สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นายหน้า ซ้อน นายหน้า ความซับซ้อนระบบยูฟัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 นายหน้าซ้อนนายหน้า ความซับซ้อนระบบยูฟัน

จากปฏิบัติการบุกทลายเครือข่าย บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมกับจับกุมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และยึดทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขยายผลสอบสวน โดยเร่งประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกที่ได้รับความเสียหาเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนที่เป็นบุคคลและนิติบุคคล


อย่างไรก็ดี จากปฏิบัติการดังกล่าวก็มีปฏิกิริยามุมกลับจากกลุ่มสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมเนื่องจากสมาชิกกลุ่มนี้ยังเชื่อว่า “ไม่ได้เสียหาย” และระบบธุรกิจที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่” ในมุมมองของพวกเขานั้นจะเรียกว่าเป็นขั้วตรงข้ามก็ว่าได้


นายวีรวิทย์ เก่งกาจไพศาล หนึ่งในสมาชิกยูฟัน ที่เริ่มนำธุรกิจรับทำนามบัตรของตนเอง ซึ่งเปิดดำเนินธุรกิจรูปแบบหน้าร้านปกติควบคู่ไปกับรูปแบบอี-คอมเมิรซ์ ผ่านระบบ “ยูโทเคน” ได้พยายามอธิบายถึงช่องทางการสร้างรายได้จากระบบธุรกิจยูฟันว่า มี 3 รูปแบบ


รูปแบบแรก คือ การดำเนินธุรกิจและการตลาดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเว็บไซต์ยูบีทีมอลล์ดอทคอม และยูสโตร์ไทยแลนด์ ทั้งสองเว็บไซต์ดังกล่าวใช้สำหรับเป็นพื้นที่ให้สมาชิกซื้อขายสินค้าและบริการ ซึ่งมีระบบการซื้อขายเช่นเดียวกับร้านค้าออนไลน์ทั่วไป


รูปแบบที่สอง คือ สิ่งที่เรียกว่าค่า “ยูโทเคน” ที่มีไว้สำหรับใช้การซื้อ-ขายสินค้า แลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินงานเกี่ยวกับมูลค่ายูโทเคน จะผ่านเว็บไซต์ยูโทเคนเคเอ็มเอ็สดอดคอม (www.utokenkms.com)
นายวีรวิทย์ อธิบายว่า ค่ายูโทเคน ไม่ใช่สกุลเงินตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นพอยท์ ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ต้องนำเงินเข้ามาสำรองไว้ในการเป็นสมาชิกหรือที่เรียกว่า “เปิดพอร์ต”


เขาบอกว่า สมาชิกยูฟันที่เข้าใจระบบจะไม่เรียกวิธีการในขั้นตอนนี้ว่าเป็น “การลงทุน” เพราะจำนวนเงินที่นำมาเปิดพอร์ต จะไม่สามารถถอนคืนเป็นเงินสดได้ แต่จะถูกนำไปคำนวณแปลงค่าเงินดังกล่าวเป็น ค่ายูโทเคน เสมือนพอยท์ แต่ระบบยูโทเคน จะแตกต่างไปจากพอยท์ทั่วไป


“เงินที่นำมาเปิดพอร์ต จะกลายเป็นมูลค่าทุน แล้วจำนวนเงินแปลงเป็นค่ายูโทเคน ที่ใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขาย หรือ พอยท์ แต่จะต่างจากพอยท์ในบัตรเซเว่น หรือ บัตรทรูมันนี่ ตรงที่พอยท์ของยูโทเคน จะเพิ่มมูลค่า”


นักธุรกิจยูฟันผู้นี้ อธิบายอีกว่า สำหรับ มูลค่ายูโทเคนที่เพิ่มขึ้น มีหลักการคำนวณที่เชื่อถือได้ แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่มีความซับซ้อน รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่แบ่งเป็นแพ็คเก็จ และการหักเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากการทำธุรกรรม จนทำให้สมาชิกยูฟันหลายคนที่ไม่เข้าใจหลักการทั้งหลายมีความเข้าใจระบบธุรกิจยูฟันคลาดเคลื่อนไป


ทั่้งนี้ หลักของการเพิ่มของมูลค่า “ยูโทเคน” นี้เอง ที่ทำให้ทุกๆ การซื้อขายสินค้าในตลาดช็อปปิ่้ง (Shopping) ไม่ได้สร้างรายได้จากส่วนต่างของราคาซื้อขายเพียงอย่างเดียว แต่พอยท์ยูโทเคน ที่ได้จากการซื้อขาย หรือการแลกเปลี่ยนกันในตลาดบาร์เตอร์ (Barter) ยังทำให้ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของค่ายูโทเคน เพิ่มมูลค่าพอยท์ของตนเองที่ถืออยู่ด้วย


รวมไปถึงกรณีที่หลังจากนำเงินมาสมัครสมาชิกแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวกิจกรรมใดๆ ในพอร์ตค่ายูโทเคนก็จะเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นอยู่กับอัตราการแปลกเปลี่ยนที่จะเติบโตตามจำนวนสมาชิกซึ่งจะทำให้สมาชิกรายนั้นสามารถนำส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนำมาขายในตลาด ยู-เทรด (U-Trade) ได้อีก ซึ่งจะไม่นับรวมมูลค่าทุนที่สมัครสมาชิก


รูปแบบที่สาม การบอกรับสมาชิกยูฟันในรูปแบบ M2M (Member get Member) ซึ่งสมาชิกคนหนึ่งๆ สามารถขยายเครือข่ายสมาชิกได้นั้นยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสร้างรายได้ แต่แตกต่างจากระบบแชร์ลูกโซ่ ตรงที่ไม่ได้นำเงินจากสมาชิกใหม่ มาจ่ายให้กับสมาชิกเก่าจนขาดสภาพคล่อง แต่เพราะมูลค่ายูโทเคนที่เพิ่มขึ้นจนแทบไม่มีความจำเป็น


นายวีรวิทย์ สรุปในตอนท้ายว่า หลักการเบื้องต้นของการเข้าเป็นสมาชิกของยูฟัน สโตร์ คือ 1.การนำเงินมาสมัครสมาชิก ยูฟัน สโตร์ไม่ใช่รูปแบบการลงทุน แต่เป็นการสำรองเงิน


2.สิ่งที่เรียกว่า “ยูโทเคน” ที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า เราเรียกว่า ตัวกลางในการซื้อขายที่มีอัตรากำหนดโดยอ้างอิง กลไกตลาด หรือดีมานด์และซับพลาย ขณะเดียวกันมีการกำหนดจำนวนโวลุ่มของ “ยูโทเคน” เพื่อให้เมื่อทำการตลาดแล้วมูลค่าจะไม่มีทางลดลง


เขายอมรับว่า ระบบที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้นมีความสลับซับซ้อนซึ่งยากต่อการอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจ โดยคนส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่การลงเงินแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาเท่านั้น


ส่วนการใช้มาตรการปิดหรือบล็อกระบบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องนั้นก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสมาชิกที่มียูโทเคนอยู่เพราะอย่างไรเสียก็เชื่อว่าจะมีการเปิดเว็บไซต์อื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารได้


“จริงๆ ยูฟันก็คือบริษัทนายหน้าเป็นคนกลาง ส่วนสมาชิกของยูฟันก็เป็นนายหน้าซ้อนเข้าไปอีกชั้น”


สมาชิกยูฟัน บอกอีกว่า ปัญหาจริงๆ น่าจะเกิดจากสมาชิกบางกลุ่มไปบอกรับสมาชิกอื่นๆ แล้วไปเปิดบริษัทซ้อนขึ้นมา จากนั้นก็มีการดำเนินธุรกิจโดยสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้กับสมาชิกในเครือข่ายแต่เมื่อถึงเวลาไม่สามารถทำตามที่ตกลงกันได้

นายหน้า,ยูฟัน สโตร์,แชร์ลูกโซ่,วีรวิทย์ เก่งกาจไพศาล,ยูโทเคน,


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นายหน้าซ้อน นายหน้า ความซับซ้อน ระบบยูฟัน

view