สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐศาสตร์มนุษย์เงินเดือน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com

วันก่อนนั่งอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดัง "พันทิปดอทคอม" เกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน มีคนเข้ามาแชร์ข้อมูลมากมาย ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลน่าทึ่งที่ทำให้ฉุกคิด และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับการออมเงินได้มากทีเดียว

เทคนิคการออมที่ง่าย และได้ผล (สำหรับตนเอง) ที่ได้มาจาก "พันทิป" คือ การเก็บแบ๊งห้าสิบบาท

ไม่ต้องคิดอะไรให้มาก แค่เจอแบ๊งห้าสิบที่ไหน ห้ามใช้ เก็บใส่กระปุกกระป๋องอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก ไม่ต้องสรรหาให้มากเรื่องเอาง่าย ๆ ไว้ก่อน

ลองทำตามมาแล้ว แค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ได้แบ๊งห้าสิบเป็นปึก ๆ

ทุกครั้งที่มองเห็นจำนวนแบ๊งห้าสิบที่เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากเก็บมากขึ้นไปอีก

จากที่คิดว่า มีก็แค่เก็บก็พอ กลายเป็นว่าเห็นแบ๊งห้าสิบของเพื่อนก็เริ่มขอแลกมาเก็บหลายครั้งยังคิดแว้บ ๆ ว่าไปแลกแบ๊งห้าสิบใหม่ ๆ ที่ธนาคารมาเก็บสักปึกสองปึกดีไหม

เมื่อเก็บได้จนแน่นกล่อง (ผู้เขียนใช้กล่องช็อกโกแลต) ก็ค่อยเอาไปฝากธนาคาร แล้วเริ่มต้นเก็บใหม่

เป็นวิธีที่สนุกดี ไม่เชื่อลองดูได้

นอกจากเรื่องการออมเงินที่แต่ละคนนำมาแชร์หลากหลายรูปแบบแล้วยังทำให้รู้ด้วยว่า มีเยอะแยะไปคนมีเงินเดือนหลายหมื่นบาท มีเงินเก็บน้อยกว่าคนเงินเดือนไม่ถึงสองหมื่นบาท

และมีไม่น้อยที่คนเงินเดือนหมื่นกว่าบาทแถมต้องเช่าหอพัก เช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ แต่กลับส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ใช้ทุกเดือนมากกว่า (ย้ำว่า) มากกว่า คนเงินเดือน 2-3 หมื่นบาทด้วยซ้ำไป

การบริหารจัดการเงินของบางคนอ่านแล้วน่าทึ่งมาก ๆ มีบ้างที่ทำให้รู้สึก "อาย" ยิ่งช่วยตอกย้ำความเชื่อที่ว่า "รายได้เท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับใช้จ่ายเท่าไร" (จริง ๆ นะ)

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในบรรดาค่าใช้จ่ายรายเดือนทั้งหลายที่แต่ละคนนำมาแชร์นั้น เมื่อตัดภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ การส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ และเงินออม (ถ้ามี) ออกไปแล้วพบว่า มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่มนุษย์เงินเดือนในยุคนี้ (จำเป็น) ต้องจ่ายเหมือน ๆ กัน มากบ้างน้อยบ้างทุก ๆเดือน ได้แก่ "ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ"


บ้างก็มีค่า "อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์" เพิ่มเข้ามาอีกอย่าง

เฉพาะค่าโทรศัพท์มือถือจ่ายกันเดือนละ500-600 บาท เป็นอย่างน้อย

ค่าโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็น "รายจ่ายจำเป็น" ประจำเดือนของคนยุคปัจจุบันไปแล้วเรียบร้อย ทั้ง ๆ ที่ย้อนหลังกลับไปสักสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีคนเพียงหยิบมือเดียวในบ้านเราที่สามารถใช้บริการโทรศัพท์มือถือได้ ด้วยว่าราคาเครื่องที่แพงระยับระดับแสนกว่าบาท จึงไกลเกินเอื้อมถึงสำหรับคนส่วนใหญ่

คิดดูดี ๆ เวลานั้น ไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ก็ไม่เห็นว่าจะเดือดร้อนตรงไหน ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตลำบากยากเย็นอะไร แต่ทำไม ๆ มาวันนี้กลับรู้สึกว่า ไม่มีไม่ได้

หลายปีผ่านไป เมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลง จำนวนคนใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งราคา "ค่าบริการ และราคาเครื่อง"ปรับลดลงมาก

ใครจะคิดว่าโทรศัพท์มือถือธรรมดาสามัญที่ใช้ได้เฉพาะเพื่อรับสายเข้า และโทร.ออก ที่เคยมีราคาเรือนแสนบาท จะลงมาเหลือแค่เครื่องละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

สิบกว่าปีผ่านมาจนถึงวันนี้ กลายเป็นว่ามีคนเพียงแค่หยิบมือเดียว หรืออาจไม่มีเลย...ไม่มีโทรศัพท์มือถือ

ความต้องการของคนวันนี้ยังไม่ได้หยุดอยู่ที่โทรศัพท์มือถือธรรมดา ๆ เสียด้วย แต่ต้องการโทรศัพท์ที่ฉลาดขึ้น เพื่อต่อเชื่อมเข้าสู่โลกกว้างใหญ่ที่ชื่อ "อินเทอร์เน็ต"

"สมาร์ทโฟน" มาแทนโทรศัพท์มือถือธรรมดา ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าดูปริมาณคนใช้บริการคิดจากจำนวนเลขหมายเทียบกับประชากรในประเทศไทย ณ วันนี้ ทะลุ 100% ไปไกลมากแล้ว

หมายความว่า มีไม่น้อยที่มีมากกว่า 2 เลขหมาย

แต่ในจำนวนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ ๆ กันอยู่ในปัจจุบัน เป็น "สมาร์ทโฟน" สักครึ่งหนึ่งไม่น้อยเลย

พวกที่มี 2 เบอร์ ย่อมมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่า 500-600 บาทแน่ ๆ

จากที่ (เคย) ไม่มีก็ไม่เป็นไร มาวันนี้... วันไหนลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน เป็นต้องรีบตะกายกลับไปเอาแทบไม่ทัน

เพราะอะไรกัน

เมื่อโทรศัพท์มือถือได้สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ที่มาพร้อม ๆ กับค่าใช้จ่ายรายเดือน จะเพราะเรามีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการจับจ่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือแท้จริงแล้ว รายได้ก็ไม่ได้เพิ่ม แต่มีสิ่งจำเป็นต้องใช้ในชีวิตเพิ่มขึ้นก็เท่านั้นเอง

จึงไม่น่าแปลกที่ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบช้าที่สุด คือธุรกิจโทรศัพท์มือถือ

เพราะไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย ? แต่เป็นของจำเป็น....หรือจำเป็นต้องใช้ ??

จำเป็นแค่ไหนกัน ??? ถ้าดูจากพฤติกรรมของคนใช้สมาร์ทโฟนวันนี้ ก็คงต้องบอกว่า "จำเป็นมาก"

ไม่อย่างนั้นคนส่วนใหญ่คงไม่พากันก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือแทบตลอดเวลา จนถึงกับมีการเรียกสาวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายว่า "ชนเผ่าก้มหน้า" ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้เกินจริงเลย ไม่เชื่อลองหันมามองดูตนเอง หรือคนข้าง ๆ ก็ได้

ไหน ๆ ก็จำเป็นต้องใช้ ถามตนเองกันสักนิดดีไหมว่า ใช้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้วหรือยัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐศาสตร์มนุษย์เงินเดือน

view