สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การฟื้นเศรษฐกิจต้องทำทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว มาตรการระยะสั้นก็เพื่อกระตุ้นให้โมเมนตั้มเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น

และมาตรการระยะยาวก็เพื่อให้การเร่งตัวของโมเมนตั้มเศรษฐกิจนำไปสู่การขยายตัวที่ต่อเนื่อง วันนี้จะเขียนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจมีอยู่และต้องแก้ไข และถ้าไม่แก้เศรษฐกิจไทยก็คงเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ต่อไป คือ เป็นเศรษฐกิจที่จะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำต่อเนื่อง


มีใครจะตระหนักหรือไม่ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเดินถอยหลัง ทั้งในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจและระดับการพัฒนา เปรียบ เทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ใครที่เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ คงสังเกตได้ว่าช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศในเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเห็นได้ชัดเจน แต่ประเทศไทยตั้งแต่เกิดวิกฤติเอเชียปี 2540 ยังไม่สามารถที่จะกลับไปสู่ระดับของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีเหมือนเก่าได้ แม้ประเทศอื่นๆ ที่ถูกกระทบจากวิกฤติเอเชียปี 2540 เหมือนกัน สามารถใช้วิกฤติเป็นโอกาส มีการปฏิรูปประเทศจนเป็นประเทศใหม่ที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงขึ้น จนแทบไม่มีความอ่อนแอเก่าๆ เหลืออยู่ เช่น กรณีเกาหลีใต้ แต่สำหรับประเทศไทย ระดับการพัฒนาประเทศได้หยุดนิ่งไม่ก้าวต่อจนประเทศอื่นๆ ล้วนแซงหน้าเราไป จนปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในเอเชีย


ผมเห็นด้วยกับบทความของ ดร.เทียนทิพ สุพานิช ที่ตีพิมพ์ในหนังสือบางกอกโพสต์เมื่อสองอาทิตย์ก่อนที่เขียนว่า อัตราการขยายตัวที่ต่ำต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากสองสาเหตุ หนึ่ง การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ และสอง ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยมีอยู่แต่ไม่ได้แก้ไข ในความเห็นของผมทั้งสองปัญหานี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวแล้วยังมีส่วนทำให้ระดับการพัฒนาประเทศของไทยเดินถอยหลังอย่างน่าเสียใจ เทียบกับความก้าวหน้าที่ประเทศรอบข้างของเรามี บางประเทศที่เคยตามหลังเราในแง่ระดับการพัฒนาประเทศขณะนี้ได้แซงเราไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เรื่องการศึกษา ขณะนี้เราเดินตามหลังฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เรื่องความเข้มแข็งในเชิงสถาบันของภาคราชการและการเมือง ตำแหน่งของประเทศไทยในดัชนีตัววัดสากลได้ร่วงลงต่อเนื่องสู่อันดับที่ 100 จาก 144 ประเทศทั่วโลก และความเสื่อมถอยนี้ก็สะท้อนชัดเจนจากความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศไทยมี จนกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต พูดสั้นๆ ก็คือ เศรษฐกิจของเราขณะนี้ป่วยหนักจากหลายโรคเชิงโครงสร้างที่รุมเร้า


ถ้าจะถามว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรที่ต้องแก้ไข ผมคิดว่าปัญหาที่ต้องแก้ไขมีมากมายแต่วันนี้อยากจะยกให้เห็นสามเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญและควรแก้โดยเร็ว


เรื่องแรก คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างสามปัญหาที่มีอยู่แต่ยังไม่ได้แก้ไข คือ หนึ่ง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (High Cost) ทำให้ประเทศแข่งขันไม่ได้ ขณะที่เราก็ไม่มีการปรับด้านผลิตภาพการผลิตให้ดีขึ้น คำถามคือ เราจะบริหารจัดการต้นทุนการผลิตอย่างไรให้ลดลง ทั้งต้นทุนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดที่สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้แก่ภาคธุรกิจและจากความไม่มีประสิทธิภาพของกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจของเรา สอง แรงงานมีทักษะหายาก ทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถพัฒนาปรับปรุง (Upgrade) วิธีการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นได้ และสาม ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเราไม่มีคุณภาพดีพอที่จะรองรับการใช้ระดับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะเราไม่ได้ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานมานาน ทำให้ระดับเทคโนโลยีการผลิตที่ประเทศมีอยู่ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ สามสาเหตุนี้อธิบายได้เป็นอย่างดีว่าทำไมการส่งออกของไทยจึงไม่ขยายตัวมาสองปีติดต่อกันและปีนี้ก็อาจเป็นปีที่สาม


ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สองที่ต้องแก้และอาจเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดขณะนี้ก็คือ การทำงานของระบบราชการที่ได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และไม่ใช่เป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจอย่างที่เคยเป็น ล่าสุด ผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปี 2014 ประเด็นที่นักธุรกิจมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดในการทำธุรกิจในประเทศไทยกว่าร้อยละ 80 ของคำตอบเป็นปัญหาที่โยงกับการทำหน้าที่ของระบบราชการไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพของระบบราชการ ความไม่มีเสถียรของนโยบายรัฐ ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นด้านภาษีอากร ในเรื่องนี้ประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน และความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าจากนี้ไปไม่มีการปฏิรูปการทำงานของภาครัฐจริงจัง ระบบราชการก็จะยังเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ที่จะสร้างต้นทุนและข้อจำกัดให้กับการพัฒนาประเทศต่อไป ผลก็คือเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถกลับไปขยายตัวในอัตราที่ดีเหมือนอดีตได้ เราจะเป็นผู้ตามที่จะล้าหลังประเทศอื่นๆ มากขึ้นในเอเชีย


ปัญหาที่สาม คือ ความไม่มีประชาธิปไตยในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นแบบระบบทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันจริงจัง แต่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์ที่แข่งกันในทางวิ่งเต้นหาโอกาสทางธุรกิจ มากกว่าจะแข่งกันในเรื่องประสิทธิภาพและนวัตกรรม โดยกลุ่มธุรกิจใหญ่จะช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มๆ เพื่อขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มและเครือข่ายของตน ทำให้ระบบอุปถัมภ์ และการใช้เส้นสายและพรรคพวกได้กลายเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจแทนกลไกตลาด และมีอิทธิพลมากต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ


ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยกเป็นตัวอย่างทั้งสามปัญหานี้ เมื่อรวมกับการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรง ได้มีผลให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจในประเทศถูกบิดเบือนจนการแข่งขันซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นในประเทศไทย นำไปสู่การลดแรงจูงใจในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาพัฒนาสินค้าที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผลก็คือ ประเทศไทยไม่มีกลุ่มสินค้าใหม่ที่จะสามารถนำเศรษฐกิจในการแข่งขันในเวทีโลก ที่จะเป็นตัวหารายได้ให้กับประเทศในอนาคต เรามีแต่กลุ่มสินค้าเดิมที่นับวันต้นทุนจะแพงขึ้นและแข่งขันไม่ได้ การแก้ไขเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องมุ่งทำให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริงและเป็นธรรม โดยเฉพาะต่อผู้เล่นรายย่อยและรายใหม่ ลดอิทธิพล ของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งก็คือ การลดอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ในกลไกธุรกิจ


สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของปัญหาที่ต้องการการแก้ไข เป็นเรื่องที่ควรต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อข้างหน้าได้ ในแง่นี้ ความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศจะขึ้นอยู่อย่างสำคัญกับความสำเร็จและความล้มเหลวของการปฏิรูปที่กำลังจะมีว่าจะแก้ไขปัญหาที่กล่าวถึงนี้ได้อย่างจริงจังหรือไม่



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหาโครงสร้าง เศรษฐกิจไทย

view