สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะพฤติกรรมใช้สมาร์ทโฟนดัน เอ็มคอมเมิร์ซ โต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ปัจจุบัน "มือถือ" กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและใช้เวลากับอุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

"นีลเส็น" ได้จัดทำผลวิจัยการใช้ "สมาร์ทโฟน"ของคนไทย เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้วิธีเก็บข้อมูล 2 รูปแบบ ทั้งการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน (Smartphone Insights) ในช่วง พ.ย.2557-ม.ค.2558 และการเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยี โดย Nielsen Informate Mobile Insights ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.2558

            การวิจัยข้อมูลผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน สำรวจ 1,081 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในกลุ่มหัวเมืองในทุกรายได้ อายุ 16-64 ปี   ผลการวิจัยจะทำให้แบรนด์ นักการตลาด และผู้ประกอบการ เข้าใจพฤติกรรมและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นการใช้สมาร์ทโฟนของผู้บริโภคไทย  

            ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจเทเลคอม/เทคโนโลยี บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการสำรวจพฤติกรรมคนไทยใช้สมาร์ทโฟนในครั้งนี้ ได้ใช้นวัตกรรมการเก็บข้อมูลผ่าน Informate Mobile Insights ซึ่งเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล โดยลงโปรแกรมดังกล่าวไว้ในสมาร์ทโฟนของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ เมื่อกลุ่มตัวอย่างเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟน โปรแกรมจะบันทึกข้อมูลการใช้งาน จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ของนีลเส็นทุกชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ 100% จากพฤติกรรมการใช้งานจริงของกลุ่มตัวอย่าง  หลังจากนั้นใช้วิธีการสอบความความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รายละเอียดการใช้งาน

            จากการวิจัยและสำรวจดังกล่าว พบ 5 โมบาย เทรนด์ ที่ต้องจับตามองในปี 2558 ซึ่งเกิดจากการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคไทย และส่งผลต่อการรูปแบบการสื่อสารของแบรนด์ต่างๆ

 

ใช้สมาร์ทโฟน100%ใน5ปี

          เทรนด์แรก "อัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนเติบโตสูง" ทั้งนี้ ประเมินว่าในช่วง 4-5 ปีจากนี้ "คนไทยจะเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน 100%"  ปัจจุบันอัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 58%  เพิ่มขึ้นจาก 49% ในปี 2556  สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ถือเป็นการเติบโตของจำนวนผู้ถือครองสมาร์ทโฟนอย่างมีนัยสำคัญ  โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 10% ทุกปี จากปัจจัยผู้ประกอบการสมาร์ทโฟน นำเสนอสินค้าราคาประหยัด ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับค่ายมือถือที่เสนอแคมเปญการใช้งานหลากหลาย สำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม

            ข้อมูลยังพบว่าประชากรที่มีรายได้สูง สัดส่วน 85% เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน รายได้ระดับกลาง 57% และรายได้ระดับล่าง 39%  ขณะที่กลุ่มอายุ 16-24 ปี  เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน สัดส่วน 84%  อายุ 25-34 ปี  สัดส่วน 81% และ อายุ 35 ปีขึ้นไป สัดส่วน 42%  

            การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค จากการเข้าถึง "สมาร์ทโฟน"ด้วยสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ดังนั้นแบรนด์ นักการตลาด และผู้ประกอบการ จะต้องปรับกลยุทธ์และช่องทางการสื่อสารให้ทันและตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้

 

เสพดาต้าพุ่ง365MB/วัน

          เทรนด์ที่2 "การใช้ดาต้าผ่านโมบาย อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"  จากการสำรวจปริมาณการใช้ดาต้าต่อคนต่อวัน ช่วงไตรมาสแรกปี 2557 อยู่ที่ 200 เมกะไบต์(MB)  ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น  365 MB  หรือประมาณ 11 GB ต่อเดือน

            "ปริมาณการใช้ดาต้า 11 กิ๊กกะไบต์ต่อเดือน เปรียบเทียบได้กับการดูคลิบยูทูบความยาว 5 นาที ที่สปีด 720 Mbps  1 คลิป จะใช้ปริมาณดาต้าที่ 37.5 เมกะไบต์ เท่ากับการดูคลิบสั้นๆ 290 คลิบต่อเดือน ถือเป็นปริมาณการเสพดาต้าที่สูงมาก"

            ทั้งนี้ เมื่อศึกษารายละเอียดช่วงเวลาการใช้ดาต้าของคนไทย พบว่าเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนช่วงเช้า 6.00- 11.00 น. อยู่ที่ 62 MB  เวลา 12.00-17.00 น. อยู่ที่ 98 MB  เวลา 18.00-21.00 น. อยู่ที่ 76 MB  และเวลา 22.00-5.00 น. ใช้ดาต้าสูงสุด 129 MB   จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าปริมาณการใช้ดาต้าในแต่ละวัน เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางวันต่อเนื่องช่วงเย็น ค่ำและสูงสุดของวัน อยู่ที่เวลา 23.00-24.00 น. เป็นพฤติกรรมการใช้งานมือถือก่อนนอน ทั้งการดูยูทูบและแอพพลิเคชั่นต่างๆ

            "คนไทยเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต  การใช้ดาต้าในปริมาณที่มากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่แบรนด์สามารถใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านพฤติกรรมการเสพคอนเทนท์ออนไลน์"  

 

"แอพแชท"กิจกรรมฮิต

            เทรนด์ที่3 "คนไทยเทเวลาให้สมาร์ทโฟน 4ชั่วโมงต่อวัน"  พบว่าช่วงเวลาที่ผู้บริโภคตื่นจำนวน 16 ชั่วโมงต่อวัน สัดส่วน 25% ถูกใช้ไปกับสมาร์ทโฟน เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน  หรือราว 232 นาที โดยกิจกรรมยอดนิยมในการใช้สมาร์ทโฟนคือ การพูดคุย ติดต่อสื่อสาร แอพ แชท 94 นาที , ใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น โซเชียล มีเดีย  62 นาที ,ความบันเทิง/เกม 54 นาที  เมื่อรวมการใช้เวลากับสมาร์ทโฟนใน 3 กิจกรรมแรก สูงถึง 3.5 ชั่วโมง หรือเวลาเกือบทั้งหมดที่ใช้งานสมาร์ทโฟนต่อวัน

            "พฤติกรรมการใช้เวลากับสมาร์ทโฟนในกิจกรรม 3 อันดับแรก แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมพูดคุยกับ คนอื่น และใช้สมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิง"

            สำหรับท็อปเทน แอพพลิเคชั่นที่คนไทยใช้งานสูงสุดต่อวัน โดยศึกษาจากการใช้งาน (Engagement) คือ ไลน์ 74 นาที เฟซบุ๊ค 38 นาที บีทอล์ค 19  นาที ยูทูบ 14 นาที  Line Lets Get Rich 11 นาที  Line Cookie Run 8 นาที  อินสตาแกรม 5 นาที  กูเกิล เสิร์ช 4 นาที Clean Master 2 นาที FB Messenger 2 นาที สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เวลากับสมาร์ทโฟน ใน 3 กิจกรรมแรกที่เน้นการพูดคุย ผ่านแอพ แชท และโซเชียล มีเดีย

            "พฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้สมาร์ทโฟน รูปแบบการใช้งานจะเริ่มจากการสื่อสารผ่านแอพ แชท  ตามด้วยโซเชียล มีเดีย และความบันทิง"  

            จากพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยให้แบรนด์ สามารถวางแผนการใช่ช่องทางการสื่อสารตอบโจทย์พฤติกรรมที่ผู้บริโภคสนใจ  หรือการร่วมมือกับแอพพลิเคชั่นยอดนิยม เพื่อทำการตลาดรูปแบบ โมบาย มาร์เก็ตติ้ง

 

โอกาส"เอ็มคอมเมิร์ซ"

            เทรนด์ที่4  "โอกาสธุรกิจ เอ็ม คอมเมิร์ซ" จากข้อมูลการทำรายการใช้จ่ายเงินผ่านมือถือ ไตรมาสแรกปี 2557 เปรียบเทียบปี 2558  พบว่า แอพพลิเคชั่น ที่มีการใช้งานเกี่ยวกับการเงิน/ธนาคาร/ประกันภัย มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 31% ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับบริการ "โมบาย เพย์เม้นต์" ที่เพิ่มจาก 7% เพิ่มเป็น 12% รวมทั้งแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับ "โมบาย ชอปปิง" เพิ่มจาก 11% เป็น 23%  ทั้งนี้ รูปแบบการใช้บริการโมบาย ชอปปิง เป็นลักษณะการเปิดใช้งานเพื่อดูสินค้า แต่อาจ "มีหรือไม่มี" การทำรายการซื้อผ่านมือถือ

            "พฤติกรรมคนไทย ยังใช้โมบาย ชอปปิง เพื่อดูรายละเอียดและข้อมูลของสินค้าเป็นหลัก"  

            แนวโน้ม"เอ็ม คอมเมิร์ซ" เป็นโอกาสของแบรนด์และผู้ประกอบการ ที่จะใช้เป็นช่องทางเสนอบริการและการขายใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค โดยสถาบันการเงินและธุรกิจค้าปลีก สามารถสร้างช่องทางใหม่ ติดต่อสื่อสารกับลูกค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการใช้งานรูปแบบ "มัลติ แชนแนล"  ในการทำรายการซื้อขายสินค้า

 

ช่องทางโฆษณามือถือ"โต"

            เทรนด์ที่5  "ผู้บริโภคเห็นโฆษณาผ่านมือถือเพิ่มขึ้น"  จากสำรวจ "สมาร์ทโฟน อินไซต์" ของนีลเส็นปี 2556  เทียบปี 2557  พบว่าในรอบ 30 วัน ผู้บริโภค "เห็นโฆษณาทางมือถือ"  เพิ่มขึ้นจาก 47% เป็น 54%  สัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 7% ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อโอกาสการเห็นโฆษณาทางมือถือและการวางกลยุทธ์การสื่อสารของนักการตลาด

            นอกจากนี้พบว่าผู้บริโภคเห็น "โฆษณามือถือ" ผ่านช่องทางต่างๆ โดย "โมบาย ทีวี"สูงสุดที่ 28% รูปแบบการดูทีวี สตรีมมิ่ง  ดูย้อนหลัง , แอพพลิเคชั่น 24%, โมบาย อินเทอร์เน็ต 23% จากการเปิดเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟน,  ออนไลน์ เกมส์ 18%,  SMS 16%,   เพลง/วิทยุออนไน์ 11% , โลเคชั่น เบส และจีพีเอส  7%

            "พฤติกรรมการเห็นโฆษณามือถือเพิ่มขึ้น ถือเป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภค จากจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการใช้งบประมาณโฆษณาผ่านมือถือของบรรดาแบรนด์ต่างๆ เติบโตในอนาคต"



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจาะพฤติกรรม ใช้สมาร์ทโฟน เอ็มคอมเมิร์ซ โต

view