สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตอุตสาหกรรมไทย ภัยซ่อนเร้นที่ถูกมองข้าม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน

โดย สันติธาร เสถียรไทย satitarn.sathiraththai@gmail.com

คำถามที่ผมต้องตอบนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติทุกปี คือว่าปีนี้ห่วงเรื่องอะไรที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยนักลงทุนที่ได้อ่านรายงานที่ผ่านมาของทีมเราจะจำได้ว่า ตอนกลางปี 2556 เรื่องที่ผมกังวลที่สุด คือ เรื่องการบริโภคของครัวเรือน เพราะราคาสินค้าเกษตรเริ่มตก ในยามที่หนี้ครัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นสูงมาก พร้อมกับจังหวะที่ "ยากระตุ้น" ที่ชื่อ "รถคันแรก" จบลง 

เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2557 เราปรับลดการคาดการณ์ GDP ไทยลงเหลือประมาณ 1% เพราะกลัวว่าปัจจัยการเมืองจะมีผลกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าในอดีต เพราะเราพึ่งพา การท่องเที่ยว กับ นโยบายการคลัง กว่าแต่ก่อนมาก และยังกังวลต่อว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีดตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง ถึงแม้การเมืองจะนิ่งขึ้นก็ตาม 



แล้วปีนี้ล่ะ สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคืออะไร ?

มาถึงบัดนี้ ตอนนี้ไม่ว่าใครต่างก็กังวลกันแล้วว่า เศรษฐกิจไทยอาจ ติดหล่ม เข็นไม่ค่อยขึ้นในปีนี้ ทั้งการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราได้เตือนนักลงทุนมาแล้วสักพัก แต่ถ้าจะให้พูดตามตรง สิ่งที่ผมกังวลที่สุด จริง ๆ ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่การที่เศรษฐกิจติดหล่มใน 12 เดือนข้างหน้านี้เท่านั้น แต่เป็นการที่เศรษฐกิจไทยอาจสูญเสียเครื่องยนต์ในการเจริญเติบโตไปส่วนหนึ่งอย่างถาวรไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

พูดอีกอย่างคือว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโตถึง3-4%หรือไม่นั้นยังไม่น่ากังวลเท่ากับว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าเราจะโตเฉลี่ยได้ถึง 4-5% อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะคาดการณ์กันหรือเปล่า หรือจริง ๆ เครื่องยนต์เราเสื่อมจนถึงแม้หลุดจากหล่มนี้แล้ว เราก็ยังโตได้เฉลี่ยแค่ 3-4% เป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ช้าลงเหมือนประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ในขณะที่เรายังไม่ใช่ประเทศรวย รายได้ต่อหัวยังอยู่แค่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ

และที่ผมเป็นห่วงเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษในปีนี้ ก็เพราะเห็นว่ามี "สัญญาณอันตราย" ที่เริ่มบ่งชี้ให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ถึงการเสื่อมถอยของเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย

22 เดือนดัชนีอุตสาหกรรมไทยหดตัว

อะไรที่เรามองข้ามไป

สัญญาณหนึ่งที่น่าห่วงมาก คือการที่ดัชนีอุตสาหกรรมของไทยหดตัวมาอย่างต่อเนื่องถึง 22 เดือนติดต่อกัน จนเรียกว่าระดับการผลิตวันนี้น้อยกว่าตอนปี 2550 ด้วยซ้ำ แม้ล่าสุดตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นบวกแล้ว เราก็ไม่ควรมองข้ามการหดตัวต่อเนื่องที่ทำให้เหมือนราวกับว่า 7 ปี การผลิตเราไม่ได้ไปไหนเลย

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ในภาคการเงิน การหดตัวนั้นยังไม่น่ากลัวเท่าการที่ดัชนีอุตสาหกรรมออกมาต่ำกว่าความคาดหมายอย่างต่อเนื่อง โดยทุกเดือนนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จะต้องคาดการณ์ตัวเลขอุตสาหกรรมตัวนี้ว่าจะเป็นเท่าไรแล้ว เราก็มาดูกันว่าตัวเลขจริงนั้นออกมา "สูงกว่า" หรือ "ต่ำกว่า" ที่คนคาดกัน ซึ่งโดยมากแล้วนักวิเคราะห์ก็จะเดาสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง ในแต่ละเดือน ไม่ได้มีรูปแบบที่ชัดเจนนัก

เพราะทุกคนจะปรับประมาณการตามตัวเลขจริง เช่น ถ้าคราวนี้สูงไป คราวหน้าก็จะลดการคาดการณ์ลงมาหน่อย เป็นต้น แต่ในกรณีของดัชนีอุตสาหกรรมไทยนั้น ใน 24 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขจริงออกมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ 80% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่าทุกคนนั้นมองข้ามอะไรบางอย่างที่สำคัญไป โดยเหมือนกับว่าทุกคนต่างรอกันว่าระดับการผลิตอุตสาหกรรมจะกลับไปเป็น "ปกติ" แต่มันก็ไม่กลับไปเป็นอย่างนั้นสักที

ทำไมคนถึงมองข้ามเรื่องนี้ไป ?

คนส่วนใหญ่คิดว่านี่เป็นปัญหาชั่วคราว ที่มาจากการที่กำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศอ่อนแอ โดยทฤษฎีที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ มีอยู่ 3 ข้อ ซึ่งผมมองว่าไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้น

แบบแรกคือ โทษนโยบายรถคันแรกว่าทำให้เกิด Oversupply ของรถ การผลิตเลยตกต่ำเมื่อสต๊อกยังเหลือตกค้าง และกำลังซื้อในประเทศตกลง อันนี้ถูกแค่นิดเดียวเพราะใน 3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่ลงดิ่งจริง ๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับพวกที่ใช้แรงงานมากกว่า เช่น เฟอร์นิเจอร์กับสิ่งทอ

ทฤษฎีอีกข้อที่นิยมกันก็คือ เพราะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ การส่งออกเลยแย่ ภาคผลิตเลยตกต่ำ แต่เมื่อทางเราเอาตัวเลขส่งออกอุตสาหกรรมมาเทียบกับการผลิตของพวกอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ จะค้นพบความจริงที่น่าตกใจมากว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา การผลิตตกต่ำกว่าการส่งออกมาก ซึ่งแปลว่าอาจต้องมีการนำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพื่อการส่งออก และนี่เป็นประเด็นที่สำคัญกว่าการส่งออก เพราะมูลค่าการผลิตในประเทศจะมีผลต่อ GDP และการสร้างงานกับรายได้โดยตรง

ลองนึกดูครับว่า หากเรานำเข้าทุกอย่างแล้วส่งออกไปเลยโดยไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม ก็ทำให้ยอดส่งออกดีได้ แต่เราไม่ได้อะไรเลยทางเศรษฐกิจ

เหตุผลข้อสุดท้ายที่คนใช้กัน คือ การที่โลกของเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนไป ทำให้ตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ของโลกหดตัวลง เพราะคนหันไปใช้ Solid State Memory ที่อยู่ในไอโฟน ไอแพดแทน

ปัญหาอยู่ที่อุตสาหกรรม HDD และบังเอิญไทยผลิตสินค้านี้มากก็เลยโดนหางเลขไปด้วย แต่การศึกษาของเราพบว่า คำอธิบายนี้ก็ไม่สมบูรณ์อีก เพราะถ้าปัญหาอยู่ที่ HDD ไม่ได้อยู่ที่ไทย สัดส่วนตลาดโลกของไทยในการผลิต HDD ก็ควรอยู่คงเดิม ถึงแม้ยอดขายสินค้าโดยรวมจะลดลง แต่เมื่อดูไปแล้วจะพบว่า สัดส่วนตลาดของไทยนั้นลดลงไปมากใน 3-4 ปีที่ผ่านมา จากเกือบ 50% ลงมาอยู่ที่ 30% กว่า โดยเหมือนว่าการผลิตมีการย้ายฐานไปฟิลิปปินส์และจีน ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นปัญหาเกี่ยวกับประเทศไทยด้วย มิใช่แค่ประเด็นเรื่อง HDD

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่มีแต่เรื่องด้านกำลังซื้อหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าด้านDemandแต่มีด้าน Supply Side เรื่องความสามารถทางการแข่งขันที่หายไปด้วย

ปัจจัยที่ความสามารถในการแข่งขันของเราถดถอยอย่างรวดเร็วกว่าปกติ ใน 3 ปีที่ผ่านมานั้นมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ หนึ่ง-น้ำท่วมในปี 2554 ทำให้โรงงานต่าง ๆ ต้องระวังการขยายการผลิตมากขึ้น บวกกับต้องจ่ายค่าประกันสูงขึ้น สอง-การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างมหาศาลในปี 2555-2556 ทำให้ค่าแรงโดยรวม (ไม่ใช่แค่ขั้นต่ำ) ถูกปรับขึ้นไปสูง โดยผลิตภาพแรงงานเพิ่มตามไม่ทัน สาม-นโยบายจำนำข้าวกับการที่ราคาสินค้าเกษตรตอนนั้นค่อนข้างดี จึงทำให้แรงงานย้ายจากภาคผลิตไปเกษตรมากขึ้น (ประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวในอาเซียนที่มีเทรนด์นี้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา) ทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหนักขึ้น

ทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน เสมือนฟ้าผ่า 3 ครั้งติด ๆ กันในช่วงปลายปี 2554-2555 จึงเป็นเหตุทำให้การผลิตอุตสาหกรรมไทยเริ่มถดถอยลงหนักตั้งแต่นั้นมา

โดยปัญหาด้านความสามารถการแข่งขันนี้น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจแปลว่าต่อให้กำลังซื้อในประเทศกับต่างประเทศจะดีขึ้นในอนาคต อุตสาหกรรมเราอาจไม่ฟื้นตัวโตเร็วได้เหมือนสมัยก่อน และก็เป็นเรื่องบังเอิญที่น่ากลัว เพราะไม่นานหลังจากเราตีพิมพ์รายงานเจาะลึกประเด็นอุตสาหกรรมไทยนี้ตอนเดือนมกราคม (ชื่อ Thailand : What 20-Month of Manufacturing Decline Imply ? สามารถกูเกิลได้) ก็มีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เจ้าใหญ่ของเกาหลีสองรายประกาศย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไปที่อื่นพอดี

ปัญหาTwinShortagesในประเทศไทยแค่ปัญหาชั่วคราวหรือไม่ ?

ทางแก้นั้นพอมี และรัฐบาลได้พยายามทำอยู่หลายข้อ เช่น การยกเลิกโครงการจำนำข้าวที่บิดเบือนตลาดแรงงาน เตรียมตัวลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเชื่อมประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการปฏิรูปองค์กรกับธนาคารรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา และประเทศไทยยังเจออุปสรรคชิ้นใหญ่ต่อการเจริญเติบโตระยะยาวอยู่ ที่แก้ยากสองข้อที่ผมขอเรียกว่า "Twin Shortages" คือการขาดแคลนคนวัยทำงาน และการขาดแคลนแรงงานฝีมือ

ปัญหาประชากรเข้าสู่วัยชรา (Aging Population) แปลว่าอีกไม่กี่ปีคนที่อยู่ในวัยทำงานเราจะลดลง ทำให้ขาดแคลนแรงงานมากขึ้น โดยในอาเซียนมีแค่ประเทศไทยกับสิงคโปร์ที่มีปัญหานี้ ทางเศรษฐกิจ IMF ได้ประเมินว่าปัจจัยนี้อาจลดอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในแต่ละปีไป 1% คือถ้าเดิมโตเฉลี่ย 4.5% ต่อไปก็จะลดเหลือ 3.5% เพราะปัญหาประชากรสูงวัยนี้ ข้อสอง นอกจากเราจะขาดแคลนแรงงานทั่วไปแล้ว เรายังขาดแคลนแรงงานฝีมือ (Skills Shortage) ทั้งระดับกลางและระดับสูง เนื่องจากปัญหาการศึกษารวมถึงกฎระเบียบที่ทำให้จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติยาก ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากการพึ่งปริมาณแรงงาน ไปเน้นผลิตภาพและคุณภาพมากขึ้น เราจึงเสียเปรียบเศรษฐกิจที่มีปัญหา Aging Population เหมือนกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์หรือแม้แต่จีนในจุดนี้

แน่นอน 2 ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครพูดถึง แต่ที่น่ากลัวก็คือ คนส่วนมากยังคิดว่าเป็นปัญหาระยะยาวที่สักวันในอนาคตจะเป็นประเด็น แต่ไม่ใช่วันนี้

แต่จากการศึกษาของเราพบว่า น้ำท่วมกับการขึ้นค่าแรงงาน 3 ปีที่แล้วนั้น อาจทำให้ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ "ออกอาการ" เร็วขึ้น เราจึงเห็นอาการจากการที่อุตสาหกรรมทรุดตัวมาตลอด 2 ปี และอาจทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราถอยลงมาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 3-4% จาก 4-5% ในอดีต ซึ่งมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์การลงทุนอย่างมาก

นี่จึงเป็น อีกเหตุหนึ่งที่บ่งบอกถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเพียง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวอาจไม่พอต้องมีการจัดรื้อระบบการบริหาร ตลาดทุนมนุษย์ (Human Capital) ของเราอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ จากระดับการศึกษาพื้นฐานจนถึงการพัฒนาฝีมือของคนที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่ แล้ว และการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่ขาดแคลน เพื่อเผชิญกับปัญหา Twin Shortages

แต่ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปแบบใด ก็ย่อมต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลในระยะสั้น คงมีเพียงสิ่งเดียวที่อาจช่วยประคับประคองได้บ้าง คือ ถ้าค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าเรา

ดังนั้น "เทรนด์ค่าเงินแข็ง" สวนทางชาวบ้านในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นพิเศษ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตอุตสาหกรรมไทย ภัยซ่อนเร้น ถูกมองข้าม

view