สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดหุ้น&สังคมสูงวัย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ยุคที่คนไทยอยู่ในภาวะ "หนี้ท่วมหัว" จากตัวเลขหนี้ครัวเรือน สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 10.43 ล้านล้านบาท หรือ 85.9% ของจีดีพี

และตัวเลขยังคงขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยประมาณกันว่าสิ้นปีอาจขยับไปอยู่ที่ 89% ของจีดีพี

หมายความว่าประชาชนคนไทยทำมาหากินได้เงินมา ส่วนมากต้องเอามาจ่ายหนี้ที่ก่อไว้ จนทำให้อาจเหลือเงินไม่พอใช้จ่ายประจำวัน

และด้วยตัวเลขภาระหนี้ที่สูงเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อที่เหือดแห้ง โดยเฉพาะ

สินค้าราคาสูงอย่าง "บ้าน-รถ" ที่พบว่าตลาดหดตัวต่อเนื่อง ประเด็นปัญหาสำคัญมาจากที่สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยกู้ "บ้านและรถ" พุ่งสูงขึ้น โดยบางสถาบันการเงินแจ้งว่ามียอดการปฏิเสธปล่อยกู้สูงถึง 40% ของจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อ เพราะเห็นว่าผู้กู้รายนั้น ๆ มีภาระหนี้ที่สูงอยู่แล้ว มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด

หมายความว่าผู้ที่มีความต้องการซื้อสินค้าเกือบครึ่งถูกปฏิเสธสินเชื่อ ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าได้

เช่นที่ "สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ยอมรับว่า ในส่วนของบริษัทยอดปฏิเสธสินเชื่อรถสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30% โดยเกณฑ์หนี้ต่อรายได้ที่บริษัทใช้พิจารณา คือ กรณีผู้กู้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ หรือรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 50% เพราะถ้าเกินกว่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียสูง

สะท้อนว่าดีมานด์ในตลาดยังมี แต่ปัญหาคือประชาชนไม่มีกำลังซื้อ เพราะมีหนี้ท่วมไปแล้ว

"หนี้ครัวเรือน"
จึงเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)


เพราะหากประชาชนยังเต็มไปด้วยภาระหนี้เช่นนี้ หากเมื่อถึงวัยเกษียณไม่มีงานทำจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร

นี่คือโจทย์ที่ทุกคนต้องเริ่มคิดและวางแผนทางการเงินสำหรับชีวิตในอนาคต ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยทำงาน หรือปลายชีวิตของการทำงาน

ดังนั้น คนไทยต้องตระหนักถึงการเตรียมพร้อมในวัยเกษียณ ไม่ใช่แค่การเก็บออมเงิน แต่ต้องรู้จักหรือเรียนรู้เรื่องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีสำหรับการออม

"เกศรา มัญชุศรี"
กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ถือว่าเป็นวิกฤตในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะในสังคมที่มีจำนวนประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่สูงมากกว่าคนวัยทำงาน โอกาสที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นนั้นเป็นไปค่อนข้างลำบาก แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มองเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยเรียนรู้การลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทางการเงินในชีวิตให้มีอิสรภาพทางการเงิน สำหรับการก้าวสู่สังคมสูงวัย


"สถานการณ์เช่นนี้เราต้องให้ความสำคัญมากกว่าแค่การออม แต่ต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อาจเป็นการลงทุนในกองทุนรวม ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายของ ตลท.คือทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ระยะยาวหรือในวัยเกษียณประชาชนมีเงินออมของตัวเอง เพราะการหวังพึ่งรัฐบาลคงไม่ได้" เกศรากล่าว และทิ้งท้ายว่า

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยคือ ประชาชนจะตกอยู่ในสถานะ "แก่ก่อนรวย" ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่แม้ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแต่ประชากรของเขา "รวย" ประชาชนมีเงินออมสูงมาก ทำให้สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตลาดหุ้น สังคมสูงวัย

view