สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้อะไร ไม่สู้...รู้งี้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe

คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

Startup เป็นเรื่องของการหาไอเดียธุรกิจที่สามารถเข้ามาเติมเต็มความต้องการในสิ่งที่ขาดหายไป หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมในสังคมของเรา ถ้าใครคิดโมเดลธุรกิจแบบนี้มาได้ และสามารถดึงดูดให้มีลูกค้าตามใช้อยู่ได้เรื่อย ๆ ชีวิตนี้ก็แทบจะไม่ต้องคิดอะไรมากแล้วครับ โฟกัสในการทำให้มันโตให้เร็วที่สุด แล้วหลังจากนั้นจะ Exit หรือไม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและอัตราการโตแล้วละครับ

แต่วันนี้ผมคงจะหยุดเล่าเรื่องในมุมของ Startup สักหนึ่งตอน หลังจากให้ข้อมูลในมุมมองนี้ติดกันมาแล้วถึง 12 ตอน วันนี้ผมจะขอเล่าในมุมมองของผู้ลงทุนบ้าง โดยเฉพาะ ผู้ลงทุนชาวไทย ค่อนข้างที่จะมีความคุ้นเคยในธุรกิจเดิม ๆ พอมาเจอโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จึงไม่อยากจะเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจริง ๆ มันไม่ผิดเลยครับ มันเป็นเพียงแค่ "มุมมอง" จากประสบการณ์เท่านั้น

จากการที่เคยคุยกับผู้ที่มีเงินที่เรียกว่า Disposable Income หรือรายได้ที่พร้อมจะนำไปละลายกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงได้ หลังจากหักภาษีและเงินที่ตัวเองจำเป็นต้องลงทุนพอร์ตหลัก ที่ผมชอบเรียกว่า Real Sector ทั้งหลาย เช่น ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงทุนกับอสังหาฯและธุรกิจที่สร้างเงินได้อยู่แล้ว และได้ผลตอบแทนกลับมาแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่ได้เยอะมากมาย ตั้งแต่ 10-200% ซึ่งหลังจากนั้นกลุ่มคนเหล่านี้บางทีจะนำมาละลายกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้

และเงินก้อนหลังสุดนี้ล่ะที่ผมอยากจะแนะนำนักลงทุนชาวไทยที่พร้อมจะควบคุมความเสี่ยงว่า ถ้าอยากจะเริ่มในการลงทุน Startup น่าจะเริ่มจากเงินท่อนหลังสุดนี้ก่อน เพราะ Startup นั้นเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก

เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาดูกันว่า ความเสี่ยงตรงนี้จะสามารถคุมให้ต่ำลงได้อย่างไร เพราะถ้าคุณคุมและช่วยให้มันโตได้ สิ่งที่คุณได้มาอาจจะทำให้เงินของคุณโตได้ 10 เท่าตัว หรือ 1,000% ภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น

1.Massive Customer Pain คือ แปลแบบตรงตัวว่า ปัญหานั้นในตลาดต้องใหญ่มาก ๆ แต่ไม่มีใครค้นเจอ ถามว่าใหญ่นี่ใหญ่ขนาดไหน ก็ประมาณได้ว่ามูลค่าตลาดหลักร้อยหรือพันล้านเหรียญขึ้นไปก็แล้วกันครับ ต่ำกว่าสูงกว่าน่าสนใจไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาที่เราจะแก้มันชัดแค่ไหน ยกตัวอย่าง


 เช่น คนมีปัญหาในการซ่อมของในบ้าน ซ่อมเองก็ซ่อมไม่ได้ จะเอาไปซ่อมที่ห้างก็ลำบาก ต้องมารอของอีกหนึ่งสัปดาห์ เสียค่าประเมินการซ่อมอีก การประเมินราคาตลาดเล่น ๆ ก็น่าจะประมาณจากจำนวนครัวเรือน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 เรามีจำนวนครัวเรือนถึง 20 ล้านครัวเรือน ถ้าแต่ละบ้านในหนึ่งปีต้องซ่อมของอย่างน้อย 5 ชิ้น ชิ้นละหนึ่งพันบาท เท่ากับว่าตลาดนี้มีมูลค่าต่อปีถึง 100,000 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นี่คือตัวอย่างของ ปัญหาที่มีมูลค่ามากพอที่จะคุ้มความเสี่ยง

2.Large Growing Market คือ ตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว ถ้ายึดตามตัวอย่างที่กล่าวมา ผมบอกได้อีกว่าแนวโน้มมันสูงแน่นอน เพราะคนสมัยนี้มีของในบ้านที่ต้องซ่อมแซมกันเยอะมาก และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กี่เปอร์เซ็นต์ต้องไปทำการบ้านกันเอง

อีกตัวอย่างที่ดีน่าจะเป็นการให้บริการแท็กซี่ที่ใช้รถ Prius โดยผ่าน Application เหมือน Uber และ Grabtaxi แต่มีการควบคุมคุณภาพ เพราะเป็นแท็กซี่ที่มีการจ้างบริการเอง ซึ่งผมว่าเขามาได้ถูกช่วงถูกเวลามาก เพราะคนกำลังเบื่อพฤติกรรมแท็กซี่บางคัน แต่ลามกลายเป็นเทรนด์สร้างความตื่นตัวเรื่องการเดินทางโดยแท็กซี่ผ่าน Application

3.Revolutionary or Evolutionary Solution คือ วิธีในการแก้ปัญหาต้องปฏิวัติวงการกันไปเลย เช่น เมื่อก่อนเมืองไทยไม่เคยมีการใช้ Application ในการเรียกแท็กซี่ เพราะคิดว่าคนไทยใช้ Smart Phone น้อย หรือใช้ Application ไม่เป็น เลยไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะทำกัน ซ้ำร้ายกรุงเทพฯเองก็สร้างป้ายเรียกแท็กซี่อัจฉริยะ แต่ก็ล่มไม่เป็นท่า ยิ่งทำให้คนกลัวไปกันใหญ่ในการจะมาปรับเปลี่ยนวงการตรงนี้ได้ เลยพานคิดไปว่าไม่น่าจะเปลี่ยนได้

แต่จริง ๆ แล้วการปฏิวัติวงการนั้นต้องมี Validation ที่ผมเคยสอนไปตอนก่อน ๆ หน้านี้ว่า คนจะสามารถใช้งานได้จริงไหม แล้วในภายหลัง Uber และ Grabtaxi ก็เข้ามาถึงคนไทย จะใช้เวลาเรียนรู้กับระบบใหม่ช้า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เหมาะกับตลาดคนไทยเลยซะทีเดียว

4.10% Market Share by Year 5 คือ ต้องสามารถที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดได้ถึง 10% ในเวลาภายใน 5 ปี เป็นอย่างต่ำ คิดง่าย ๆ ครับ มองย้อนกลับขึ้นไปตัวอย่างแรกที่ผมบอกว่า ตลาดใหญ่ 100,000 ล้านบาท ถ้าได้ 10% ของตลาด ปีที่ห้าก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อได้แล้วครับ

5.Team of Industry Experts คือเรื่องของผู้บริหารของ Startup นั้น ๆ มีประสบการณ์กับสิ่งที่จะทำขนาดไหน เช่น ถ้าคนที่จะทำเรื่อง Taxi Application จริง ๆ แล้วเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ใหญ่อยู่แล้ว มีรถอยู่แล้ว และทำธุรกิจด้านนี้มาไม่ต่ำกว่าสิบปี ผมจะถือว่าความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจนี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก และความเสี่ยงต่ำมาก

เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญในระดับต้น ๆ ในการลงทุนกับ Startup บางครั้งตัว Startup ไม่มีอะไรมากเลย แต่ด้วยความสามารถและประสบการณ์ก็สามารถทำในสิ่งที่เหลือเชื่อได้

6.Cash Flow Positive by Year 2 พูดง่าย ๆว่า ควรจะเริ่มหยุดการขาดทุนตั้งแต่ปีที่สองแล้ว ยกเว้นคุณกำลังเล่นกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการสร้างตัวสินค้าต้นแบบนาน หรือขออนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือขอ "อย." (อาหารและยา) แต่ถ้าเป็น Application นี้ ผมคิดว่าปีที่สองควรจะต้องเห็นตัวเลขสีดำแทนสีแดงแล้ว

พูดเรื่องตรง นี้แล้วก็อดพูดเรื่องของเงินที่ผู้ลงทุนควรจะได้คืนด้วยเพราะถ้าตัวเลขเริ่ม ดีขึ้นผู้ลงทุนต้องดูต่อเลยว่าจะนำกลับไปลงทุนในตัวธุรกิจให้รีบโตไหมเพราะ ในบางกรณีถ้าตัวStartupนั้นมีแนวโน้มโตเร็วและนำไปขายต่อได้ ผู้ลงทุนบางคนก็เลือกที่จะอัดให้ธุรกิจโตเร็ว ๆ โดยเหลือกำไรน้อยที่สุดเพื่อเร่งมูลค่าของบริษัท และช่วงชิงช่วงจังหวะการโตของกิจการแต่บางคนก็เลือกที่จะถอนทุนกันก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากกำไร

7.10X Return on $1 of Cash by Year 5 สุดท้ายก็ต้องโตให้ได้อย่างน้อย 10 เท่าจากวันแรกที่เริ่ม Startup ครับ ทำไมต้อง 10 เหรอครับ ไม่งั้นมันไม่คุ้มกับความเสี่ยงของเงินที่เราลงไป


นี่คือ 7 สิ่งคร่าว ๆ ที่ผู้ลงทุน Startup ควรจะต้องคิด วิเคราะห์ และแยกแยะให้ถี่ถ้วนเสียก่อนจะลงทุน จริง ๆ แล้วผมคิดว่าถ้าผู้ลงทุนมีประสบการณ์ในตลาดเดียวกับ Startup จะดีขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

เพราะจะลดความเสี่ยงและช่วยให้กิจการโตเร็วขึ้นอีก ถึงตอนนั้นจะได้ไม่ต้องมาพูดว่า "รู้อะไร ไม่สู้...รู้งี้"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้อะไร ไม่สู้ รู้งี้

view