สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจ คิดเผื่อโลก

ธุรกิจ” คิดเผื่อโลก
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กำไรสูงสุด” ไม่ใช่เป้าหมายเดียวของธุรกิจโลกยุคใหม่ แต่ต้องเป็นการทำกำไรบนความยั่งยืนร่วมกัน เกื้อกูลทั้ง ผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจเติบโต แต่ต้องแลกมากับการใช้ทรัพยากรอย่างกระหน่ำ จนไม่เหลือถึงคนรุ่นหลัง

แข่งขันฟาดฟันกัน เพื่อเป้าหมาย “กำไรสูงสุด” โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ทิ้งไว้กับผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม

นี่คือวิถีธุรกิจยุคเก่า ที่คนในโลกยุคใหม่ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แม้จะอยู่ได้ แต่ก็ “ไม่ยั่งยืน” และสังคมก็ไม่ต้องการธุรกิจแบบนั้น

“ธุรกิจ เป็นผู้ใช้ทรัพยากร เลยมีความหวังว่า ธุรกิจนี่แหล่ะ ที่นอกเหนือจากจะสร้างผลกระทบแล้ว น่าจะใช้ทรัพยากร และความรู้ความสามารถที่มี มาร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย”

“สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมสะท้อนความคิดในเวที “ธุรกิจโลกใหม่ : กำไรบนความยั่งยืนร่วมกัน คือกำไรสูงสุด” ที่จัดโดยกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

เพราะเชื่อว่า บทบาทของธุรกิจ ไม่เพียงการส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถร่วมสร้างระบบนิเวศใหม่ที่ทุกคนต่างเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะ ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ถ้าตอบโจทย์นี้ได้ ธุรกิจไม่เพียงอยู่ได้ แต่ยังจะได้รับการสนับสนุนจากสังคม ให้ดำรงกิจการของตนได้อย่างยั่งยืน

ดูตัวอย่างกรณีศึกษา ที่ผู้บริหาร ป่าสาละ ยกมาแบ่งปัน กับแบรนด์ดังของโลกอย่าง “ไนกี้”

หลังถูกโจมตีอย่างหนัก จากกรณีถูกเปิดโปงว่าใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิต ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่ผลิตรองเท้าให้ไนกี้ นี่เป็นโจทย์ท้าทายของแบรนด์ดัง เมื่อความจริงคือ พวกเขารับซื้อรองเท้าจากโรงงานผลิตหลายแห่งทั่วโลก จึงยากมากที่จะไปควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงงานได้

ทางออกของไนกี้ เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในปี 1997 พวกเขาไปแสดงความจำนงต่อรัฐบาล โดยการเข้าร่วมกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอของทำเนียบขาว ที่เน้นเรื่องแรงงานและสิทธิมนุษยชน เพื่อสะท้อนต่อสังคมว่า นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของไนกี้ แต่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของ อุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา

ไนกี้เลือกเดินหน้าคุยกับซัพพลายเออร์ ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ เปิดข้อมูลโรงงานผลิตให้ผู้คนได้รับรู้ และร่วมตรวจสอบ จากสโลแกนติดหู “Just do it” ในอดีต มาสู่สโลแกนใหม่ “Nike Better World” เพื่อประกาศการสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า จนได้ภาพลักษณ์ใหม่ว่า เป็นแบรนด์สินค้ากีฬาที่ยั่งยืนและโปร่งใสแบรนด์หนึ่งของโลก

ไนกี้ ปรับตัวสู่วิถียั่งยืน ด้วย “สถานการณ์บังคับ” แต่กับบางแบรนด์พวกเขามีดีเอ็นเอเรื่องนี้ตั้งแต่วันเริ่มต้นธุรกิจด้วยซ้ำ อยู่อย่าง Ben & Jerry’s ธุรกิจไอศกรีมพรีเมียมที่มีปรัชญาชัดว่า “Linked prosperity” กับมุมมองที่ว่า ธุรกิจจะเจริญมั่งคั่งคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้คนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมั่งคั่งไปพร้อมกันด้วย

เราเลยได้เห็นนโยบายต่างๆ ที่องค์กรแห่งนี้นำมาสนับสนุนความยั่งยืน อย่าง การกำหนดอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารว่าต้องไม่เกิน 7 เท่าของค่าจ้างพนักงานแรกเข้า การสนับสนุนแคมเปญต่อต้านฮอร์โมนเร่งโตในวัว เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อเมริกาแห่งแรกที่ขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่คู่ครองเพศเดียวกันที่เป็นพนักงานในบริษัท ริเริ่มทำ “รายงานประเมินผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม” ทุกปี เป็นไอศกรีมยี่ห้อแรกของโลกที่ผ่านการรับรอง Carbon neutral ขณะที่ 77% ของไอศกรีมทุกรส ได้รับการรับรอง Fair trade ส่วน 45% ของต้นทุนการขาย ก็ใช้ไปกับการลงทุนและสนับสนุนคู่ค้ารายเล็ก เป็นต้น

ใครว่าทำเรื่องดีๆ แล้วจะแข่งขันกับตลาดไม่ได้ สฤณี ฉายภาพให้ดูว่า Ben & Jerry’s มียอดขายต่อปีสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ กินส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมพรีเมียมสูงถึง 38% เป็นอันดับสองของโลกรองจาก Haagen-Dazs เท่านั้น

ข้ามจากฝั่งธุรกิจมาดูโลกของการลงทุนกันบ้าง “ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกเราว่า ยุคก่อนนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะพิจารณาว่า บริษัทใดให้ผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด ถ้าจะดูด้านคุณภาพด้วย ก็จะพ่วงว่า บริษัทนั้นมี “ธรรมาภิบาล” หรือไม่

ทว่าวันนี้โลกการลงทุนขยับไกลไปอีกขั้น เมื่อการประเมินบริษัทน่าลงทุน ไม่เพียงดูที่การมีผลตอบแทนที่ดี และมีธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปถึงว่า บริษัทนั้นมีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม และสังคมด้วยหรือไม่

ที่มาของดัชนี “ESG” (Environmental, Social and Governance) ตามหลักการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Socially Responsible Investing: SRI)

“ขณะนี้ตลท.เอง ก็พยายามกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่มีความยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อพัฒนาไปสู่ดัชนีความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เมื่อมีดัชนีนี้ นักลงทุนที่ต้องการลงทุนที่มีความยั่งยืนก็จะสามารถเลือกและคัดกรองการลงทุนที่ยั่งยืนได้”

หนึ่งตัวอย่างกองทุนเพื่อสังคม คือ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” โดย บลจ.บัวหลวง สนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อคนไทย และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน กองทุนเพื่อสังคมแห่งแรกของไทย ที่ลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีครบทั้ง 4 ด้าน คือ ดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี และต่อต้านคอรัปชั่น หรือที่เรียก “ESGC”

ร้อยละ 40 ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน หรือร้อยละ 0.8 ของมูลค่าเงินกองทุนของทุกๆ ปี จะได้รับการจัดสรรเพื่อไปลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดี

จากเป้าหมายเบื้องต้นที่คาดว่า ในช่วงแรก น่าจะมีเงินกองทุนรวมประมาณ 500 ล้านบาท ทว่าเปิดมาประมาณ 5 เดือน เงินกองทุนขยับขึ้นไปแตะถึงประมาณ 2 พันล้านบาท แล้ว

อย่าคิดว่าจะมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะทำเรื่องนี้ได้ ดูตัวอย่าง กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) กิจการที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ได้และทำกำไรด้วยโมเดลธุรกิจ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมาก

ในปัจจุบัน อาทิ กาแฟมีวนา ที่ซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวไร่ในราคายุติธรรม ส่งเสริมให้ปลูกกาแฟในป่า เพื่อรักษาผืนป่า ทำกาแฟอินทรีย์ ปลอดเคมี ช่วยทั้งชาวบ้าน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ขณะมีวนาก็อยู่ได้ มีกำไร เหมือนธุรกิจทั่วไป เป็นต้น

“วิเชียร พงศธร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ บอกว่า มีหลายเรื่องที่ธุรกิจสามารถทำได้ ทั้งในและนอกกิจการของตัวเอง ตลอดจนรูปแบบกิจการเพื่อสังคม การลงทุนเพื่อความยั่งยืน จากการใช้ทรัพยากร ศักยภาพที่จะบริหารจัดการ การบริหารการเงิน การลงทุน การมีเครือข่ายในห่วงโซ่ต่างๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำมาสร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลร่วมกันให้เกิดขึ้นจริงได้

“ทรัพยากรที่เรามี ศักยภาพที่เรามี สามารถนำมาใช้ในกลไกการทำเพื่อสังคมได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CSR ธุรกิจเพื่อสังคม หรือการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน อย่างนักธุรกิจมีทักษะ ขณะภาคประชาสังคมก็เข้าใจประเด็นสังคม แล้วมาร่วมมือกันเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง” เขาบอก

การทำเรื่องใหญ่ไม่ควรถูกยกให้เป็นหน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าต้องเกิดจากการร่วมมือทำของทุกพลังในสังคม



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจ คิดเผื่อโลก

view