สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือไม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สืบเนื่องมาจาก คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2558 ที่ออกมาเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจ

และแนะนำผู้เสียภาษีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยในข้อ 1 ของคำสั่งดังกล่าว ได้ให้ความหมายของคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” หมายความว่าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และได้ยกตัวอย่าง เช่น (1) การเข้าร่วมเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร เช่น บัญชีเงินฝากนางก. และนางสาวข. เป็นต้น


ผลตามมาของคำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนจำนวนมากว่าการร่วมกันเปิดบัญชีธนาคารถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ อันจะต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ในฐานะหน่วยภาษีอีกหน่วยหนึ่ง และทำให้เป็นการเสียภาษีซ้อนหรือไม่


เนื่องจากประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติคำนิยามของคำว่าห้างหุ้นส่วนไว้เป็นการเฉพาะ การพิจารณาว่ากิจการใดมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท มาตราที่เป็นหลักทั่วไปคือมาตรา 1012 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาตั้งแต่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น และเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ ประกอบด้วยแล้ว อาจพิจารณาความหมายของห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยสามารถแยกเป็นองค์ประกอบหลักได้ 3 ประการคือ


(1) เป็นสัญญาที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปนำหุ้นมาลงทุนร่วมกัน


(2) เพื่อทำกิจการร่วมกัน


(3) ด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะได้แก่กิจการที่ทำนั้น


การเปิดบัญชีธนาคารร่วมกันจะถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือไม่ จึงมีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่าเข้าองค์ประกอบการเป็นหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ซึ่งมีข้อพิจารณา คือ


ประการที่หนึ่ง เป็นการนำหุ้นลงทุนร่วมกันหรือไม่ การนำเงินฝากธนาคารวัตถุประสงค์หลักของผู้ฝาก คือหาที่ปลอดภัยในการเก็บรักษาเงิน อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่ง ที่ปกติผู้ฝากอาจต้องเสียค่าบำเหน็จให้ผู้รับฝาก แต่เนื่องจากการฝากเงินมีลักษณะเฉพาะ คือผู้รับฝากสามารถนำเงินที่รับฝากไปใช้ประโยชน์หาดอกผลได้ ผู้รับฝากจึงให้ประโยชน์แก่ผู้ฝากเป็นการตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย จึงมีผลตามมาทำให้การฝากเงินกับธนาคารเป็นการออมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์เป็นดอกเบี้ย และการที่ผู้ฝากเงินตั้งแต่สองตนร่วมกันเปิดบัญชี ก็เป็นลักษณะเพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าของร่วมหรือมีส่วนในกรรมสิทธิ์ในเงินนั้น ไม่มีการแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ว่าเพื่อเป็นการร่วมกันลงทุน เพราะหากเป็นการร่วมกันลงทุน ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าแต่ละคนมีส่วนในการลงทุนฝากเงินนั้นเท่าใด


ประการที่สอง การฝากเงินร่วมกันถือว่าเป็นการทำกิจการร่วมกันหรือไม่ หลักประการสำคัญในการพิจารณาว่ากิจการใดเป็นห้างหุ้นส่วนหรือไม่ประการหนึ่งคือได้มีการทำกิจการร่วมกัน แม้มีการทำกิจการแต่ไม่ได้ทำกิจการร่วมกัน ก็ไม่เป็นห้างหุ้นส่วน เช่นนาย ก. รับเงินจากนาย ข. ไปหาซื้อปอมาขายให้นาย ข. โดยนาย ข. สัญญาว่าหากหักทุนออกแล้ว นาย ข. ได้กำไรจะแบ่งให้นาย ก. ข้อตกลงนี้ก็ไม่เป็นห้างหุ้นส่วน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2513,1165/2521) แต่การฝากเงิน มีเจตนาหลักเพื่อเก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัยและเป็นการออม มิได้มีการทำกิจการอะไรอย่างไรเลย จึงไม่มีทางที่จะเข้าองค์ประกอบที่จะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญได้


ประการที่สาม การเปิดบัญชีฝากเงินร่วม มีวัตถุประสงค์แบ่งกำไรอันจะได้จากกิจการนั้นหรือไม่ ตามหลักกฎหมายของห้างหุ้นส่วนสามัญ ส่วนกำไรหรือส่วนขาดทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนให้เป็นไปตามส่วนที่ลงทุน แต่การเปิดบัญชีฝากเงินร่วมกันมิได้มีจุดมุ่งหมายเป็นการลงทุน จึงไม่ได้แยกไว้ว่าแต่ละคนลงทุนในเงินฝากเท่าใด แม้การฝากเงินจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยเป็นเพียงรายได้ ไม่ใช่กำไร หากจะมีการแบ่งดอกเบี้ยกัน ก็เป็นการแบ่งทรัพย์สิน ไม่อาจถือว่าเป็นการแบ่งกำไร ไม่เข้าองค์ประกอบในประการนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ถือว่าการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมหาเป็นหุ้นส่วนไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 314/2510) หรือการที่ชายหญิงอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ซึ่งทั้งสองต่างมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่ก็หาเป็นหุ้นส่วนกันไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1739//2500, 444/2507)


ปัญหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนสามัญ หากถือว่าการร่วมกันเปิดบัญชีธนาคารเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำสั่งของกรมสรรพากรดังกล่าว ก็จะมีปัญหาทางปฏิบัติโดยผลทางกฎหมายตามมาอีกหลายประการ เช่น การจัดกิจการงานของห้าง ถ้าไม่ตกลงกันไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนสามารถจัดกิจการงานของห้างได้ ต่อไปการเปิดบัญชีร่วม นอกจากลายมือชื่อผู้มีอำนาจเบิกเงินถอนเงินแล้ว ธนาคารต้องให้ผู้ฝากระบุด้วยว่าจะให้ผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของเงินฝากนั้น หรือร่วมกัน การถอนเงินถือได้ว่าเป็นการลดทุน การฝากเพิ่มถือได้ว่าเป็นการเพิ่มทุน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วน ตามปพพ.มาตรา 1032 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ธนาคารจะต้องมีแบบฟอร์มให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนคือผู้ร่วมกันฝากเงิน ระบุว่ายินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงประกอบการถอนเงินและฝากเพิ่มทุกครั้ง ประการสำคัญหากมีการยกเลิกบัญชีเงินฝากร่วม ย่อมถือได้ว่าเป็นการเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ว่าด้วยการเลิกและการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่สำคัญคือต้องมีการชำระบัญชีตามที่กำหนดในปพพ.มาตรา 1061 หากไม่มีการชำระบัญชีก็จะมีปัญหาตามมาหลายประการ


บทสรุป จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่าการเข้าร่วมเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารแม้ผู้เข้าร่วมเปิดบัญชีจะไม่มีสถานะความสัมพันธ์กันทางครอบครัวก็ตาม ก็ไม่ทำให้กิจกรรมการเปิดบัญชีเงินฝากกลายเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำสั่งของกรมสรรพากรไปได้ ดังนั้น หากยังมีการดึงดันในเรื่องนี้ต่อไป กรมสรรพากรจะกลายเป็นผู้คืนความทุกข์ให้ประชาชนผู้มีความจำเป็นต้องเปิดบัญชีร่วม และเป็นผู้สร้างความยุ่งยากซับซ้อนและเกิดปัญหาทางปฏิบัติต่อการปฏิบัติของธนาคาร ไม่คุ้มกับรายได้ภาษีที่อาจได้เพิ่มมาอีกนิดหน่อยหรืออาจไม่ได้เพิ่มเลยก็เป็นได้ ที่สำคัญคือต้องเสียเวลาค้าความกับผู้มีความจำเป็นต้องเปิดบัญชีเงินฝากร่วมจำนวนมากที่พร้อมจะสู้คดีกับกรมสรรพากรแน่ สู้เอาเวลาที่ต้องค้าความไปตามเก็บภาษีที่มีการรั่วไหล และไปป้องกันและปราบปรามการทุจริตโกงภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ดีกว่าหรือครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร่วมกันเปิด บัญชีเงินฝากธนาคาร ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

view