สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Active Aging คลิก! ธุรกิจ สูงวัยหัวใจโจ๋

Active Aging' คลิก! ธุรกิจ 'สูงวัยหัวใจโจ๋'
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตลาดสูงวัย “หอมหวาน” เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก BizWeek รวบรวมไอเดียการตลาดสูงวัยหัวใจโจ๋ มีศักยภาพ กำลังทรัพย์ เป็นนักบริโภคตัวยง

คนไทยที่อายุ 65 ปี ขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 12% มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิดล)

ในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้น โดยในอีก 20 ปี ประชากร 4 คน จะมีผู้สูงอายุรวมอยู่ในนั้น 1 คน

สัญญาณที่เกิดขึ้น ดึงความสนใจของตลาด ให้มิอาจเพิกเฉยต่อกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นจนกำลังจะกลายเป็น ประชากรหมู่มากในอนาคตข้างหน้า

ทว่าความหอมหวานไม่ได้อยู่ที่ผู้คนสูงวัยทั้งหมด แต่เป็นการเซ็คเมนต์กลุ่มที่เรียก “Active Aging” ซึ่งยังมีไฟ และใจยังโจ๋ (Young at Heart)

ที่น่าสนใจคือ พลเมืองกลุ่มนี้ มีความพร้อม มีศักยภาพ มีกำลังทรัพย์ เวลา กับประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต

ศิริพร ผลชีวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (RLG) ประเมินว่า ไทยน่าจะมีกลุ่ม Active Aging อยู่ประมาณ 6.5 ล้านคน จากผู้สูงวัยตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่คาดว่า น่าจะมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน หรือสูงกว่า 50% และยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ง่ายๆ คือ ผู้สูงวัยชาวไทย มีแนวโน้มเป็น Active Aging มากขึ้น!

ขณะที่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ยังยกให้ “Aging Society” การเข้าสู่สังคมสูงอายุ เป็นหนึ่งใน 6 Mega Trends ที่จะเกิดขึ้นใน ปี 2020 ชนิดที่ผู้ประกอบการจะละสายตาไม่ได้

เรารู้ดีว่า ผู้สูงอายุรุ่นใหม่ มีทั้งความมั่งคั่ง และไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยกว่าในอดีต ไม่หัวโบราณ เข้าถึงเทคโนโลยี และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อรับสิ่งใหม่ๆ

แต่ธุรกิจแบบไหน ? ที่จะโดนใจชาว Active Aging

ในเวที “เทรนด์ธุรกิจ พิชิตใจ วัยเกษียณ” DEMSI Talk ครั้งที่ 2 จัดโดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) แชร์ไอเดียธุรกิจรับตลาดผู้สูงอายุยุคใหม่

“รศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล” ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเราว่า การคิดธุรกิจมาสนองความต้องการกลุ่มสูงวัยพันธุ์ใหม่ ต้องเชื่อมโยงไปใน 5 ด้าน คือ

“Green and Health” ผู้สูงอายุกับกระแสเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“Innovation” ผู้สูงอายุกับนวัตกรรมใหม่ๆ

“Digital Life” ผู้สูงอายุกับชีวิตดิจิทัล

“Asianization” ผู้สูงอายุกับกระแสของเออีซี

และ “Urbanization” ผู้สูงอายุกับความเป็นเมือง

ส่วนการคิดโอกาสธุรกิจ ก็ให้มองจากพื้นฐานใน 4 เรื่อง คือ กายภาพของผู้สูงอายุ การจัดการทรัพย์สิน ชีวิตกับคนรอบข้าง เวลาและกิจกรรม

มาดูกันว่า จะสกัดออกมาเป็นธุรกิจอะไรได้บ้าง

เริ่มจากมิติด้านกายภาพของผู้สูงอายุ ที่เห็นภาพชัดสุดก็ต้อง Green and Health เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยชาวสูงวัยต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทว่าอย่าคิดไปไกลว่า ต้องถึงขนาดป่าเขาลำเนาไพร เพราะแท้จริงแล้ว ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ยังต้องการอยู่ในเมือง ใกล้โรงพยาบาลและแหล่งชุมชน เพราะคนแก่ก็ “ขี้เหงา”

สำหรับเทรนด์ของอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ เขาว่า จังหวัดที่มีความสงบ แต่ยังมีวิถีชีวิตเมือง อย่าง เขตปริมณฑล เชียงใหม่ เขาใหญ่ หัวหิน ฯลฯ อารมณ์นี้ยังมีโอกาสเติบโตได้

มาต่อกันที่ “Innovation” นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้เชื่อว่า ผู้สูงอายุยุคใหม่ จะมีลักษณะทางกายภาพที่ดีกว่าสูงวัยยุคก่อน เนื่องจากจะมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนองตอบทางกายภาพมากขึ้น เช่น แขน ขา กล เพื่อช่วยพยุงกล้ามเนื้อ เทคโนโลยีด้านยารักษาโรค และการใช้หุ่นยนต์ ที่ช่วยดำรงชีวิตของกลุ่มสูงวัย

“ใครที่สนใจตลาดนี้ เตรียมนำเข้าเทคโนโลยีได้เลย เพราะมีคนพร้อมจ่ายอยู่แล้ว” เขาบอก

แวะมาที่กระแสของ Asianization การมาถึงของเออีซี ทำให้เชื่อว่า ผู้สูงอายุจะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่การเดินทางไกล ร่างกายอาจไม่อำนวย ฉะนั้นการเที่ยวในเอเชียและอาเซียน จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงของสูงวัยหัวใจโจ๋

การเปิดอาณาเขตเออีซี จะทำให้เราได้คนดูแลที่เป็นต่างด้าวมากขึ้น พยาบาลฟิลิปปินส์ที่ภาษาอังกฤษดี จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในโรงพยาบาลหรือสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะศาสตร์บำบัดฝั่งเอเชีย อย่างนวดประคบ อบสมุนไพรต่างๆ จะกลับมาบูมอีกครั้ง

กลับมาดูเรื่อง การจัดการทรัพย์สิน กันบ้าง ไม่ต้องรอให้สูงวัย แต่หลายคนวางแผนกันตั้งแต่ก่อนเกษียณด้วยซ้ำ ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตหลังปลดภาระงาน ยังจะมีรายได้สบายๆ หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า อย่างบ้านและคอนโดมิเนียม ฉะนั้นตลาดอสังหาฯ เพื่อการลงทุนในกลุ่มผู้สูงวัยยังคงได้รับความสนใจ รวมถึงจะมีเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆ ที่มารองรับการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น เล่นหุ้นออนไลน์ ตลอดจนเริ่มไปลงทุนในเอเชียมากขึ้น

ต่อมา คือ ชีวิตกับคนรอบข้าง

ยุคนี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “Digital Life” ผู้สูงอายุกับชีวิตดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้ชาวส.ว.(สูงวัย) ได้พูดคุยกับลูกหลานใกล้ชิดขึ้น เห็นการเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเขาว่า อนาคตสถานดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนที่พักอาศัยที่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านดิจิทัลมากขึ้น เช่น เว็บแคมที่ทำให้คุยกับลูกหลานได้

“แต่แม้มีเทคโนโลยี เขาก็ยังอยากเจอกันตัวเป็นๆ อยู่ จึงเชื่อว่า การนัดกันทางออนไลน์ แล้วมานัดพบกัน มามีตติ้งกัน จะยังเกิดขึ้น แปลว่า ธุรกิจร้านอาหาร และชุมชนที่ให้ผู้สูงอายุได้มาเจอกันยังมีโอกาสมาก”

ขณะการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเยี่ยมเยือนเพื่อนสนิท มิตรสหายจะมีมากขึ้น สะท้อนถึงโอกาสของธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งควรเตรียมการเพื่อรองรับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น การมีพื้นที่กว้างขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือหมอประจำบนเครื่อง สำหรับทริปผู้สูงอายุ เหล่านี้ เป็นต้น

ปิดท้ายกับ เวลา และกิจกรรม

โดยเราจะเริ่มเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาตอบสนองเวลาและกิจกรรมของกลุ่ม Active Aging และยังช่วยแก้ปัญหาทางกายภาพไปได้ด้วย เช่น ของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ จะเริ่มเห็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล ธุรกิจหาเพื่อนยังเป็นธุรกิจยอดฮิต ที่ผู้สูงอายุต้องการ ตลอดจน การอยากไปทำประโยชน์เพื่อสังคมจะมีมากขึ้น จะเกิดกิจกรรมที่มีอาสาสมัครเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ช่วยดูแลนักท่องเที่ยว หรือช่วยงานในบริษัทบางลักษณะงาน เป็นต้น

“กลุ่มนี้เริ่มมีเวลา อาจเริ่มอยากลุกมาปลูกผัก ทำอาหารเอง ฉะนั้น พวกคู่มือปลูกผักอย่างง่าย อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนพวก คลาสสอนผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น”

รวมถึง การจัดคอนเสิร์ตย้อนยุค หนังย้อนยุคจะยังมาแรง การจัดทัวร์ไปในสถานที่เก่าๆ ที่คุ้นเคย กับอดีตอันรุ่งเรือง รวมทั้งการสังสรรค์กับเพื่อนเก่า โดยที่เชื่อมโยงกันผ่านโลกออนไลน์ จะยังเติบโตได้

มาดูกรณีศึกษาที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ กับ “สวางคนิเวศ” คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ โดย สภากาชาดไทย บางปู สมุทรปราการ ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบที่พักอาศัยและบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดย ปัจจุบันมี 2 เฟส รวม 468 ยูนิต

สวางคนิเวศ ไม่ใช่คอนโดแบบขายขาด แต่คนซื้อจ่ายเพื่อได้รับสิทธิ์เข้ามาอยู่ ทว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นการซื้อไลฟ์สไตล์ และบริการที่จะดูแลชีวิตให้ปลอดภัย แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้าย

คิดกันง่ายๆ ว่า เหมือนเรามาเช่าพื้นที่ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย โดยที่มีบริการทางการแพทย์ บริการผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน มีสังคม มีกิจกรรมให้ทำ เพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และมีความสุข

โดยราคาแต่ละยูนิตอยู่ที่ ประมาณ 8 แสน -1 ล้านบาท บวกค่าส่วนกลางอีกเดือนละประมาณ 2.5 พันบาท

“คอนเซ็ปต์การอยู่แบบสวางคนิเวศ คือ การมาแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน คนสูงอายุจำนวนมากได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีสังคม มีคนที่สนใจทำในเรื่องคล้ายคลึงกัน และช่วยกันแชร์ค่าใช้จ่ายกันเมื่อเวลาที่ต้องการด้านการแพทย์”

ถาม “พญ.นาฏ ฟองสมุทร” อนุกรรมการบริหารโครงการที่พักผู้สูงอายุ สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ว่า สวางคนิเวศ ประสบความสำเร็จแค่ไหน คำตอบสั้นๆ แค่ ปัจจุบัน “เต็มทุกยูนิต”

หนึ่งเทรนด์ที่เห็นได้ชัด จากผู้สูงวัยทั้ง 2 เฟสคือ

เฟสแรก ตั้งแต่เริ่มเปิดมาเมื่อกว่าสิบปีก่อน ผู้เข้าพักจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 73-74 ปี ทว่าเฟสสองที่เพิ่งเปิดมาได้ประมาณสามปี กลับมีอายุเฉลี่ยน้อยลง นั่นคือ อยู่ที่ประมาณ 60-61 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยัง Active อยู่มากๆ

“เห็นชัดว่าผู้สูงอายุแต่ละเจนความต้องการไม่เหมือนกัน ไลฟ์สไตล์ก็ไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มแรก มาเพราะต้องการความสงบ ต้องการอยู่ในที่ซึ่งปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ดูแล ค่อนข้างปลีกวิเวกหน่อย ชอบบำเพ็ญสมาธิ ปฏิบัติธรรมอะไรต่างๆ แต่กลุ่มที่ 2 จะใช้ชีวิตแอคทีฟขึ้น ชอบเที่ยว สนใจเทคโนโลยี มีจิตใจสังคมสงเคราะห์มากขึ้น”

นั่นคือความแตกต่างของกลุ่มสูงวัยหัวใจโจ๋ ที่ทำให้พวกเขาต้องปรับบริการมารองรับ เช่น การจัดการท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ (Slow Tourism) เพื่อสนองใจผู้สูงอายุกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

มีไอเดียธุรกิจมากมายให้เลือกทำ แต่จะเริ่มจากไหนดี “ธนันธน์ อภิวันทนาพร” ผู้เชี่ยวชาญพัฒนายุทธศาสตร์ ISMED สรุปให้ฟังว่า การเข้าสู่ตลาดผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ และ เจาะเซ็กเมนต์ให้ดี เนื่องกลุ่มผู้สูงวัยพันธุ์ใหม่กับพันธุ์ดั้งเดิมแตกต่างกัน ขณะที่เจเนอเรชั่นต่างกัน ก็มีความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไป

โดยผู้สูงวัยมีอยู่หลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่เป็นนักลงทุน กลุ่มที่อยากบรรลุความต้องการบางอย่างหลังเกษียณ กลุ่มชอบสังคม กลุ่มที่มีเวลาว่าง ไม่รีบร้อน เหล่านี้เป็นต้น เลือกเจาะได้ตั้งแต่ วัยเตรียมเกษียณ วัยเกษียณอายุ และผู้สูงวัยเต็มตัว โดยย้ำว่า โฟกัสให้ตรง เลือกให้ชัด จะได้ตอบสนองได้ตรงจุด

“เลือกได้แล้วก็ต้องหา Pain point หาจุดที่เจ็บปวดของกลุ่มนี้ให้เจอ แล้วมาออกแบบและพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการไปตอบสนอง ที่สำคัญคือต้องมีการสื่อสารออกไปด้วย” เขาบอก

ขณะที่ “สักกฉัฐ ศิวะบวร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบริก จำกัด บอกว่า การทำผลิตภัณฑ์สนองกลุ่มสูงวัยหัวใจโจ๋ หากเป็นบริการอาจเกิดได้ทันที ทว่าถ้าเป็นสินค้าอาจต้องอาศัยการวิจัย มีผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอยู่บ้าง ฉะนั้นอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจใดอยู่ อาจไม่ได้เจาะกลุ่มผู้สูงวัยเป็นหลัก แต่ให้ลองเพิ่มเซ็กเมนต์ที่เป็นกลุ่มสูงวัยเข้าไปด้วย แบบนี้ก็จะเริ่มได้ง่ายสุด

“เช่น ทำธุรกิจอาหารอยู่ ก็นำการศึกษาบางอย่างเข้ามาทำกับกลุ่มเอจจิ้ง หรือทำธุรกิจท่องเที่ยว ก็ลองเพิ่มอีกกลุ่มสำหรับตลาดผู้สูงอายุ ตลอดจนลองหาเครือข่ายใหม่ๆ ที่เก่งเรื่องกลุ่มนี้ มีข้อมูลดีๆ มาร่วมมือด้วย ก็จะทำให้เจาะตลาดสูงวัยได้ง่ายขึ้น”

หลากไอเดียคูลๆ ที่ใช้เปิดตลาด Active Aging เค้กชิ้นใหม่ที่ยังหอมหวาน กับพลเมืองสูงวัยหัวใจโจ๋

............................
“RLG-AAA”
อคาเดมีสูงวัยหัวใจโจ๋


“RLG-AAA” หรือ RLG-Active Aging Academy” คือ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ หมากรบล่าสุดของรักลูกกรุ๊ป หลัง กลุ่ม Active Aging เป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่พวกเขาให้ความสนใจ และมุ่งขยายธุรกิจเพื่อตอบสนอง

ศิริพร ผลชีวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (RLG) บอกเราว่า คนกลุ่มนี้มีความพร้อมและมีศักยภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงมิติอื่นๆ ด้วย เพราะมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต

“พอลูกโตแล้ว เขาก็เริ่มรู้สึกหมดความสำคัญ โดยเฉพาะยิ่งคนที่เกษียณแล้ว จะเห็นชัดเลยว่า ไม่รู้จะทำอะไรดี ซึ่งกลุ่มนี้ยัง Active อยู่ ไม่ใช่นอนอยู่กับบ้าน เขาแก่แต่กาย แต่ใจไม่ได้แก่ด้วย เพราะยังมีความต้องการอยู่ ทั้ง ปัจจัยสี่ การยอมรับ และมิติต่างๆ” เธอสะท้อนภาพ

ขณะที่ธุรกิจที่รอตอบสนองกลุ่ม Active Aging มีอยู่มหาศาล ทำอย่างไรที่จะฉีกตัวเองออกมาจากตลาดเหล่านั้นได้ ต้องเริ่มจากต้นทุนความเชี่ยวชาญที่มี นั่นคือ “การสร้างการเรียนรู้” ผ่านหลักสูตรต่างๆ ที่จะจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการกลุ่มสูงวัยที่ยังแอคทีฟโดยเฉพาะ ตั้งแต่กลุ่มวางแผนเกษียณ กลุ่มเกษียณ ตลอดจนผู้ดูแลที่ต้องเตรียมตัวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ

“กลุ่มแอคทีฟ ไม่ได้ขึ้นกับอายุ แต่อยู่ที่ไลฟ์สไตล์และจิตใจเขาด้วย” เธอย้ำ

กลายเป็นที่มาของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษากลุ่มผู้สูงอายุในแต่ละเจน เพื่อสร้างการเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามปรัชญาของพวกเขา ตั้งแต่หลักสูตรที่เป็นความจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องทราบ เช่น การวางแผนเรื่องการเงิน การดูแลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เป็นต้น

ตลอดจน “หลักสูตรตามอัธยาศัย” อย่าง เรียนศิลปะ เรียนดนตรี เต้นรำ ทำอาหาร แม้แต่ การทำภาพยนตร์

“เราจัดหมวดเนื้อหา เช่น เรื่อง สุขภาพ เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ และความชอบส่วนตัว โดยผู้สูงอายุบางคนอาจมีความฝันอยากทำหนัง เราก็จะหาคนมาสอนทำหนังสั้นให้ แล้วให้คนในครอบครัวมาดูด้วยกัน เพื่อให้เขารู้สึกว่า ตัวเองยังมีคุณค่า แล้วทุกคนยอมรับในคุณค่านั้น ซึ่งนั่นคือเป้าหมาย”

โมเดลในการหารายได้ของ AAA ไม่เพียงการจัดคอร์สสำหรับผู้สูงอายุ แต่มองถึงการเข้าไปทำโครงการให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่อยากทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุ เช่น สถาบันการเงินที่อยากสอนเรื่องการวางแผนทางการเงินกับกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขาก็จะไปดำเนินการให้ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสร้างการเรียนรู้ที่มีมานาน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยตั้งเป้าว่า ตลาดสูงวัยจะสร้างยอดขายให้กับบริษัทได้ประมาณ 10%

“เราต้องการเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ ในตลาดการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ” ซีอีโอ อาร์แอลจี บอก

ทว่าเธอย้ำว่า เป้าหมายที่สำคัญไปกว่า ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจ คือ การเติมเต็มความต้องการให้กับกลุ่มสูงวัย ให้ได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่าง ภาคภูมิใจ มีความสุข และมีประโยชน์

นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริง ของ อคาเดมีสูงวัยหัวใจโจ๋

.........................
“Cozy Cottage”
แตกไลน์แฟชั่นวัย 60+

ผ้าพันคอลายสวย เรียบหรูและดูดี เป็นผลงานของแบรนด์ “Cozy Cottage” บริษัท Cozy Design Studio จำกัด ที่แตกไลน์มาจับกลุ่ม Active Aging หลังเข้าร่วม “60+ Project” พัฒนาธุรกิจผู้สูงอายุ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปีที่ผ่านมา

“ชนิตา วิริยะชัย” เจ้าของแบรนด์ บอกเราว่า ตลาดผู้สูงอายุที่ Young at Heart มีความน่าสนใจ มีกำลังซื้อ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก นับเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาสินค้าไปตอบสนอง

แล้วต้องดีไซน์สินค้าแบบไหน ให้โดนใจคนกลุ่มนี้ เธอว่า “ต้องใช้แล้วไม่รู้สึกว่าแก่” แต่ดูแอคทีฟขึ้น เปรี้ยวขึ้น ลดวัย และใส่ได้กับเสื้อผ้าหลากหลาย ขณะที่การเลือกวัสดุ ผู้ใหญ่จะชอบคุณภาพ ฉะนั้นวัสดุที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นของดี อย่าง “ไหมไทย” ที่ทั้ง นิ่ม ทั้งสวย และ “เลอค่า”

“กลุ่มนี้รสนิยมจะเฉพาะตัวนิดนึง คือ ค่อนข้างเลือกใช้ของดี ไม่ได้เน้นถูกเข้าว่า วัยรุ่นอาจชอบแบบแฟชั่น เปลี่ยนกันบ่อยๆ แต่ผู้ใหญ่ซื้อของ เขาจะเก็บไว้ใช้นานๆ อยู่ได้นานๆ เลยเน้นของดี แต่ไม่ใช่แพงอย่างเดียวนะ ต้องสอดคล้องไปกับคุณภาพด้วย”

อีกหนึ่งไลฟ์สไตล์การช้อป ของ Active Aging ที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างเห็นชัด คือ ไม่ใช่แค่ซื้อใช้เอง แต่ยังซื้อเป็นของขวัญของฝากอีกด้วย

“เด็กๆ ซื้อใช้ ผู้ใหญ่ซื้อแจก” เธอสรุปให้ฟังอย่างนั้น

ขณะการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ ต้องเข้าใจการใช้งานของผู้สูงวัยด้วย เช่น ผ้าพันคอ ที่คนวัยนี้จะเอามาพันคอเพื่อปกปิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และทำให้ร่างกายอบอุ่น ตอบความต้องการนี้ได้ ก็จะเข้าถึงใจตลาด Active Aging

สำหรับการทำตลาด เธอว่า มองต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และยุโรป ที่กลุ่มสูงวัยยัง “หวานมาก”

เพื่อนำแฟชั่นแบรนด์ไทย ไปสนองใจชาว Active Aging ทั่วโลก



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Active Aging คลิก ธุรกิจ สูงวัยหัวใจโจ๋

view