สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เดจาวูมหากาพย์ โศกนาฏกรรมกรีซ

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล

ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อประเทศเจ้าหนี้และการแสดงจุดยืนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดทำให้นายอเล็กซิส ซิปราส (Alexis Tsiparas)เปรียบเสมือนความหวังใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวกรีก โดยในช่วงปลายปี 2557 เขาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2557

หลังจากที่เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การต่อรองกับเจ้าหนี้ ดูเหมือนจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กรีซสามารถเจรจาต่ออายุโครงการช่วยเหลือทางการเงินของกรีซ ได้สำเร็จ โดยเจ้าหนี้ ซึ่งได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางยุโรป (European CentralBank : ECB) ยอมต่ออายุโครงการช่วยเหลือทางการเงินออกไปอีก 4 เดือน

ทำให้กรีซสามารถได้รับเงินกู้ต่อไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน 2558 แต่การต่ออายุดังกล่าวสำเร็จอย่างฉิวเฉียดเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 เท่านั้น และแม้ว่าเจ้าหนี้จะยอมต่อเวลาให้กรีซ กรีซก็ยังไม่สามารถเบิกใช้เงินช่วยเหลือดังกล่าวได้ จนกว่าจะสามารถตกลงรายละเอียดของการปฏิรูปเศรษฐกิจกับกลุ่มเจ้าหนี้ได้สำเร็จ

เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซมีต้นตอมาจาก การขาดดุลงบประมาณอย่างเรื้อรัง และ ปัญหาการสะสมหนี้ของภาครัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เจ้าหนี้จะกำหนดให้รัฐบาลกรีซต้องรัดเข็มขัดและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ประเทศยุโรปอื่น ๆที่เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินของ EU และ IMF ไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์ หรือไซปรัส ต่างก็ต้องรัดเข็มขัดและลดการใช้จ่ายภาครัฐเช่นกัน

แต่การรัดเข็มขัดเป็น "วงจรอุบาทว์" ที่ทำให้เศรษฐกิจที่ประสบปัญหาอยู่แล้วยิ่งทรุดหนักเข้าไปใหญ่ การลดการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดสวัสดิการสังคม ส่งผลให้ประชากรขาดรายได้และส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน การบริโภคของภาครัฐ ทำให้การบริโภคทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซบเซา แล้วก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคเอกชนเป็นลูกโซ่ ทำให้ธุรกิจเริ่มล้มหายตายจาก จนทำให้ลูกจ้างต้องตกงานและขาดรายได้เข้าไปอีก

นับตั้งแต่กรีซต้องรัดเข็มขัดภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินในปี 2553 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกรีซติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี จนเศรษฐกิจกรีซในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงกว่า 1 ใน 4 ของขนาดก่อนวิกฤต

เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก ทำให้เกิดกระแสต่อต้านภายในกรีซลุกลามกลายเป็นปัญหาทางการเมืองเรื่อยมา ทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศกรีซเอง และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในยูโรโซน

โดยภายในประเทศกรีซเอง ปัญหาหนี้ การรัดเข็มขัด และการลดการใช้จ่ายภาครัฐ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนกรีซ จนนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา เริ่มจาก นายปาปันเดรอู (George Papandreou) ที่เข้ามาบริหารประเทศในยุคที่ปัญหาหนี้ปะทุขึ้น

ความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ที่ได้รับมาจากรัฐบาลก่อนหน้า ทำให้นายปาปันเดรอูถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน จนต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 2554 และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อ นายอันโทนิโอ ซามาราส (Antonio Samaras ที่เดิมเคยเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ขับไล่นายปาปันเดรอูออกจากตำแหน่ง ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เมื่อเขาพ่ายแพ้ต่อนายซิปราสในปี 2558 ความเจ็บปวดจากการรัดเข็มขัดและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าจะเป็น "เกมการเมือง" ที่พรรคฝ่ายค้านใช้ได้ผลทุกครั้งทุกคราไป

ทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างกรีซและประเทศเจ้าหนี้ การหาเสียงด้วยนโยบายเจรจาลดหนี้ของนายซิปราส ทำให้ประเทศเจ้าหนี้ใหญ่อย่างเยอรมนี รวมถึงประเทศที่ผ่านการรัดเข็มขัดอย่างไอร์แลนด์ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเยอรมนีได้ตอบโต้โดยการประกาศไม่กลัวผลกระทบของการที่กรีซจะออกจากยูโรโซนตั้งแต่ก่อนที่นายซิปราสจะชนะการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ



ขณะที่ผู้นำกรีซออกมาเน้นย้ำถึงความต้องการลดการรัดเข็มขัด และใช้ประเด็นความเชื่อมั่นต่อเอกภาพของยุโรปในการต่อรองให้เจ้าหนี้ยอมต่ออายุโครงการช่วยเหลือต่อไปอีก แต่การ "ชักเย่อกัน" ระหว่างกรีซกับเจ้าหนี้ รังแต่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นไปอีก จนหลายฝ่ายเกรงว่าหากการเจรจามาถึงทางตัน กรีซอาจจะหลุดออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนอย่างไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อ ย้อนกลับมาดูปัญหาภายในของกรีซ 5 ปีหลังจากวิกฤตหนี้สาธารณะปะทุขึ้น จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU IMF และ ECB กรีซยังขาดการปฏิรูปที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการรัดเข็มขัด และวัฒนธรรมของการหนีภาษียังคงเป็นต้นตอของปัญหา ที่ทำให้รัฐบาลกรีซมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าพรรคฝ่าย ค้านได้ใช้ความเจ็บปวดจากการปฏิรูปเป็นจุดโจมตีการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาล แม้กระทั่งนายซามาราสที่เพิ่งพ่ายแพ้ต่อนายซิปราสไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งก็เคยโจมตีการปฏิรูปและเรียกร้องการลดหนี้ จนได้เป็นรัฐบาลในปี 2555 และแม้กระทั่งรัฐบาลของนายซิปราส ที่เริ่มประนีประนอมกับประเทศเจ้าหนี้มากขึ้น ก็เริ่มถูกโจมตีจากพรรค Green ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ว่าไม่ทำตามสัญญาก่อนการเลือกตั้งบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นการเจรจาเพื่อภาระหนี้และการต่อต้านเจ้าหนี้ นอกจากจะเป็นการทำให้ความขัดแย้งรุนแรงกว่าเดิมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ปัญหาของเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อไป

หาก รัฐบาลของนายซิปราสไม่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จำ เป็นได้กรีซคงต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งหนี้และภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า และมหากาพย์โศกนาฏกรรมวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองของกรีซ ก็คงจะต้องถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไปเช่นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เดจาวูมหากาพย์ โศกนาฏกรรมกรีซ

view