สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาคราชการพร้อมรับ AEC

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง? โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com

การเปิดประชาคมอาเซียนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น หน่วยงานของไทยจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย ด้านต่างประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน และเพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย

ใน ครั้งที่แล้วเราได้เขียนถึง การเตรียมความพร้อมในการรับมือ AEC ของภาคราชการ กันไปบ้างแล้ว โดยกล่าวถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ได้เตรียมจัดตั้ง "สำนักหลักประกันทางธุรกิจ" ขึ้นมาเป็นระดับกอง พร้อมเสนอให้เพิ่มจำนวนคนอีก 100 ตำแหน่งรองรับการผ่านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ขึ้นขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเองก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับ ภาคธุรกิจ และตระหนักถึงความสำคัญในการขยายการค้ากับการลงทุนด้วยการพัฒนาศักยภาพ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากล ด้านบริหารจัดการการตลาด รวมทั้งเพิ่มองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ




เพราะในอนาคตหากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ จะส่งผลดีอย่างมากในการทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความแข็งแกร่งในด้านเงินทุน และเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าไปแข่งขันในประชาคมอาเซียน

บทความครั้งนี้จะกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของภาคราชการในการรับมือAECเป็นตอนที่2 เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลข่าวสารเชิงลึกที่น่าสนใจของหน่วยงานราชการต่าง ๆ

เริ่มด้วย กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วยมาตรการทางภาษีในการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ, มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ คาดว่าจะสามารถให้ปล่อยสินเชื่อได้ในเดือนพฤษภาคม 2558

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2557 ได้มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีขึ้นมาก อาทิ การลงทุน การบริโภค การส่งออก และการบริการ มาตรการของกระทรวงการคลังในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งอิทธิพลจากต่างประเทศที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งส่งผลให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวที่ดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับมาตรการในการดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม 3 อุตสาหกรรม และโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ของไทย

โครงการ เตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่อง เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกกับผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถรับมือเชิงรุกในตลาดอาเซียน ส่วนโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยของ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องหนัง, อัญมณีและเครื่องประดับ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมาตรการส่งเสริมโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยของ 3 อุตสาหกรรมนี้ โดยการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคนิคกับการพัฒนานักออกแบบ, การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และการสร้างกลุ่มเครือข่ายธุรกิจแฟชั่นไทย ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยนั้นมีการขยายตลาดไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าในการส่งออกประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอกับเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ของไทยให้สามารถดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี และให้มีความเติบโตก้าวหน้า ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าในการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ของปีนี้ในจำนวน 1,890 ราย

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ ประเทศมาเลเซีย โดยรัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการประชุม ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2558

การประชุมครั้งนี้มีการลงนาม ปฏิญญาร่วมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ในประเด็นเรื่องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่อื่น ๆ

รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ได้ลงนามในด้านแนวคิด 3 ฉบับ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมอาเซียนในการช่วยเหลือมนุษย์และอุทกภัย เอกสารแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และเอกสารแนวคิดในการตอบรับคำร้องขอคู่เจรจา ในกรอบการประชุมกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเป็นการประชุมที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศอาเซียนทั้ง10ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคประชาคมอาเซียน อีกทั้งยกระดับความร่วมมือทางทหารอาเซียน

สำหรับแผนการดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงกลาโหมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นั้น กระทรวงกลาโหมไทยได้เป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร ร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งได้เสนอแผนจัดตั้ง ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ในการรับมือต่อสถานการณ์วิกฤตและภัยคุกคาม ซึ่งประเทศสมาชิกในอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบให้ไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของด้านการแพทย์ทหาร ที่จะตั้งขึ้นในประเทศไทยที่จังหวัดชลบุรีในปี 2559

หากกล่าวถึงภาพรวมของการเตรียมความพร้อมของหน่วยราชการต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการเตรียมความพร้อมของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ให้ความสำคัญของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีการเตรียมความพร้อมที่ดีและมีศักยภาพความสามารถ จะส่งผลให้สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหลักของไทย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องหนัง และอัญมณี

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้ ได้มีการขยายตลาดไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมหลักของไทยได้ จะทำให้อุตสาหกรรมหลักของไทยได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดไปยังตลาดอาเซียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะส่งผลดีอย่างมากในการเพิ่มรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศไทยในอนาคต

กล่าว โดยสรุปแล้วภาคราชการของไทยมีความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือเออีซีในปลายปี2558พอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ส่วนที่ถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างมากของประเทศไทย คือ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศที่เริ่มทยอยสร้างขึ้นเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

เชื่อว่าทั้งหมดที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์มหาศาลในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในต้นปี 2559 ที่กำลังจะมาถึง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาคราชการ รับ AEC

view