สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิษณุ แจงความต่างคำสั่งคสช.ม.44กับกฎอัยการศึก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"วิษณุ"แจงความต่างคำสั่งคสช..ใช้ม.44กับกฎอัยการศึก ชี้อำนาจจนท.ก๊อปปี้มาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนการขึ้นศาลทหารจะมีสิทธิ์สู้3ศาล

ที่ศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย แถลงชี้แจงรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตามอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว2557 มาตรา44 ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 แทนการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกว่า

บัดนี้มีประกาศสำคัญออกมาสองฉบับคือพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรยกเว้นพื้นที่ชายแดนบางพื้นที่ที่ประกาศไว้อยู่แล้ว และอีกฉบับคือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา44 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย. และไม่ได้เป็นการนำมาตรา44 มาใช้แทนกฎอัยการศึกเพราะรุนแรงเกินไป แต่นำคำสั่งที่ออกตามมาตรา44 มาใช้แทนท่านั้นเอง

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต้องตั้งต้นมาตรา44 ที่เขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับก่อนๆหลายครั้ง ในสมัยแรกคือมาตรา17 ของธรรมนูญการปกครองในสมัยจอมพลสฤษ จากนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ใช้มาตรา17 ตัวเลขก็เคลี่อนไป เป็นมาตรา21 มาตรา27 และมาตรา44 ของฉบับนี้ และความจริงในบางประเทศมีมาตราทำนองนี้แต่อาจจะเขียนไม่ดุเดือดเลือดพล่านเหมือนของไทย และมาตรา 17 21 27 44 มาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาตรา16 ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่เขาไม่เคยนำมาใช้ แต่เคยใช้ในสมัยก่อนเพื่อปราบความไม่สงบในประเทศแอลจีเรีย แต่ไม่ใช่การลอกจากฝรั่งเศส แต่เป็นการดัดแปลงกันต่อมา

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มาตรา 44 พูดถึงว่าถ้าเกิดสถานณ์รุนแรง มีความจำเป็น มีเหตุการณ์พิเศษ หัวหน้าคสช.สามารถออกคำสั่ง โดยไม่ได้นำมาตรา 44 มาใช้ตรง และใช้ตรงไม่ได้ด้วย ซึ่งสมัยก่อนเอาไว้ออกคำสั่งกรณีเดียวเพื่อระงับยับยั้งปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อย หรือที่เคยได้ยินว่าเอาไว้ยิงเป้า ซึ่งพูดดูรุนแรงแต่มันก็เป็นความจริง เพราะสมัยก่อนเคยใช้มาตรานี้จับเอง สอบสวนเอง ตัดสินเอง ลงโทษเอง แม้กระทั่งประหารชีวิต แต่ในมาตรา44 เป็นครั้งแรกที่นำอำนาจพิเศษมาเขียนเพื่อใช้ในเหตุการณ์อื่นๆนอกเหนือจากเหตุการณ์ที่เคยใช้มา 1.อาจจะใช้เพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง ถ้าหากว่ามาตรการปกติมันช้ารือไม่ได้ผล หรือมีความจำเป็นต้องสร้างความสามัคคีปรองดอง หัวหน้าคสชก็สามารถออกคำสั่งเพื่อทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองได้ 2.ใช้เพื่อสั่งให้เกิดการปฏิรูปหรือเตรียมแนวทางการปฏิรูป ซึ่งปกติไม่ต้องยุ่งกับมาตรา44 แต่ถ้าล่าช้า มีอุปสรรคก็อาจจะออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา44 เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ในการปฏิรูปได้ หรือ 3.เพื่อไประงับยับยั้งป้องกันปราบปราบปรามการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

“เมื่อถึงเวลาใช้จริงก็ต้องออกคำสั่ง ผมเข้าใจว่าตั้งแต่มีมาตรา44 มา หรือคสช.ยึดอำนาจ หรือแปรสภาพเป็นรัฐบาลมีการใช้อำนาจตามมาตรา44มาแล้วหนึ่งครั้ง คือขยายวาระของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระแล้วให้เขาอยู่ต่อ แต่กฎหมายไม่ได้เขียนให้เขาอยู่ต่อก็ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา44ให้อยู่่ต่อ ที่สั่งไปแล้วตั้งแต่ต้นม.ค.ปีนี้”นายวิษณุ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า อำนาจตามมาตรา44 เป็นเรื่องของคสช. เพราะรัฐบาลใช้อำนาจเองไม่ได้ คนเซ็นต้องใส่ตำแหน่งหัวหน้าคสช.เท่านั้น แต่ที่อยู่ในท่อหรือที่คิดว่าจะต้องงัดมาตรา44 มาใช้อีกคือเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เพื่อสร้างความปรองดอง เพื่อแถ้วถางไปสู่การปฏิรูป ไม่ได้ใช้เพื่อระงับยับยั้งปราบปราม มันอยู่ในความคิดเวลานี้ ซึ่งหัวหน้าคสช.และนายกฯอาจจะพูดใ้ห้ได้ยินมาหลายครั้ง เพียงแต่เป็นดำริไม่รู้จะใช้จริงหรือไม่ เช่น ปัญหากรณีการบินพลเรือนซึ่งเกิดปัญหากับไอซีเอโอ ที่กระทบการบิน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ เรื่องอย่างนี้อาจจะต้องใช้มาตรการแก้ปัญหาทางกฎหมาย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม)ว่า ถ้าดำเนินการให้เป็นที่พอใจกับไอซีเอโอต้องใช้เวลา 8 เดือน ถ้าเรายังแก้อะไรไม่ตก ยังถูกสั่งระงับเที่ยวบิน ตรงนี้ก็อาจจะใช้มาตรา44 ให้เร่งเวลาจาก8เดือนให้เหลือภายในไม่กี่วัน ก็เป็นการใช้้เพื่อสร้างสรรค์ แต่นี่เป็นเพียงดำริ แต่ไม่แน่ว่าอาจจะใช้หรือไม่ ก็ให้กระทรวงคมนาคมไปคิดว่าจะใช้ทางอื่นตามปกติได้หรือไม่โดยไม่ใช้มาตรา44 เพราะถ้าได้ก็ดำเนินการไปเพราะไม่อยากใช้บ่อยนักเลย

และที่ยังอยู่ในความคิดอีก นายวิษณุ กล่าวว่า การใช้มาตรา44 กับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีปัฐหาอุปสรรค บางทีใช้มาตราปกติก็ใช้เวลาแรมปี แต่ถ้าใช้ ม.44 ก็เร่งกระบวนการบางอย่างในทางบริหาร และยังมีอีก2-3 เรื่องที่อยู่ในท่อที่กำลังคิด เพื่อใช้แก้ปัญหาบางอย่าง ไม่ได้ใช่กับนาย ก นาย ข บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึกออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ที่วางเป็นหลักเอาไว้เท่านั้นเช่นเดียวกับมาตรา44 ที่เวลาจะใช้ต้องประกาศหรือคำสั่ง ซึ่งกฎอัยการศึกทหารออกประกาศไปเองก่อนได้้ เพราะการประกาศเป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน แต่ถ้าต้องประกาศทั่วราชอณาจักรต้องเป็นพระบรมราชโองการ ส่วนการยกเลิกทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการเสมอ และตอนนี้มีพระบรมราชโองการยกเลิกเรียบร้อยแล้ว ปัญหาคือเมื่อยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วจะปล่อยให้เกิดภาวะนิ่งๆหรือมีมาตรการใดมารองรับ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ว่ามีเหตุการณ์หรือไม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยพูดไปหรือยัง เพราะท่านมีการข่าวที่รายงานครม.ให้รับทราบอยู่แล้วว่ามันมีสถานการณ์สำคัญที่ทำให้ดูว่าจะไม่เป็นที่วางใจอยู่หลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการกระทำความผิดที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำผิดที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การใช้อาวุธปืน ดอกไม้เพลิง ระเบิดอาวุธสงคราม ก็ดูจะมีความรุนแรงกันอยู่ในตามพื้นที่ และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ที่อาจะเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ที่รุนแรงคือการกระทำผิดต่อสถาบันฯ เช่นกรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา112 หรือความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือความผิดต่อกฎหมายอาวุธปืน อาวุธสงคราม

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มีเหตุการณ์4-5 เหตุการณ์ที่ทำให้สถานการณ์อาจไม่เป็นท่ี่วางใจ 1.อาจจะมีผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีตบางคนที่มีไม่มากนัก อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น อันนี้คือรายงานข่าวว่ายังมีอยู่ 2. กลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจ หรือกลุ่มมีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม แล้วก็ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง 3.กลุ่มที่รู้ว่าเหตุการณ์กำลังเข้าสู่โร้ดแม็พระยะที่สาม ที่จะเกิดการเลือกตั้ง ประกาศใช้รธน.ัฐธรรมนูญ อาจจะมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยบางอย่างขึ้นในบางพื้นที่ 4.กลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น พวกนี้อาจจะไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่เจตนาอาจจะเป็นเรื่องอื่น 5.มีจำนวนไม่มากนัก มีอยู่ปละปลาย คือกลุ่มที่สุจริต แต่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเจตนาทางการเมือง มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สังคม บางคนอาจจะระบายด้วยการก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น เช่นวางระเบิดบ้างอะไรบ้าง

“5กลุ่มนี้จำนวนอาจจะไม่มากมายแต่เมื่อรายงานว่ามีอยู่ มันก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าอาจจะเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นได้ ซึ่งหน้าที่ของคสช.และรัฐบาลต้องดูแลความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ อย่าให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่นายกใช้คำว่าก่อน22พ.ค. ประเทศไทยมีลักษณะเหมือนคนที่ป่วยไข้เลือดไหลออก เราไม่ต้องการให้เลือดไหลออกกลับคืนมาออีกครั้งหนึ่ง จึงมีมาตรการกันไว้ดีกว่าแก้”นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็มีตัวเลือกในการเลือก มี2-3ตัว คือการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และกฎอัยการศึก แต่เมื่อยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ไม่ควรเป็นตัวเลือกอีก สังคมก็มีคำถามว่าจะมีอะไรมาแทน ทำไมไม่งัดอันใดอันหนึ่งมาใช้แทน ก็สามารถใช้สองตัวหรือตัวใดตัวหนึ่งได้ แต่พบปัญหาว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่มีะไรมากกว่าการใช้กอ.รมน. ไม่มีมาตรการพิเศษมารองรับได้ ส่วนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ว่าถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินก็ประกาศได้ แต่ก็มีการประกาศก่อน 22พ.ค.2557ไปแล้ว ที่มีอำนาจตามมาตรา 9 10 11 12 มอำนาจควบคุมตัวไม่เกิน7วัน มีอำนาจค้น ยึด ห้ามออกนอกบ้าน ห้ามออกนอกประเทศ ให้รื้อถอน ตรวจข่าว ห้ามการจำหน่ายหรือผยแพร่สื่อ ก็คิดว่าถ้าเลิกกฎอัยการศึกก็อาจจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแทนและมาตรการต่างๆก็มาจากมาตรา9 10 11 12 แทน ที่จะกลับมาเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ แต่อำนาจเหล่านี้น้อยกว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึกอยู่ดี

“หลังจากไตร่ตรองกันแล้วเห็นว่าไม่อยากให้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหมือนกับที่ไม่อยากให้อยู่ในสถานการณ์กฎอัยการศึก ไม่อยากให้ประเทศอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้อยู่ ซึ่งฝรั่งก็จะเรียกว่ามาเชียลลอว์ เขารู้สึกว่ารุนแรง และ ฝรั่งเขาก็มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็เกิดความรู้สึกรุนแรงอยู่เหมือนกันแต่อาจจะน้อยกว่ากฎอัยการศึก เราก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์อย่างนั้นให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันก็มีมาตรการบางอย่างเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจะเอามาใช้ในเวลาอย่างนี้ได้ คือขอยืมเอามาใช้ได้ นอกจากนั้นคิดว่ามันควรจะมีมาตรการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขลดความรุนแรงของเหตุการณ์เวลานี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวหาไม่เจอในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงคิดถึงมาตาการอื่น จึงย้อนกลับไปคิดถึงมาตรา44 มาใช้ จึงเป็นที่มาของคำสั่งตามมาตรา44 ที่มีใจความ14ข้อ”นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ความแตกต่างระหว่างกฎอัยการศึกกับคำสั่งคสช.ตามมาตรา44 มีความแตกต่างอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.เรื่องของสถานการณ์ การออกคำสั่งนั้นถือว่าประเทศไม่ได้อยู่ในสถานการณ์กฎอัยการศึกอีกต่อไป ยกเว้้นตามชายแดน แต่70กว่าจังหวัดถือว่าไม่มีสถานการณ์ที่เรียกว่าประกาศกฎอัยการศึกอีกต่อไป ก็เป็นผลดีเรื่องอื่น เพราะได้ชื่อว่าใช้กฎอัยการศึกมีผลกระทบด้านท่องเที่ยว การทำประกันผู้โดยสารในการเดินทางที่บางแห่งไม่ยอมรับประกันถ้าผู้โดยสารเดินทางไปในพื้นที่อัยการศึก เมื่อยกเลิกก็หมดข้อแก้ตัวของบริษัทประกันอีกต่อไป

“เรื่องอย่างนี้ถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนเหมือนกับว่าเราอยู่กลางฝนหรืออยู่กลางแดด นั่นคืออยู่กลางเหตุการณ์ใน4-5 เหตุการณ์ที่ผมเล่าให้ฟัง เมื่อเราอยู่ในกลางฝนกลางแดดถ้าเรากางร่ม คือเท่ากับประกาศใช้กฎอัยการศึกก็เรียกคนทั้งหมดมาอยู่ใต้ร่ม คนมองมาจากต่างประเทศมาก็เห็นร่มคือกฎอัยการศึก แต่เมื่อเรายกเลิกกฎอัยการศึกก็เหมือนเราหุบร่มนั้น ฝนก็ยังมีแดดก็ยังมี คนก็อยู่ใต้ฝนใต้แดดแต่ไม่มีร่มมากันไว้ อย่างน้อยมองจากที่ไหนก็ไม่เห็นร่มแล้ว แม้จะเกิดความรู้ว่าเอ๊ะมันก็ยังพอจะมีอยู่ แต่ในทางการเมืองในทางรูปธรรมมันไม่มี เพราะฉะนั้นการจะไปแก้ตัวหรือกล่าวหามันกล่าวหาไม่ได้แล้วว่าใช้กฎอัยการศึกอยู่ก็จะไม่ได้ประโยชน์ต่อไปอีกจะพูดแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีก”นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ความต่างข้อที่ 2.เรื่องเกี่ยวกับศาลทหาร เมื่อใช้อัยการศึกมีคดีบางประเภทที่ต้องขึ้นศาลทหาร ในเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกคือศาลทหารในเวลาไม่ปกติ คนที่ถูกฟ้องในเวลาไม่ปกติ ที่จะถูกพิจารณาเพียงศาลเดียวไม่มีการอุทธรณ์ หรือฎีกาอีก แต่ เมื่อยกเลิกศาลทหารในเวลาไม่ปกติแล้วก็ถอยกลับมาเป็นศาลทหารในเวลาปกติ เมื่อถูกฟ้องก็สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลทหารสูงสุด ส่วนสิทธิการมีทนายความก็มีอยู่แล้วตามปกติ ดังนั้นนับตั้งแต่เมื่อวานนี้(2เม.ย.ฉ)คดีที่ขึ้นศาลทหารก็ขึ้นต่อไป แต่จะสามารถสู้ได้3ศาลทหาร คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นอุทธณ์ และศาลทหารสูงสุด

3.ในแง่ของอำนาจเจ้าหน้าที่ในกรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากตามที่ระบุทั้งค้น ยึด รืื้อถอน ฯ แต่เมื่อยกเลิกแล้วอำนาจเหลือเพียงที่เขียนในคำสั่งเท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจที่ลอกมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กล่าวคือ มีอำนาจเรียกมารายงานตัว อำนาจในการจับ ควบคุมตัวไม่เกิน7 วัน เท่ากับพรก.ฉุกเฉิน สามารถตรวจข่าว ้ห้ามเผยแพร่ หา้มจำหน่ายสื่อฯ 4.เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติคือ ทหาร ที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎอัยการศึก แต่คำสั่งคสช.เจ้าหน้าที่เรียกว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ต้องเป็นนายทหารยศร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ยศสัญญาบัติขึ้นไป และคนที่หัวหน้าคสช.ระบุแต่งตั้งเท่านั้น และเจ้าหน้าที่อื่นไม่มีอำนาจ ส่วน ตำรวจไม่อาจะเป็นเจ้าหน้าที่ตามคำสั่ง เพราะคำสั่งระบุถึงข้าราชการทหาร แต่ทหารอาจจะขอความร่วมมือในการให้ตำรวจเข้าปฏิบัติการเพราะตำรวจมีอำนาจตามป.วิอาญา

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า คำสั่งคสช.และพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอำนาจหรือไม่คุ้มครองเจ้าหน้าที่เหมือนกัน ซึ่งคำสั่งฯมีการลอกมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ คำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ยังไปว่ากันในศาลยุติธรรมได้ ถามว่าเจ้าพนักงานจะถูกฟ้องได้ไหมก็ต้องไปดูในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ระบุว่า ถ้าเจ้าพนักงานกระทำโดยสุริต ไม่เลือกปฏิบัติไม่ลำเอียง กระทำสมควรแก่เหตุ ไม่ทำอะไรเกินเลยขอบเขตกฎหมายก็ได้รับความคุ้มครอง แต่ทั้งนี้หากการกระทำของเจ้าหน้าีท่ทำให้คนใดเดือดร้อนเสียหายก็มีสิทธิ์ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการชุมนุมเกิน5คนยังเป็นความผิดต่อไปตามคำสั่งคสช. แต่จะขึ้นศาลทหาร3ศาล แต่ก็ไม่ผิดเสมอไป เพราะการชุมนุมอาจจะทำได้หากขออนุญาตจากหัวหน้าคสช.และผู้ที่หัวหน้าคสช.มอบหมาย ถ้าได้รับอนุญาตก็ชุมนุมได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ขึ้นศาลทหาร หรืออาจจะเรียกมาอบรมซึ่งเป็นอำนาจเหมือนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่ออบรมเสร็จคดีก็ยุติ เลิกคดี ไม่ต้องนำคดีไปฟ้องศาล ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย ไม่มีคดีความ คล้ายๆกับปรับทัศนคติ แต่การปรับทัศนคติเป็นคำที่พูดกันเท่านั้น อย่างไรก็ตามทราวบว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารในต่างจังหวัดมี 500คดี กทม.80คดี รวมแล้ว580โดยประมาณ ตัดสินไปแล้ว 300-400คดี นอกนั้นยังไม่จบ แต่ถ้าคดียังคาอยู่ในศาลทหารก็สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ส่วนที่คดีจบแล้วในศาลก่อนหน้านี้ก็ไม่มีช่องทางร้องเรียนเยียวยา ก็ต้องขอทูลเกล้าฯถวายฎีกาตามขั้นตอนต่อไป

เมื่อถามว่าองค์กรต่างประเทศมองว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่เหมาะสม นายวิษณุ รัฐบาลรับทราบปัญหาแต่ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่มองว่าศาลทหารไม่ให้ความเป็นธรรม แต่สิ่งที่ทำให้วางใจได้คือการให้คดีดำเนินไปสามศาลทหารก็ช่วยลดความหวาดระแวงบางอย่างได้ เพราะของอย่างนี้ก็เหมือนศาลพลเรือน เอาเป็นว่าไม่มีเหตุหวาดระแวงในส่วนนั้น ถ้าคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทำไมไม่มีการพูดถึงทหารขึ้นศาลทหารแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ทั้งนี้การมีสามศาลดีกว่ามีศาลเดียวหรือสองศาล แต่ก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นและศึกษาว่าจะกำหนดมาตรการเหล่านี้อย่างไร แต่ยืนยันว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารบางฐานความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกฐานความผิด

เมื่อถามว่าUNHRCกังวลเรื่องการนำมาตรา44 มาใช้ ที่เขียนว่าให้อำนาจหัวหน้าคสช. จะควบคุมอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าอานแค่มาตรา44แล้วก็วิตกก็ต้องกลัวทั้งนั้น แต่บัดนี้เปลี่ยนจากมาตรา44 มาเป็นคำสั่ง คำสั่ง14ข้อ แล้ว ฉะนั้นต้องดูคำว่าในสั่งวิตกกังวลอะไรหรือไม่

เมื่อถามว่าในอนาคตถ้า5กลุ่มที่มีรายงานข่าวขยับรุนแรงขึ้น ร่มที่หุบอยู่จะกางได้อีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ เพราะร่มสามารถหุบกางๆก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กัับสถานการณ์



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิษณุ แจงความต่าง คำสั่งคสช.ม.44 กฎอัยการศึก

view