สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ

อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปกติแล้วเราจะพูดกันว่าดอกเบี้ยต่ำเป็นเรื่องดี เพราะแปลว่าต้นทุนทางการเงินต่ำสำหรับธุรกิจ ทำให้สามารถขยายการลงทุนได้โดยสะดวก

ในขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นการบริโภคเพราะจะลดแรงจูงใจในการออม หากจะมองถึงผลเสีย ก็มักจะพูดถึงการจูงใจที่จะสร้างหนี้สินมากเกินไปและการสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้น


แต่ในสภาวะปัจจุบันนั้นดูเหมือนว่าธนาคารกลางของประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นกดดอกเบี้ยนโยบายหรือดอกเบี้ยระยะสั้นลงใกล้ศูนย์มานาน 6 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังแถมด้วยมาตรการคิวอีคือพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรเพื่อทำให้ดอกเบี้ยระยะกลางและระยะยาวลดลง แล้วเศรษฐกิจโลกก็ยังฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นไม่น่าไว้วางใจว่าจะไปได้ดี ตัวอย่างเช่น หากเมื่อ 10 ปีแล้ว มีคนมาบอกให้ผมประเมินว่าเศรษฐกิจจะไปได้ดีหรือไม่ หากให้ข้อมูลว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ศูนย์ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเท่ากับ 2% และราคาน้ำมันปรับลดลงมาครึ่งหนึ่ง ก็คงจะประเมินอย่างมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างเต็มพิกัด แต่มาวันนี้จะเห็นว่าแม้ราคาน้ำมันจะลดลงไปแล้วครึ่งหนึ่งและยังมีคิวอีแถมให้จากยุโรปและญี่ปุ่น ก็ยังมีหลายคนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและไม่เห็นมีใครปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นแต่อย่างใด


ตรงกันข้ามเรากำลังเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือดอกเบี้ยติดลบในหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดนและเดนมาร์ก ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ทยอยกันลดดอกเบี้ยหลังการประกาศคิวอีของอีซีบี รวมทั้งสิ้น 24 แห่งแล้ว แต่กรณีของไทยนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าลดดอกเบี้ยเพราะปัจจัยภายในมิได้คำนึงว่าธนาคารกลางอื่นๆ จะมีพฤติกรรมอย่างไร โดยให้เหตุผลว่าสภาวการณ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป แต่ผมมีความเข้าใจว่าเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเงินและสภาวการณ์ปัจจุบันนั้นดูแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


ในกรณีของอีซีบีนั้นได้ยืนยันในหลักการว่าไม่ต้องการออกมาตรการคิวอี เพราะระบบเศรษฐกิจของยุโรปนั้นบริษัทต่างๆ พึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แตกต่างจากระบบของสหรัฐที่บริษัทต่างๆ พึ่งพาการออกพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในกรณีของสหรัฐ การออกมาตรการคิวอีซึ่งทำให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของพันธบัตรลดต่ำลง จึงเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนกับบริษัทต่างๆ แต่ในกรณีของยุโรปนั้นอีซีบีได้พยายามปล่อยกู้ตรงให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (targeted long-term refinancing operation หรือ TLTRO) โดยกำชับว่าธนาคารพาณิชย์ต้องไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคเอกชน แต่ผลไม่ดีเท่าที่ควร ในขณะที่เศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อถดถอยลงต่ำกว่าเป้ามากจนในที่สุดเงินเฟ้อในยุโรปติดลบต่อต่อกันจึงต้องยอมทำคิวอี ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือทำให้เงินยูโรด้อยค่าจึงจะทำให้เงินเฟ้อพลิกจากลบมาเป็นบวก ซึ่งอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือการลดค่าเงินยูโรซึ่งเคยอยู่ที่ 1.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ยูโรเมื่อกลางปีที่แล้วลงมาเหลือ 1.05 ดอลลาร์ในขณะนี้ โดยมีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่าจะได้เห็น 1 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในเวลาอันใกล้นี้


ประเด็นคือความพยายามที่จะลดดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวอย่างกว้างขวางโดยธนาคารกลางของเงินสกุลหลัก (เงินดอลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยนและเงินปอนด์ของอังกฤษ) ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามแบบจวนตัวที่จะต้องฟื้นเศรษฐกิจให้จงได้และเป็นการระดมทุกเครื่องมือที่พอจะมีอยู่ในมือมาใช้จนหมดกระเป๋าแล้ว แต่คำถามคือจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงว่าคิวอีนั้นหากไม่สำเร็จในระยะสั้นก็อาจส่งผลกระทบข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้


ในกรณีของสหรัฐนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระดับหนึ่งก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว เพราะกดดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์มานาน 6 ปี แล้ว โดยปกตินั้นเศรษฐกิจเมื่อฟื้นตัวภายในเวลา 1-2 ปี ก็จะเริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มตัวและในที่สุดก็จะต้องตกต่ำลงตามวัฏจักร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีและเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาตกต่ำอีกธนาคารกลางก็จะต้องลดดอกเบี้ยลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่ในรอบนี้เศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัวเลยและดอกเบี้ยก็ยังอยู่ใกล้ศูนย์และธนาคารกลางก็ยังมีพันธบัตรที่ซื้อเก็บเอาไว้จากการทำคิวอี 3 รอบคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและยังไม่ได้ขายกลับคืนสู่ตลาดเลย ซึ่งเป็นการบิดเบือนระบบอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับบริษัทประกันภัยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ที่ต้องซื้อพันธบัตรและลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ


เกี่ยวกับเรื่องนี้นาย Bill Gross อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทพิมโก้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ Janus Capital แสดงความเป็นห่วงว่าการบิดเบือนโดยการกดดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงต่ำใกล้ศูนย์ดังกล่าวกำลังทำลายระบบธุรกิจการเงิน (destroy financial business models) ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม กล่าวคือมีความเสี่ยงว่าบริษัทประกันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ อาจมีปัญหาไม่สามารถทำรายได้จากดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่ถือประกันหรือหน่วยลงทุนได้ โดยนาย Gross สรุปว่าระบบการเงินกำลังอยู่ในสภาวะเปราะบาง (vulnerable) ยิ่งขึ้น หลังจากที่สถาบันดังกล่าวเผชิญวิกฤติอย่างรุนแรงในปี 2009


ดอกเบี้ยต่ำผิดปกตินี้แทนที่จะกระตุ้นอุปสงค์ก็อาจส่งผลตรงกันข้ามคือทำให้กำลังซื้อลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลักก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคนเยอรมันเคยคิดว่าหากออมเงินเอาไว้ทั้งสิ้น 20 ล้านบาท (ไม่รวมทรัพย์สินอื่นๆ เช่น บ้านและรถยนต์) ก็อาจนึกว่าเพียงพอแล้วเพราะหากเงินออมดังกล่าวให้ผลตอบแทนปีละ 5% ก็จะมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทหรือกว่า 80,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องแตะต้องเงินต้น ซึ่งต้องเก็บเอาไว้ใช้ในตอนปลายชีวิต แต่ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน 5 ปี ให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ติดลบและพันธบัตร 10 ปีให้ผลตอบแทน 0.2-0.3% ต่อปี ดังนั้นหากออมเงินเอาไว้ 20 ล้านบาท แต่ได้รับดอกเบี้ย (สมมุติว่าปีละ 0.5-1.0% ต่อปี) คิดเป็นเงินเพียง 100,000-200,000 บาท ต่อปี ซึ่งจะต้องสรุปว่าเงินออมไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชากรแก่ตัวลงแต่อายุยืนมากขึ้น


ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าจะต้องเร่งออมเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้อุปสงค์ในปัจจุบันไม่สามารถฟื้นตัวได้แม้ว่ายุโรปและญี่ปุ่นจะทำคิวอีต่อเนื่องไปอีกเป็นปีครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อันตราย ดอกเบี้ยต่ำ

view