทาย ความซับซ้อน จะต้องมีคำตอบที่ดี สร้างความวิน-วิน มาเป็นอันดับ 1 แก่ลูกค้าและองค์กร

องค์กรแห่งนี้ปลูกฝังหลักจริยธรรม ยุติธรรม ฉะนั้น จะไม่สัญญาในสิ่งที่เกินจริงกับลูกค้า การจะตัดสินใจสิ่งใดต้องมองว่าลูกค้าต้องได้ประโยชน์ และองค์กรก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ไม่รับปากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ขณะที่การทำงานที่ผ่านมา จะได้เพื่อนร่วมงานที่ดี ลูกน้องที่ดี และได้เพื่อนจากลูกค้าที่ประทับใจการทำงาน สิ่งใดผิดพลาดก็ยอมรับได้ รวมทั้งพาร์ทเนอร์ที่ดี ดีงานกับใครจะรักคนนั้น และรักองค์กร ตามหลักการทำงานที่ยึดถืออิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา การทำงานต้องไม่เครียด และมีเพื่อนในที่ทำงาน ทำให้มีความสุข

"การทำงานจะโปรเท็คต์ลูกค้า ช่วยแก้ปัญหา โดยลงมือทำ ไม่ได้บอกแค่วิธีการ ซึ่งจากประสบการณ์จะทำให้เรื่องเบาลง และเมื่อมีปัญหาแล้วไปแก้ด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกค้าเห็นความตั้งใจที่ผู้บริหารไปเอง"

นอกจากนี้ ที่ไอบีเอ็มยังเติมไฟให้ชีวิตการทำงานเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เรียนรู้อยู่เสมอ มีของใหม่มาให้ตามเทรนด์ตลอดเวลา ทั้งเทรนด์ไอบีเอ็ม และเทรนด์ไอที ซึ่งระหว่างการทำงานมี passion จากการสนุกกับงาน และต้องการทำให้ได้ดี

อนาคตบนคลาวด์
ผู้บริหารซอฟต์แวร์ที่เปี่ยมประสบการณ์และประสบความสำเร็จตลอดเวลา 32 ปี ให้ความเห็นต่ออนาคตไอทีของประเทศไทยว่า ยังต้องทำอะไรอีกมาก และการเริ่มต้นของคลาวด์ ถือเป็นจังหวะของประเทศที่จะปรับตัวให้ทัน ซึ่งหากเน้นด้านการวิเคราะห์จะเป็นโอกาสที่ดี หาคนเด่นๆ วางวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัล อีโคโนมีที่เป็นคำกว้าง โดยต้องวางโรดแมพให้ไปในทางเดียวกัน และทำอย่างชัดเจน
,"การขึ้นบนคลาวด์จะทำให้ภาระการลงทุนน้อยลง ถือเป็นโอกาสหนึ่ง แต่กฎระเบียบการขึ้นคลาวด์อย่างปลอดภัยต้องมี วางข้างหน้าให้ชัดจะมีซิเคียวริตี้อย่างไร 1-2-3 เพื่อให้คนทำก้าวไปได้"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตำนาน ซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม เจษฎา ไกรสิงขร

view