สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กับดักภาคเกษตร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเผชิญค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมาก สวนทางกับรายได้ที่ลดลงหรือคงที่ ประชากรในภาคการเกษตรประมาณ 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากรราว 23 ล้านคน ฐานะยิ่งย่ำแย่กว่า รายได้เฉลี่ยอยู่ในระดับที่คาบเกี่ยวกับเส้นความยากจนที่ 2,492 บาท/เดือน (เส้นความยากจนและการกระจายรายได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2557) สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรที่เกือบทุกชนิดราคาอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะข้าว ยางพารา

ขณะเดียวกันการพัฒนาการเกษตรของไทยแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ขาดการนำเทคโนโลยีตลอดจนข้อมูลข่าวสารมา ปรับใช้ โครงสร้างทางการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรยังดำเนินไปแบบเดิม ๆ จำต้องพึ่งพาธรรมชาติ ฝน ฟ้า ไม่กล้าปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ นอกจากเดินตามกรอบวิธีการเดิม ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลงเรื่อย ๆ ติดกับดักการพัฒนา ไม่อาจก้าวข้ามการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มาสู่การผลิตสินค้าเกษตรในแบบก้าวหน้า เน้นการวิจัยพัฒนา รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

ประกอบกับรัฐบาลหลายยุคสมัยที่ผ่านมามุ่งแก้ปัญหาภาคการเกษตรเฉพาะหน้าในระยะสั้น เน้นให้การอุดหนุนช่วยเหลือภายใต้นโยบายประชานิยม มากกว่าการวางรากฐานโดยหวังผลในระยะยาว ทำให้เกษตรกรไทยกลายเป็นเด็กเลี้ยงไม่โต ต้องพึงพารัฐ ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง

การประกาศเลิกนโยบายประชานิยม พร้อมเดินหน้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ตามโรดแมปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุค "ปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อุยธยา" อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งแผนงานและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรทั้งในระยะสั้นและการวางรากฐานในระยะยาว จึงถือเป็นมิติใหม่ แม้ยังต้องจับตาดูกันต่อไป

ภายใต้โรดแมปดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯได้จัด ทำแนวทางดำเนินการสำหรับใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรทั้ง ระบบโดยเน้นปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญครอบคลุมทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ๆ หลายด้าน

ได้แก่ 1.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว นำร่องด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมไปปลูกอ้อยโรงงาน ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงคุณภาพการผลิตข้าวและปรับการผลิตข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก

2.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์โดยเฉพาะกระบือที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ โคนมซึ่งมีปัญหาต้นทุนสูง และการส่งเสริมเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเพื่อเป็นอาชีพหรืออาชีพเสริม 3.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง อย่างกุ้งทะเล หอยแครง ปลานิล การแก้ไขปัญหาการทำประมงและปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการประมง

4.โครงการแก้ไขหนี้สินของเกษตรกร 5.โครงการปรับปรุงและออกกฎหมายเกี่ยวกับภาคการเกษตร อาทิ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ร.บ.ชลประทานหลวง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ รวมทั้งการผลักดันสร้างสวัสดิการและรายได้ให้กับเกษตรกร คือ พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร

6.โครงการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน สำหรับใช้วางแผนการผลิต การเพาะปลูก การช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 7.โครงการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยอาศัยกลไกสหกรณ์ 8.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดน้ำมันปาล์มครบวงจร  9.โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร และ 10.โครงการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 15 แห่ง

เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และผลักดันให้เกษตรกรไทย ก้าวข้ามกับดัก ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำแบบเดิม ๆ สู่แนวทางใหม่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กับดักภาคเกษตร

view