สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบ่งทรัพย์ไม่ลงตัว บทเรียนครอบครัวแตกร้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

14 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันครอบครัวที่วงศาคณาญาติจะถือโอกาสใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าด้วยความสุข

ทว่า อีกหลายครอบครัวกลับขัดแย้ง แตกสลายจากปัญหาทรัพย์สินเงินทอง

โดยเฉพาะกับทรัพย์สินจากมรดกตกทอดตามพินัยกรรมต่างๆ เมื่อการแบ่งปันภายในครอบครัวไม่ลงตัว และสมาชิกรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทรัพย์สิน ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งหลายหนภายในลามไปถึงการฟ้องร้อง กระทั่งทำร้ายร่างกายถึงแก่ชีวิต

เช่น คดีของตระกูล “ธรรมวัฒนะ” เริ่มเมื่อปี 2522 จากความขัดแย้งเรื่องพินัยกรรม ทำให้พี่น้องในครอบครัวต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องกันเป็นข่าวในสังคมยืดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี รวมฟ้องกันมากถึง 48 คดี ก่อนจะปิดฉากมรดกแห่งปัญหาด้วยการลงรอยทั้งสองฝั่ง

อีกคดีที่น่าสนใจ เมื่อปี 2557 คือเรื่องราวของตระกูล “ศรพรหม” ที่พี่ชายคนโตของครอบครัวในวัยเพียงแค่ 18 ปี หาญกล้าคิดการใหญ่จะครอบครองสมบัติมรดก จึงตัดสินใจฆาตกรรมอำพรางฆ่าพ่อ แม่ และน้องชายของตัวเอง ก่อนจะโยนความผิดให้น้องชายว่าเป็นคนก่อเหตุ แต่ท้ายสุดตำรวจไม่หลงกลเพราะมีพิรุธต่างๆ จึงสืบสวนพุ่งเป้ากระทั่งถูกแรงกดดัน ลูกชายคนโตตระกูลศรพรหมจึงรับสารภาพว่าใช้อาวุธปืนของพ่อตัวเองยิงล้างครัว ที่ลงมือก่อเหตุสะเทือนเมืองไทยเพียงเพราะต้องการสมบัติของครอบครัว

นิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ ระบุว่า แม้ทุกวันนี้จะมีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับมรดกไปถึงศาลน้อยลง แต่ไม่ใช่เพราะเกิดความลงตัวในการแบ่งปัน แต่เป็นเพราะมีการไกล่เกลี่ยมาก่อนแล้ว แสดงให้เห็นว่าปัญหาของเงินทองภายในครอบครัวยังเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

“สาเหตุใหญ่ก็เกิดจากความไม่รู้ในข้อกฎหมายจริงๆ แต่คิดกันเองว่าเราสมควรจะต้องได้รับอย่างนี้ บ่อยครั้งที่มีการอธิบายไปว่าพินัยกรรมถูกเขียนไว้เช่นนี้ และมีผลตามนี้ แต่แน่นอนว่าคนที่เสียผลประโยชน์และไม่ได้ทรัพย์สินนั้นๆ ก็ต้องไม่ชอบใจ และเลยเถิดไปสู่การฟ้องร้อง” เลขาธิการสภาทนายความ ให้ความเห็น

นิวัติ ยกตัวอย่างว่า คำว่าครอบครัวโดยทั่วไป ก็คือ อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา ถ้ามีลูกขึ้นมาลูกจะเป็นของภรรยาโดยกฎหมาย ไม่ใช่ของบิดา แต่ถ้าพ่อในกรณีนี้จะไม่มีสิทธิรับมรดกของลูก ขณะที่ลูกจะมีสิทธิรับมรดกของพ่อเพราะเป็นผู้สืบสันดาน และกรณีเช่นนี้จะเกิดกับตัวผู้ชายเมื่ออยู่กินกันแล้วมีลูก แต่ถ้าเลิกรา แล้วผู้ชายไปมีภรรยาใหม่เข้ามาดูแล หรือแม้แต่เป็นบุคคลอื่นที่เข้ามาดูแลใกล้ชิด ระหว่างที่ใช้ชีวิตร่วมกันก็ให้ทรัพย์สินไปหลายอย่าง ถ้าผู้ชายตายลง ทรัพย์สินมรดกที่มีจะไม่ใช่ของภรรยาใหม่ หรือไปแย่งและเรียกร้องเอาไม่ได้ แต่จะเป็นของลูกชาย แม้ว่าอาจไม่ได้เลี้ยงดูก็ตาม

นิวัติ เล่าอีกว่า คำว่าครอบครัวตามกฎหมาย คือจดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้นทรัพย์สินมรดกจะมีลำดับชั้นเรียงเอาไว้อยู่ 6 ลำดับ สำหรับคนที่จะสามารถรับมรดกนั้นได้ คือ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน 5.ปู่ย่า ตายาย และ 6.ลุง ป้า น้า อา เป็นลำดับชั้น และจะได้เป็นเจ้าของจัดการมรดกนั้นตามกฎหมาย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีกรณีของบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการทำพินัยกรรม ก็จะเป็นสิทธิของเจ้าของพินัยกรรมที่จะยกสมบัติหรือทรัพย์สินของตนเองเมื่อตายไปแล้ว ให้กับใคร หรือมูลนิธิ หรืออย่างไรก็ได้

เลขาธิการสภาทนายความ ระบุว่า กรณีที่ทำพินัยกรรมไว้จะมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เพราะเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวได้ไปเห็นก็จะเกิดปัญหาตามมา หลายครั้งการแบ่งทรัพย์สินอาจจะไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจก็จะมีการทำให้พินัยกรรมนั้นเสียหายเพื่อให้ทำใหม่ กลายเป็นปัญหาในครอบครัวลงไปอีก เนื่องจากลูกหลานอาจคิดว่าเมื่อไม่ได้ทรัพย์สิน จากพินัยกรรมก็ไม่ดูแลและทอดทิ้งไปทันที ขณะที่บางคนที่รู้ว่าได้แล้ว ก็อาจไม่มีดูแลพ่อแม่เพราะมั่นใจว่าได้ทรัพย์สินแน่นอน

“สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องเงินทองที่อาจทำลายความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวได้ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดความไม่ลงตัวในการแบ่งทรัพย์สิน” นิวัติ ย้ำทิ้งท้าย

ขณะที่ในด้านคดีความนั้น หากมองดูที่ตัวเลขของปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ยื่นเรื่องให้พิจารณาคดีเกี่ยวกับมรดกที่ศาลแพ่งเพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกเอง จำนวน 503 คดี และยังมีผู้เข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาภายในครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากทรัพย์สินอีก 2,987 กรณี ขณะที่มีคดีขึ้นศาลเพื่อให้ตัดสินรวมแล้ว 1,959 คดี

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในครอบครัว อย่างน้อยเกือบ 2,000 ครอบครัว ต้องมาทำลายความสัมพันธ์กันเพราะเรื่องของเงินๆ ทองๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบ่งทรัพย์ ไม่ลงตัว บทเรียนครอบครัว แตกร้าว

view