สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหากาพย์สงครามชาเขียว ชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของใคร?

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการ

ชาเขียวพร้อมดื่มเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการแข่งขันที่ร้อนระอุด้วยมูลค่าตลาดที่สูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาทเมื่อปีก่อน และมีโอกาสเติบโตเป็นกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ เฉพาะแค่ชาเขียวเพียวๆ ก็กินส่วนแบ่งตลาดไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมชาเขียวที่นำไปผสมเป็นเครื่องดื่มดับกระหายอีกหลากหลายประเภท

ในยุคบุกเบิกมีเพียงโออิชิของ ตัน ภาสกรนที เจ้าพ่อชาเขียวผู้ที่ปลุกปั้นแบรนด์โออิชิมากับมือ เป็นเจ้าเดียวที่กินตลาดเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชาเขียวอีกหลายสิบยี่ห้อเป็นแค่ผู้แบ่งแชร์ตลาดส่วนน้อย จนตันขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เมื่อปี 2551 แต่ยังคงรับหน้าที่เป็นผู้บริหารให้กับโออิชิตามสัญญาใจที่ให้ไว้กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมาเมืองไทย แต่ที่สุด ตันก็ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นผู้บริหารโออิชิ พร้อมกับก่อตั้ง บริษัท ไม่ตัน เพื่อดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มประเดิมตัวแรก ดับเบิ้ล ดริ๊งค์

จนกระทั่งปี 2554 เขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “ไม่ตัน” มาเป็น  “อิชิตัน กรุ๊ป” พร้อมกับเปิดตัวชาเขียวอิชิตัน ด้วยจุดขายชาออร์แกนิก สร้างความฮือฮาอยู่ไม่ใช่น้อย และนั่นคือจุดเริ่มต้นจากผู้ปั้นโออิชิมาสู่สถานะผู้แข่งขัน จุดชนวนให้เกิดสงครามชาเขียว ระหว่าง “โออิชิ” ผู้นำตลาดที่ต้องป้องกันศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในขณะนั้นถึง 60% กับ “อิชิตัน” ผู้ไล่ล่าส่วนแบ่งตลาดและท้าชิงบัลลังก์ชาเขียวที่เริ่มต้นจากศูนย์

ในด้านการทำตลาดอิชิตัน สไตล์เถ้าแก่ เสี่ยตันมีอำนาจการตัดสินใจได้เร็ว และหมัดเด็ดคงหนีไม่พ้นการใช้ตัวเองเป็นกลยุทธ์สร้างแบรนด์ทุกที่ทุกเวลา ทั้งเป็นพรีเซนเตอร์ การสวมหมวกไปทุกหนทุกแห่ง ความเคลื่อนไหวทางสังคม การสื่อสารทางเฟซบุ๊ก หรือกระทั่งความโดดเด่นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การมอบเงินรางวัลให้กับนักมวย ฯลฯ เพื่อสร้างความจดจำ ขณะที่กุญแจแห่งความสำเร็จคงหนีไม่พ้นแคมเปญโปรโมชั่นชิงโชคที่หวือหวา

แตกต่างจาก โออิชิ อย่างชัดเจน การบริหารงานในองค์กรขนาดใหญ่ภายใต้ร่มเงาไทยเบฟฯ การตัดสินใจต้องใช้ระยะเวลา แต่มีความได้เปรียบที่มีท่อน้ำเลี้ยงที่ใหญ่ สามารถขยายไลน์สินค้าหลากหลาย ซึ่งมีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอ ตั้งแต่ ชาคูลล์ซ่า ชาพร้อมดื่มอัดก๊าซ ชาเขียวผสมน้ำผลไม้ฟรุตโตะ และสิ่งสำคัญการใช้งบการตลาดไม่อั้น เพื่อจัดโปรโมชั่นในช่วงหน้าร้อน และโปรโมชั่นยิบย่อยในช่องทางร้านสะดวกซื้อและอื่นๆ รวมทั้งเป้าหมายสำคัญการขยายธุรกิจต่างประเทศ

เกมการแข่งขันของทั้งสองค่ายที่ฟาดฟันอย่างหนักคงหนีไม่พ้นการทำแคมเปญโปรโมชั่นในช่วงหน้าร้อน ยกแรกเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ทั้งคู่เปิดศึกชิงรางวัลท่องเที่ยวญี่ปุ่น  อิชิตันเปิดตัวแคมเปญหน้าร้อนครั้งแรก อิชิตัน ทัวร์ยกแก๊ง ตอน เที่ยวกับตัน... มันส์กับโน้ส” ส่วนโออิชิสวนหมัดด้วยแคมเปญ “ไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊ง 555” โดยย้ำภาพความเป็นเจ้าของแคมเปญตัวจริง พร้อมจุดขายคือ การเที่ยวกับซุป’ตาร์ดัง อย่าง อั้ม พัชราภา ณเดชน์ และ เคน ภูภูมิ  เรียกว่าแทบเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

ทว่าการแข่งขันที่ร้อนแรงในปี 2555 ดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อทั้งสองค่ายต่างอัดแคมเปญใหญ่อีกระลอกในช่วงปลายปี แต่เปลี่ยนเป็นการชิงเงินเป็นรางวัล โออิชิทุ่มงบ 250 ล้านบาท ส่งแคมเปญ “รวยซ้ำรวยซ้อน” ลุ้นง่าย ทุกวัน ได้ทั้งล้าน ได้ทั้งรถ  รวมมูลค่าของรางวัลกว่า 100  ล้านบาท ส่วนอิชิตันส่งแคมเปญ “อิชิตัน ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง 60 วัน 60 ล้าน” และเพียงใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี อิชิตัน สามารถมีส่วนแบ่งตลาดชาเขียวถึง 27% ขณะที่ โออิชิ ส่วนแบ่งลดลงจาก 60% เหลือเพียง 55%

ตัน กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน กล่าวไว้ในช่วงนั้นว่า หัวใจของการทำตลาดอิชิตัน คือ การทำโปรโมชั่นพร้อมกับการสร้างแบรนด์ในระยะยาว เพราะการห้ำหั่นโปรโมชั่นเพียงอย่างเดียว ผลสุดท้ายแบรนด์เสียและกำไรลดลง หรือไม่ก็ขาดทุน ทิศทางจากนี้จะทำแคมเปญใหญ่จึงเหลือแค่ 1 ครั้งเท่านั้นในช่วงหน้าร้อน

ถัดมาในปี 2556 ยุคที่ทั้งสองค่ายฟาดฟันแคมเปญโปรโมชั่น ชนิดเรียกว่า ให้ผู้บริโภคได้ง่าย ได้เร็ว และทั่วถึง อีกทั้งยังเปลี่ยนวิธีการชิงโชคจากส่งชิ้นส่วนมาเป็นส่งชิงโชครหัสใต้ฝาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เล่นง่าย ลุ้นง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย แจกเร็วทันใจภายใน 24 ชั่วโมง เป็นการฉีกกฎการชิงโชคแบบเดิม

โออิชิชิงออกตัวก่อนคู่แข่งด้วยการทุ่มงบ 250-300 ล้านบาท เปิดโปรโมชั่น “รหัสโออิชิ ลุ้นรวยทุกชั่วโมง” เพิ่มงบจากปีที่ผ่านมาใช้ 150-200 ล้านบาท ซึ่งกลยุทธ์การทำโปรโมชั่นให้รางวัลที่ถี่ขึ้น แจกทุกชั่วโมง ให้โอกาสลุ้นมากขึ้น ทุกชั่วโมง ทุกวัน ทุกเดือน

ส่วนอิชิตันหลังจากประสบความสำเร็จจากแคมเปญรวยเปรี้ยง จึงต่อภาค 2 ด้วยแคมเปญ “ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง รีเทิร์น 60 วัน 60 ล้านบาท” แจกทองมูลค่า 1 ล้านบาท ทุกวัน รวม 60 วัน 60 ล้านบาท และแจกไอโฟน 5 จำนวน 1,230 เครื่อง และตั๋วหนังเอสเอฟจำนวน 2 แสนใบ มวยในยกนี้แม้ว่ารางวัลชิงโชคจะคล้ายคลึงกัน แต่โออิชิมีแต่จะสูญเสียส่วนแบ่งเหลือราว 45% และอิชิตันไล่บี้ส่วนแบ่งมาถึง 42.7%

เมื่อเข้าปีที่ 3 หรือปี 2557 ศึกชาเขียวยิ่งดุเดือดเข้มข้นขึ้น เพราะส่วนแบ่งที่ไม่ทิ้งห่างกันมาก อิชิตันส่งแคมเปญ “ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง ภาค 3 แจกล้านทุกวัน ลุ้นปอร์เช่ทุกเดือน” รวมมูลค่ารางวัลทั้งหมด 66 ล้านบาท โดยรางวัลใหญ่คือ รถหรู Porsche Boxster มูลค่า 8 ล้านบาท ถึง 3 รางวัล พร้อมด้วยของรางวัลอื่นๆ ถึง 12,043 รางวัล มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทว่าโออิชิกลับมาเส้นทางเดินที่แตกต่าง ด้วยการส่งแคมเปญ “ทัวร์ยกแก๊ง โอยกก๊วน” จำนวน 50 รางวัล และมอบเงินช็อปปิ้ง 1 ล้านบาท ออกมาสู้

จบปี 2557 ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มกลายเป็นศึกเคลมส่วนแบ่งเหมือนเครื่องดื่มชูกำลัง ประกาศว่าตนเองคือผู้นำตลาด โดยโออิชิย้ำยังมีส่วนแบ่ง 45% อิชิตัน 37% ส่วนทางฝั่งอิชิตันย้ำว่ามีส่วนแบ่ง 44% ส่วนโออิชิ 38%

เมื่อเข้าสู่ปี 2558 โออิชิหวนกลับมาอัดโปรโมชั่นชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน อีกครั้งกับแคมเปญ “รหัสโออิชิ ซิ่งทั่วไทย” จับมือกับ “โตโยต้า” แจกยาริส 50 คัน และแจกยามาฮ่า ฟีโน่ หัวฉีด 550 คัน รวมเป็น 600 คัน ถือเป็นจำนวนรางวัลที่มากที่สุด รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ส่วนอิชิตันเปิดแคมเปญ “อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง ภาค 4” แจกรถเบนซ์ 50 คัน 50 วัน ทุกวัน

นอกจากศึกโปรโมชั่นที่แข่งขันกันดุเดือดลากยาวมาแล้วหลายปี การแข่งขันในแง่ผลิตภัณฑ์ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีการส่งเครื่องดื่มประกบทุกตัว ย้อนไปเมื่อปี 2556 อิชิตันส่ง “เย็น เย็น” ชาสมุนไพรเข้ามาทำตลาด ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี กระทั่งมีส่วนแบ่ง 7.7% ในเวลานั้น โออิชิ ปลุกปั้นซับแบรนด์ “โอ เฮิร์บ” เครื่องดื่มสมุนไพร ทั้งโสมผสมน้ำผึ้งและรากบัวพุทราจีนมาประกบเมื่อปี 2557 และปีนี้ออกอาวุธซ้ำด้วยการส่งเครื่องดื่มแบรนด์ “จับใจ” ที่มองด้วยผิวเผินคล้ายคลึงกันมากกับเครื่องดื่ม “เย็นเย็น” ของอิชิตัน

ขณะเดียวกัน ทิศทางของทั้งสองบริษัทยังประกาศชัดเจนในการขยายตลาดสู่อาเซียน โออิชิเปิดเกมด้วยการลุยขยายตลาดมาเลเซีย เพื่อเป็นสปริงบอร์ดรุกตลาดฮาลาล 8 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย บรูไน ส่วนอิชิตันร่วมทุนชื่อ บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย ประเดิมเจาะตลาดอินโดนีเซียก่อน และเชื่อว่าทั้งคู่จะขยายแนวรบจากไทยไปสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างแน่นอน

เพียงแค่ 3 ปี กับการแข่งขันในตลาดชาเขียวที่เสมือนหนึ่งเป็นสงครามการตลาดที่ไม่มีใครยอมใคร ว่ากันว่าศึกครั้งนี้ อิชิตัน ที่เริ่มจากศูนย์สามารถรั้งบัลลังก์เบอร์หนึ่งในตลาดชาเขียวแทนที่โออิชิได้สำเร็จ ด้วยแคมเปญโปรโมชั่นที่โดนใจผู้บริโภคและแบรนด์ที่ติดตลาดอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ว่าปีนี้โออิชิจะตีตื้นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะส่วนแบ่งตลาดไม่ทิ้งห่างกันมากนัก ขณะที่ในต่างประเทศทั้งสองแบรนด์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำตลาดเท่านั้น

ความจริงอีกด้านของ "ชาเขียวพร้อมดื่ม"

ตลาด “ชาเขียวพร้อมดื่ม” แข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตของตลาดแล้ว พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2556 ที่มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.54 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ-เบียดกันชนิดหืดขึ้นคอ

นั่นทำให้สรรพคุณเลิศหรู โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม แบบเทหมดหน้าตักถูกคิดขึ้นและถูกเข็นออกมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเหนือคู่แข่ง และนำมาซึ่งการบริโภคอย่างไม่บันยะบันยัง

แน่นอนว่าลำพังเพียง “ชาเขียว” อย่างเดียวเป็นคุณต่อร่างกาย แต่นั่นหมายถึงบริโภคอย่างถูกควร ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยยืนยันความจริงข้อนี้ เนื่องจากมีงานวิจัยมากมายสนับสนุนว่า การดื่มชาเขียวมีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ในการลดความอ้วน ช่วยเผาผลาญพลังงานและไขมัน รวมถึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการที่ยืนยันอีกว่า ชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจและช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

ทว่าชุดความจริงข้างต้นนี้ อาจใช้ไม่ได้กับ “ชาเขียวพร้อมดื่ม” ที่เต็มไปด้วยส่วนผสมของ “น้ำตาล” ซึ่งวางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “ความเข้าใจ” อันคลาดเคลื่อนของผู้บริโภค ที่มักมองประโยชน์ของชาเขียวเพียงด้านเดียว โดยละเลยภัยร้ายที่แฝงอยู่ คือ “ความหวาน” เกินระดับที่เหมาะสมและเกินความจำเป็นของร่างกาย

 หนำซ้ำเมื่อได้รับแรงหนุนเสริมจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมและค่านิยมของคนไทย เช่น การเสี่ยงดวง-การแทงหวย ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิด “การบริโภคอย่างไม่เหมาะสม” ขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุต่อไปว่า ถ้าบริโภคชาเขียวในปริมาณที่สูง (2,500 มก./กก.) และติดต่อกันเป็นเวลานาน (5 วันขึ้นไป) จะก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ และความเป็นพิษต่อตับดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นหากผู้บริโภคอยู่ในอาการไข้

นอกจากนี้ การดื่มชาเขียวยังมีผลต่อโภชนาการ เพราะชาเขียวจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยด้วยโรคโลหิตจาง หญิงตั้งครรภ์ เด็กวัยเจริญเติบโต

สำหรับเรื่องปริมาณ “น้ำตาล” ที่มากเกินกว่าความต้องการของร่างกายนั้น องค์การอนามัยโลก (ฮู) เคยออกคำแนะนำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล โดยควรบริโภคในปริมาณที่น้อยกว่า 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน

กล่าวโดยง่าย ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในแต่ละวันเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ควรบริโภคไม่เกิน 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา/วันเท่านั้น

คำแนะนำด้านสุขภาพดังกล่าวกลับสวนทางโดยสิ้นเชิงกับปริมาณน้ำตาลที่ผสมอยู่ในชาเขียวพร้อมดื่ม โดยผลการทดสอบชาเขียวพร้อมดื่มยี่ห้อหนึ่ง ขนาด 500 มิลลิกรัม ในหลายรสชาติ พบว่ามีน้ำตาลตั้งแต่ 13.6 ช้อนชา 13.1 ช้อนชา 8.3 ช้อนชา หรือแม้แต่ที่ระบุว่า “รสต้นตำรับ”  ยังมีน้ำตาลถึง 7.8 ช้อนชา

นั่นหมายความว่า การบริโภคชาเขียวพร้อมดื่ม 1 ขวด ร่างกายจะได้รับน้ำตาลเกินปริมาณที่จำเป็นในหนึ่งวัน

อีกหนึ่งผลสำรวจที่ใช้ยืนยันอันตรายของชาเขียวพร้อมดื่มและช่วยฉายภาพพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมมาจากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่ทำการสำรวจเรื่อง “ปัญหาสุขภาพของประชาชนหลังจากดื่มชาเขียวบรรจุขวด : ใครต้องรับผิดชอบ” โดยผลการสำรวจชี้ชัดว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง หรือ 50.8% เข้าใจว่าชาเขียวพร้อมดื่มเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ และ 57.5% ไม่ทราบว่าชาเขียวพร้อมดื่มมีกาเฟอีนผสมอยู่เกินกว่าครึ่ง และมีถึง 72.1% ไม่ทราบว่าชาเขียวพร้อมดื่มมีปริมาณน้ำตาลเกินกว่าที่ร่างกายจำเป็นได้รับในแต่ละวัน

พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลผลการสุ่มตัวอย่าง “ชาพร้อมดื่ม” เพื่อเปรียบเทียบปริมาณ “กาเฟอีน” โดยอ้างอิงเนื้อหาจาก นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 140

ตามเกณฑ์มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด คือ ควบคุมส่วนผสมกาเฟอีนต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ (ขวด/กระป๋อง) และข้อมูลด้านสุขภาพ ระบุว่า หากร่างกายได้รับกาเฟอีนเกิน 250 มิลลิกรัม/วัน จะส่งผลให้ร่างกายเสพติดกาเฟอีน นำมาซึ่งอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย

สำหรับผลการสุ่มตัวอย่างชาเขียวพร้อมดื่ม 14 ขวด (ยี่ห้อและรสชาติแตกต่างกัน) ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่ามีถึง 4 ขวด ที่ระดับกาเฟอีนสูงเกินมาตรฐาน คือ 65, 62, 64.1 และ 58 มิลลิกรัม/ขวด ส่วนอีก 10 ขวดที่เหลือ แม้ว่าจะไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ แต่ก็อยู่ในระดับที่สูง โดยอยู่ในช่วง 22.8-47.6 มิลลิกรัม/ขวด

“ดังนั้น ชาพร้อมดื่มจึงไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามที่ผู้ประกอบการทำให้เราเข้าใจแต่อย่างใด การบริโภคชาพร้อมดื่มเกินกว่าวันละ 2 ขวด คู่กับการดื่มกาแฟวันละ 1–2 แก้ว หรืออาหารอื่นที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบอาจจะนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีนได้” คือบทวิเคราะห์จากผลการสำรวจ

นิตยสารฉลาดซื้อยังมีข้อแนะนำในการบริโภคชาเขียวพร้อมดื่ม โดยระบุว่า 1.อย่าเข้าใจว่าชาเขียวพร้อมดื่มดีต่อสุขภาพ เพราะในระหว่างกระบวนการผลิตชาพร้อมดื่มต้องใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งทำให้สารที่เป็นประโยชน์ในชาหายไปจนเกือบหมดแล้ว 2.สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาพร้อมดื่ม ขอแนะนำให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ขวด และต้องเลือกแบบที่ไม่มีน้ำตาล โดยเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน

สงครามการตลาดของสองบิ๊กชาเขียวที่เล่นกับความฝันของคนด้วยโปรโมชั่นแจกสะพัด แม้จะคาดหวังแค่การเพิ่มยอดขายเพื่อความเป็นที่หนึ่งในตลาด แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าปีนี้มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 20% มาอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นล้านบาท และเป็นการเพิ่มปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอะไรที่มากเกินความพอดีก็ย่อมส่งผลเสียได้เช่นกัน

สงครามครั้งนี้อาจจะจบลงด้วยชัยชนะของพ่อค้า แต่เป็นความพ่ายแพ้ของผู้บริโภคก็เป็นได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหากาพย์ สงครามชาเขียว ชัยชนะบนความพ่ายแพ้ ของใคร

view