สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อำนาจแห่งที่ในเอเชีย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ติดตามข่าวตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทย กับข่าวการร่างรัฐธรรมนูญยังวนเวียน ขอหันไปดูบทวิเคราะห์ที่พูดถึง "อำนาจแห่งที่" ทางเศรษฐกิจ-การเมือง ของจีน ญี่ปุ่น กับอเมริกา ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในสื่อเศรษฐกิจ-การเมือง อย่าง ดิ อีโคโนมิสต์ ที่พูดถึงบทบาทของจีนที่สนใจเข้าไปลงทุนในปากีสถาน ขนานไปกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปในอินเดีย

ส่วนในวอยซ์ออฟอเมริกา มีบทความเทียบเฉพาะการลงทุนในรถไฟความเร็วสูงในเอเชีย ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

ขณะที่เดอะ ดิพลอแมท มีบทความวิเคราะห์ การเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของนายกฯญี่ปุ่น โดยมีประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน รวมถึงการผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าของทั้ง 2 ประเทศ

ในวอยซ์ออฟอเมริกาวิเคราะห์ถึงการที่จีนและญี่ปุ่นแข่งขันหาลูกค้าสำหรับระบบการรถไฟของตน โดยตลาดที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นคือ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า จีนได้เปรียบญี่ปุ่นในทางการเงิน เพราะนอกจากจะสร้างระบบการรถไฟให้แล้ว ยังให้เงินกู้ด้วย ในขณะที่ระบบการรถไฟของญี่ปุ่นได้เปรียบในด้านการทำงานและความปลอดภัย

ริชาร์ด ลอว์เลส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการรถไฟความเร็วสูง เทกซัส เซ็นทรัล เรลโรด มองว่า ด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์การเดินรถไฟและความปลอดภัย ญี่ปุ่นมีความโดดเด่น ขณะที่จีนแม้จะเพิ่งเข้าสู่วงการธุรกิจรถไฟได้ไม่นาน (ปี 2007) แต่ปัจจุบันระบบรางรถไฟความเร็วสูงของจีนมีระยะทางรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือราว 23,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าจีนกำลังอยู่ในระหว่างเจรจากับ 15 ประเทศเพื่อเสนอขายเทคโนโลยีรถไฟของจีน กระนั้นจีนยังมีความได้เปรียบในเรื่องงบประมาณจากธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB ซึ่งจีนเป็นผู้ก่อตั้งที่พร้อมเสนอเงินกู้ล่วงหน้า พร้อมเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนให้กับลูกค้าประเทศต่าง ๆ (แปลและเรียบเรียงใน www.voathai.com)

ถึงตรงนี้ ไม่ว่าญี่ปุ่นกับสหรัฐจะแนบแน่นแค่ไหน มีการพบกันเพื่อรับมือการแผ่อิทธิพลของจีน แต่เกมของจีนก็น่าจับตา เพราะอีกด้านในเวลาไล่เลี่ยกัน สี จิ้นผิง เพิ่งลงนามความร่วมมือกับผู้นำปากีสถาน ซึ่งทั้งสองประเทศจะดันโครงการ "ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน"

โดยจีนลงนามอนุมัติเงินลงทุนจำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัทจีนในปากีสถาน เพื่อนำไปสร้างทางเชื่อมทางเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน หรือ CPEC ที่เริ่มต้นที่เมืองกวาดาร์ จังหวัดบาโลชิสถานของปากีฯ เชื่อมต่อไปยังเขตปกครองพิเศษซินเจียงในจีน

บทวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า หากโครงการนี้เสร็จจะช่วยให้จีนเข้าถึงตลาดในเอเชียกลางได้เร็วขึ้น และเป็นทางลัดในการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ จีนกับปากีฯได้ลงนามข้อตกลงอนุมัติเงินลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ให้ปากีฯอีก 28,000 ล้านดอลลาร์ ขยายเส้นทางการค้าระหว่างจีน เอเชียกลาง และเอเชียใต้ โดยเป้าหมายผลักดันให้ปากีฯเป็นศูนย์กลางทางการค้าการลงทุนของภูมิภาคนี้

บทวิเคราะห์ในดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า จีนยังร่วมสนับสนุนในโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน เพื่อลดทอนอิทธิพลการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย โดยวิเคราะห์ว่าเป็นการสกัดการขยายอิทธิพลของสหรัฐและอินเดีย

เป็นเรื่องราวห้วงนี้ของ "อำนาจแห่งที่" เกมการเมือง-เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อำนาจ เอเชีย

view