สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละมายาคติ สิงคโปร์โมเดล ความสำเร็จราคาแพง

จากประชาชาติธุรกิจ

นักวิชาการมธ.ชำแหละมายาคติ “สิงคโปร์โมเดล” ความสำเร็จราคาแพง

ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จักงานเสวนาวิชาการเข้านอกออกในอุษาคเนย์ครั้งที่ 5 หัวข้อ “อาลัย ลี กวน ยู : ชำแหละมายาคติสิงคโปร์โมเดล” โดยมี มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นวิทยากรเสวนา และ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความสำเร็จของสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่อาศัยการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน การพัฒนาประเทศไม่ได้มาจากการคิดเองว่าอยากทำอะไร แต่มาจากการนำการรายงานวิจัยมาพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้น โดยอาศัยความรู้จากปัญญาชนและชนชั้นนำทีมีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล 

ก่อนที่สิงคโปร์จะเป็นอย่างที่เราเห็น คนสิงคโปร์มีราคาที่ต้องจ่ายคือต้องแลกด้วยเสรีภาพ เพราะการปกครองของพรรค People′s Action Party หรือ PAP ของลี กวน ยู เป็นการปกครองที่เน้นอำนาจส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจและทรัพยากร ไม่ปล่อยให้มีกลุ่มอำนาจการเมืองอื่น ๆ มาต่อรองนโยบายหรือการจัดการทรัพยากร 

ระเบียบในสังคมที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกในใจของคนที่ต้องการสร้างสังคมที่มีอารยะแต่เกิดจากความกลัวว่าชาติจะยากจน กลัวตัวเองจะอดอยาก กลัวอยู่ไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากความต้องการแสวงหาเสรีภาพภายในจิตใจ เมื่อคนเราอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมาก ๆ ความหวาดกลัวก็ผลักให้เรายอมรับยอมแลกเสรีภาพค่อนข้างมาก 

ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจกับเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเรามักจะมีมายาคติที่ว่าถ้าเป็นเผด็จการจะทำให้เศรษฐกิจโตเร็ว คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งหรือชนชั้นนำสิงคโปร์มักจะมองว่า การรวบอำนาจไว้เป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยมมันมีส่วนดี เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะว่าไม่ต้องต่อรองกับกลุ่มพลังทางการเมืองอื่น ๆ ในการจัดสรรกระจายทรัพยากรเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ แต่จริง ๆ แล้วการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมันมีปัจจัยอื่นนอกจากตัวการเมือง มันไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงแบบ 1 ต่อ  1

ในภาคสังคมของสิงคโปร์ กลุ่มพลังอื่น ๆ อย่างฝ่ายซ้ายในสิงคโปร์จะถูกกดทับ คนจำนวนไม่น้อยถูกป้ายสีให้เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นมีพื้นที่ต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย 

รัฐบาลของลี กวน ยู ไม่ให้ความสำคัญกับคนระดับล่าง แทบไม่มีสวัสดิการให้คนชั้นล่าง และไม่ให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อกดค่าแรงเพื่อให้สิงคโปร์สามารถแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ได้ ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยสูงที่สุดในอาเซียน ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจไปกระจุกอยู่กับคนรวย 

ดร.กรพนัช กล่าวอีกว่า ถ้าผู้นำมองที่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ในระยะยาวมันจะมีปัญหาตามมามากมาย จะเห็นได้จากสถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พรรค PAP เริ่มอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2011 พรรค PAP ได้รับคะแนนนิยมน้อยลงมาก โดยมีคะแนนดิบเหนือคู่แข่งอยู่ในสัดส่วนประมาณ 60 : 40 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่เกือบจะครึ่งต่อครึ่ง 

ลี กวน ยู ถึงกับเคยประกาศขู่บางเขตว่าถ้าไม่เลือก PAP เขตนี้จะต้องจ่ายราคาแพง เป็นการข่มขู่เอาเศรษฐกิจเป็นประกัน PAP นำเสนอตลอดว่าตัวเองเป็นผู้มีคุณูปการในการสร้างเศรษฐกิจ และถ้าอยากให้เศรษฐกิจดีต่อไปจะต้องเลือก PAP เท่านั้น พรรคฝ่ายค้านจึงโจมตีว่าการข่มขู่และคำพูดของ ลี กวน ยู น่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในความคิดความเข้าใจของคนไทยเราอยากเจริญเหมือนสิงคโปร์ และมีคำถามว่าสิงคโปร์จะไปต่อได้หรือไม่เมื่อไม่มี ลี กวน ยู สิ่งที่เรียนรู้จากการตั้งคำถามเหล่านี้คือคนทั่วไปคิดว่าสิงคโปร์เป็นสิงคโปร์อยู่ทุกวันนี้เพราะลี กวน ยู และเมื่อไม่มีลี กวน ยู แล้วสิงคโปร์จะถล่มทลาย 

แต่ถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์สิงคโปร์จะรู้ว่าสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่ไม่มีอะไรมาก่อน สิงคโปร์เป็นพื้นที่คลังสินค้า เป็นเมืองท่าการค้า เป็นทางเดินเรือ สิงคโปร์ถูกสร้างขึ้นในฐานะที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ตั้งแต่ยุคที่อังกฤษเป็นผู้ปกครอง

เรามักจะสตาร์ทประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ลี กวน ยู ทั้งที่โดยที่ตั้งของประเทศมีความสำคัญอยู่แล้ว และมีความสำคัญในแง่ความเจริญทางเศรษฐกิจได้โดยตัวมันเอง สิงคโปร์มีต้นทุนที่ดีมาตั้งแต่อดีต แต่ลี กวน ยู ฉลาดในการจัดการประเทศแบบสมัยใหม่

อาจารย์มรกตวงศ์พูดถึงอีกประเด็นสำคัญว่า ทั้งสังคมไทยและทั้งโลกอาจจะมองแค่มิติเดียว เราคิดมองความสำเร็จของผู้นำประเทศจากดัชนีด้านเดียวคือเศรษฐกิจและความเจริญทางด้านวัตถุ เราไม่ได้เผื่อใจเปิดกว้างให้พื้นที่การประเมินความสำเร็จด้านอื่น ๆ เช่น เอาดัชนีชี้วัดความสุข ดัชนีชี้วัดด้านสิทธิเสรีภาพ การยอมรับความหลากหลายมาวัดความสำเร็จของผู้นำ 

คนพูดถึงข้อดีของสิงคโปร์และลี กวน ยู มากมาย แต่เราไม่เคยพูดถึงแง่ลบ สิงคโปร์ภายใต้การนำและการวางพื้นฐานรัฐอำนาจนิยมแบบลี กวน ยู เป็นรัฐที่ปกครองแบบพ่อปกครองลูก เป็นรัฐที่เหมือนครูคอยมอนิเตอร์นักเรียน ละเมิดกฎเมื่อไหร่โดนลงโทษ ลี กวน ยู ครอบงำทางความคิดโดยใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องชี้นำชักจูงให้คนไม่สามารถออกไปจากกรอบ

จากการไปเก็บข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานในสิงคโปร์ เห็นว่าสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานต่ำผกผันกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นความสุขคนก็น่าจะเพิ่มขึ้น แรงงานที่ไปทำงานสิงคโปร์ต้องยอมรับในกฎต่าง ๆ ของสิงคโปร์ เช่น ผู้หญิงที่ไปเป็นแรงงานในสิงคโปร์ห้ามแต่งงานห้ามมีลูก ใครตั้งครรภ์จะถูกให้ออกจากงานและส่งออกนอกประเทศ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ความเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนผกผันกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

สิงคโปร์พัฒนาประเทศด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 36-37 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ แต่สิ่งที่เป็นวิกฤตการณ์สำคัญอย่างในสิงคโปร์ตอนนี้คือการมองคนต่างระดับชั้น มองในลักษณะคนไม่เท่ากัน ถึงขนาดมีการแบ่งวันใช้สาธารณูปโภคในประเทศ เพื่อที่คนชั้นบนกับคนชั้นล่างจะไม่ต้องใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน คนสิงคโปร์ถามว่าฉันเป็นคนจ่ายภาษีให้รัฐบาลสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำไมต้องแบ่งให้คนที่เป็นแรงงานมาใช้ 

ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในสิงคโปร์ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอิสระที่เคยเป็นนักข่าวในสิงคโปร์นานกว่า 15 ปี กล่าวถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อในสิงคโปร์ว่า ภาพพจน์ของสิงคโปร์ดีมาก แต่สิงคโปร์มีการควบคุมสื่อ ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์ไม่เคยปิดหนังสือพิมพ์ แต่เคยควบรวมหนังสือพิมพ์ใหญ่ 2 หัวเข้าด้วยกัน และหนังสือพิมพ์ต้องส่งข่าวให้รัฐบาลตรวจทุกวัน คนที่ทำข่าวสายการเมืองถ้าไปสัมภาษณ์ฝ่ายค้านจะต้องเอาเทปสัมภาษณ์ไปไว้ในห้องสมุด เพื่อที่รัฐบาลจะใช้เป็นหลักฐานเมื่อจะเอาเรื่องฝ่ายค้าน

กับสื่อต่างประเทศเองก็เช่นกัน ลี กวน ยู ไม่เคยเลือกปฏิบัติในการจัดการ ถ้าสำนักไหนเขียนบทความในทางลบกับรัฐบาล ลี กวน ยู จะตามไล่บี้ไม่ปล่อย อย่างปี 1990 นิตยสารไทม์เคยเขียนสนับสนุนการต่อสู้ของหัวน้าพรรคแรงงานในสิงคโปร์ นิตยสารไทม์จึงโดนรัฐบาลสิงคโปร์ถูกตั้งข้อหาปลอมแปลงจดหมายจากผู้อ่าน ทำให้ยอดขายของไทม์ในสิงคโปร์ถูกตัดจาก 18,000 ฉบับ เหลือ 2,000 ฉบับ นอกจากนั้นยังมีสื่อต่างชาติอีกหลายฉบับถูกสั่งแบน 

ข้อห้ามในการเสนอข่าวในสิงคโปร์มี 3 ข้อคือ 1.ไม่พูดถึงปัญหาละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา 2.ไม่ปลุกระดมยั่วยุให้เกิดการปะทะขัดแย้งทางเชื้อชาติ 3.การรายงานข่าวเกี่ยวกับการทหาร การทูตต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละมายาคติ สิงคโปร์โมเดล ความสำเร็จราคาแพง

view